แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลย 13 สำนวน สำนวนละหลายข้อหา เมื่อข้อหาฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 ศาลพิพากษาจำคุกจำเลยสำนวนละ 5 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ลงโทษจำคุกสำนวนละ 2 ปี 6 เดือน และข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกสำนวนละ 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ลงโทษจำคุกสำนวนละ 1 ปี นั้น เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและโทษของแต่ละกระทงความผิดและของแต่ละสำนวนที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยไม่เกิน 5 ปีคดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญามาตรา 218
จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนตามฟ้องจำเลยไม่ได้รับแจ้งข้อหาและปรึกษาทนายความกับจำเลยไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง และที่โจทก์จำเลยต่างฎีกาว่ากำหนดโทษที่ศาลอุทธรณ์ลงมานั้นหนักหรือเบาเกินไป เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ใบเสร็จรับเงินซึ่งทางราชการออกให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีรถยนต์เป็นหลักฐานแสดงว่าทางราชการได้รับชำระค่าภาษีรถยนต์ไว้แล้วและมีผลทำให้การเก็บภาษีรถยนต์ของรัฐเป็นอันเสร็จสิ้นไป จึงเป็นเอกสารราชการ
การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจแผนกทะเบียนยานพาหนะปลอมใบเสร็จรับเงินแล้วใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานประทับลงในใบเสร็จรับเงินนั้น ก็โดยเจตนาทำใบเสร็จรับเงินปลอมทั้งฉบับ เพื่อให้เห็นว่าเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตามมาตรา 266 และ 253
ย่อยาว
โจทก์และจำเลยเป็นคน ๆ เดียวกัน โจทก์ได้แยกฟ้องจำเลยเป็น 13 สำนวนขอให้ลงโทษจำเลยฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดเกี่ยวกับดวงตราและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 151, 157, 161, 253, 264, 265, 266 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 7, 13 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 ริบใบรับเงินของกลาง ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 19,577 บาท 50 สตางค์ แก่กรมตำรวจและนับโทษต่อกันทั้ง 13 สำนวน
จำเลยให้การรับสารภาพทุกข้อหา และรับว่าเป็นคนเดียวกันทั้ง 13 สำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 จำคุกจำเลยสำนวนละ 10 ปี รวม 12 สำนวน จำคุก 120 ปี ตามมาตรา 253 ประกอบด้วยมาตรา 251 จำคุกสำนวนละ 2 ปี รวม 12 สำนวนจำคุก 24 ปีและตามมาตรา 266 จำคุกสำนวนละ 5 ปี รวม 12 สำนวน จำคุก 60 ปี รวม 204 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุก 102 ปี (ที่ลงโทษ 12 สำนวนเพราะมีคดีหนึ่งที่โจทก์ได้แยกฟ้องข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กับข้อหาความผิดเกี่ยวกับดวงตราและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร เป็น 2 สำนวน) ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 19,577 บาทแก่กรมตำรวจ คดีทั้ง 13 สำนวน ศาลได้รวมพิจารณาแล้วจึงไม่จำต้องนับโทษต่อ ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทุกสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า มูลเหตุที่จำเลยใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานประทับในใบเสร็จรับเงินปลอม เพราะต้องการให้ใบรับเงินมีความแนบเรียบร้อยยิ่งขึ้น จำเลยมีจุดประสงค์เพียงต้องการปลอมใบรับเงินอย่างเดียวเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท พิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 สำนวนละ 5 ปีรวม 12 สำนวน จำคุก 60 ปี และตามมาตรา 266 สำนวนละ 2 ปี รวม 12 สำนวนจำคุก 24 ปี รวม 84 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา 78 คงจำคุก 42 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์จำเลยต่างฎีกาทุกสำนวน มีปัญหารวม 5 ประเด็น คือ
1. การสอบสวนคดีตามฟ้อง จำเลยได้รับแจ้งข้อหาและปรึกษาทนายความแล้วหรