คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2317/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป้ายพิพาทคำนวณพื้นที่ได้สองแบบ คือ ตามแบบ ก. หรือ แบบ ข.แบบบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ถ้าคำนวณตามแบบ ก. คือถือว่าป้ายมีขอบเขตเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 1,200 เซนติเมตรยาว 3,000 เซนติเมตร แม้ด้านบนมีตัวอักษร ที ในภาษาอังกฤษล้ำออกจากขอบเขต 75 เซนติเมตรก็ตาม จะถือว่าป้ายมีความกว้าง 1,275 เซนติเมตรไม่ได้เพราะด้านบนของตัวอักษร ที นั้นไม่ใช่ขอบเขตของป้ายตามแบบ ก. ของบัญชีอัตราภาษีป้ายดังกล่าว ถ้าคำนวณตามแบบ ข. คือถือเอาตัวอักษร ภาพหรือเครื่องหมายเป็นเกณฑ์ ป้ายจะมีความกว้าง 1,205 เซนติเมตร และยาว 2,650เซนติเมตร จะวัดขอบเขตของป้ายเข้าไว้ในเนื้อที่ป้ายด้วยไม่ได้ เพราะขอบเขตของป้ายมิใช่ตัวอักษร ภาพหรือเครื่องหมาย
จริงอยู่ตามบัญชีอัตราภาษีป้ายดังกล่าวไม่ได้ห้ามการคำนวณเนื้อที่ป้ายโดยวิธีคำนวณแบบ ก. และ ข. รวมกันโดยตรงก็ดี แต่พระราชบัญญัติภาษีป้ายเป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร หากจะต้องตีความเพราะตัวบทกฎหมายไม่แจ้งชัดเช่นนี้ ก็ต้องตีความโดยเคร่งครัดในทางที่ไม่เป็นโทษแก่ราษฎรผู้จะต้องเสียภาษีอากรเมื่อพิเคราะห์บัญญัติ ที่เกี่ยวข้องในพระราชบัญญัตินี้แล้วอนุมานได้ว่าเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้ คือ จะต้องประเมินภาษีป้ายโดยเลือกคำนวณเนื้อที่ป้ายเฉพาะแบบใดแบบหนึ่งในสองแบบนี้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เลือกคำนวณตามแบบ ก. แล้ว ก็ต้องคำนวณตามแบบนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 2มีตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการในตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบและบริหารงานในกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าการประเมินภาษีป้ายโฆษณาที่ใช้ข้อความว่า วิทยุ โทรทัศน์โตชิบา ต้องเสียภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ประเภท 2 มีความกว้าง 1,275 เซนติเมตรคูณ 3,000 เซนติเมตร เป็นเงินภาษีป้ายปีละ 76,500 บาท แต่โจทก์ได้ชำระปีละ 72,000 บาท ขาดชำระปีละ 4,500 บาท ต้องเสียเงินเพิ่มอีก 450 บาทรวมภาษีที่ขาดชำระกับเงินเพิ่มที่ต้องชำระปีละ 4,950 บาท เป็นระยะเวลา5 ปี เป็นเงิน 24,750 บาท โจทก์เห็นว่า การเสียภาษีป้ายของโจทก์ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การประเมินของจำเลยที่ 3 ไม่ชอบจึงได้อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วให้ยกอุทธรณ์โจทก์ โจทก์เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 นั้น ได้กำหนดวิธีการคำนวณไว้ 2 แบบ คือ แบบป้ายมีขอบเขตกำหนดได้ กับแบบป้ายไม่มีขอบเขตกำหนดได้ จำเลยชอบที่จะคำนวณตามแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น แต่จำเลยกลับใช้วิธีคำนวณขนาดความกว้างยาวของป้ายทั้งสองแบบรวมกัน แล้วประเมินให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มขึ้น จึงขอให้ศาลพิพากษาให้ยกเลิกคำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ฉบับที่ 818/2515ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2515 และยกเลิกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 3 สิงหาคม 2516 และขอให้ศาลพิพากษาว่าป้ายโฆษณาที่โจทก์ติดตั้งตามคำฟ้องมีเนื้อที่ที่จะต้องคำนวณเสียภาษีป้ายมีความกว้าง 1,205เซนติเมตร คูณด้วยความยาว 2,650 เซนติเมตร
จำเลยทั้งสามให้การว่า ตามแบบแปลนป้ายโฆษณาที่โจทก์ยื่นขออนุญาตมีขนาดความกว้าง 1,275 เซนติเมตร ความยาว 3,000 เซนติเมตร แต่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีป้ายว่ามีขนาดกว้าง 1,200 เซนติเมตร ยาว 3,000เซนติเมตร ซึ่งไม่ถูกต้องพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินค่าภาษีป้ายไปตามรายการที่โจทก์ยื่นมา เป็นเหตุให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีป้ายลดน้อยลง พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแจ้งประเมินย้อนหลังตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ได้
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความแถลงรับกันว่าเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1ถึง 4 มีข้อความถูกต้องแล้ว คู่ความไม่ติดใจสืบพยานบุคคล ขอให้ศาลวินิจฉัยไปตามคำฟ้องคำให้การและคำแถลงรับของคู่ความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัติภาษีป้ายพ.ศ. 2510 ได้กำหนดวิธีการคำนวณพื้นที่ของป้ายไว้ 2 แบบ คือ แบบ ก. เป็นป้ายมีกำหนดขอบเขตได้ และแบบ ข. เป็นป้ายไม่มีขอบเขตกำหนดได้ ตามข้อ 6ของบัญชีอัตราภาษีดังกล่าวกำหนดให้คิดคำนวณตามแบบ ก. หรือ แบบ ข.แบบใดแบบหนึ่ง แต่เพียงแบบเดียว ที่จำเลยคำนวณเพื่อให้โจทก์เสียภาษีป้ายโดยถือส่วนที่มีขอบคำนวณตามแบบ ก. ส่วนที่เลยขอบออกไปคำนวณตามแบบ ข. แล้วนำมารวมกันเพื่อคำนวณพื้นที่เสียภาษี ย่อมไม่ถูกต้อง เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายตามแบบที่ไม่มีขอบเขตคือตามแบบ ข. แล้ว จะมีขนาดกว้าง1,205 เซนติเมตร ยาว 2,650 เซนติเมตร จึงพิพากษาให้ยกเลิกคำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ฉบับที่ 818/2515 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2515 และยกเลิกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ฉบับลงวันที่ 3 สิงหาคม2516 เสีย และพิพากษาว่าป้ายโฆษณาของโจทก์มีพื้นที่ที่จะต้องคำนวณเสียภาษีกว้าง 1,205 เซนติเมตร คูณด้วยความยาว 2,650 เซนติเมตร
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ปัญหาเรื่องป้ายของโจทก์จะต้องคำนวณตามแบบ ข.หรือไม่ ยุติแล้ว เพราะโจทก์ได้ยินยอมรับการแจ้งประเมินภาษีครั้งแรกของเจ้าพนักงานว่าเป็นการถูกต้อง โจทก์ไม่มีสิทธิยกประเด็นข้อนี้มาให้ศาลวินิจฉัยอีก พิพากษาแก้ เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำขอที่ให้ศาลพิพากษาว่าป้ายของโจทก์มีเนื้อที่ที่จะต้องคิดคำนวณเสียภาษีป้ายกว้าง 1,205 เซนติเมตร คูณด้วยความยาว 2,650 เซนติเมตร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายว่าป้ายของโจทก์มีขอบเขตกำหนดไว้กว้าง1,200 เซนติเมตร ยาว 3,000 เซนติเมตร พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประเมินภาษีป้ายตามรายการที่โจทก์ยื่น ให้โจทก์เสีภาษีป้ายปีละ 72,000 บาท โจทก์ได้เสียภาษีป้ายตามอัตราที่เจ้าพนักงานประเมินแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ถึง พ.ศ. 2515ต่อมาได้มีการตรวจสอบ ปรากฏว่าส่วนบนของป้ายมีอักษร ที ในภาษาอังกฤษยื่นเลยขอบเขตของป้ายไป 75 เซนติเมตร จำเลยที่ 3 จึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าป้ายของโจทก์มีความกว้าง 1,275 เซนติเมตร เมื่อคำนวณเนื้อที่ป้ายตามความกว้าง 1,275 เซนติเมตรแล้ว โจทก์จะต้องเสียภาษีป้ายปีละ 76,500บาท โจทก์เสียไว้ปีละ 72,000 บาท โจทก์เสียน้อยกว่าความจริงปีละ 4,500บาท ต้องเสียภาษีเพิ่มอีกร้อยละ 10 เป็นเงิน 450 บาท รวมเป็นปีละ 4,950 บาทรวมยอดห้าปี เป็นเงิน 24,750 บาท ให้โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระภายใน 15 วัน โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรีจำเลยที่ 2ผู้รักษาการในตำแหน่งปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าการประเมินภาษีป้ายย้อนหลังของเจ้าหน้าที่ถูกต้องแล้ว
ศาลฎีกาเห็นว่า ป้ายรายพิพาทเป็นป้ายที่อาจมีการคำนวณได้เป็นสองแบบคือคำนวณตามแบบ ก. หรือ แบบ ข. ของบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ถ้าคำนวณตามแบบ ก. คือถือว่าป้ายมีขอบเขตเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 1,200 เซนติเมตร ยาว 3,000 เซนติเมตร แม้ขอบเขตของป้ายด้านบนตรงกลางนั้นมีตัวอักษร ที ในภาษาอังกฤษล้ำออกจากขอบเขต75 เซนติเมตรก็ตาม จะถือว่าป้ายรายพิพาทกว้าง 1,275 เซนติเมตรไม่ได้ เพราะด้านบนของตัวอักษรทีในภาษาอังกฤษนั้นไม่ใช่ขอบเขตของป้ายตามแบบ ก. ของบัญชีอัตราภาษีป้ายดังกล่าว ถ้าคำนวณตามแบบ ข. คือถือเอาตัวอักษรภาพหรือเครื่องหมายเป็นเกณฑ์ ป้ายจะมีความกว้าง 1,205 เซนติเมตร และยาว 2,650 เซนติเมตร จะวัดขอบเขตของป้ายเข้าไว้ในเนื้อที่ป้ายด้วยไม่ได้ เพราะขอบเขตของป้ายมิใช่ตัวอักษร ภาพหรือเครื่องหมาย
การคำนวณเนื้อที่ป้ายโดยรวมทั้งแบบ ก และแบบ ข. เข้าด้วยกัน ดังที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินนั้น จริงอยู่ ที่บัญชีอัตราภาษีป้ายดังกล่าวไม่ได้ห้ามการคำนวณเนื้อที่ป้ายโดยวิธีคำนวณแบบ ก. และแบบ ข. รวมกันโดยตรงก็ดีพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร หากจะต้องตีความเพราะตัวบทกฎหมายไม่แจ้งชัดเช่นนี้ ก็ต้องตีความโดยเคร่งครัดในทางที่ไม่เป็นโทษแก่ราษฎรผู้จะต้องเสียภาษีอากร เมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องในพระราชบัญญัตินี้แล้ว อนุมานได้ว่าเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้คือ จักต้องประเมินภาษีป้ายโดยเลือกคำนวณเนื้อที่ป้ายเฉพาะแบบใดแบบหนึ่งในสองแบบนี้ เมื่อปรากฏว่าเลือกคำนวณตามแบบ ก. อยู่แล้ว ก็ต้องคำนวณตามแบบนั้น คำสั่งแจ้งประเมินภาษีครั้งหลังและคำวินิจฉัยที่ให้เสียภาษีป้ายเพิ่มขึ้น เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share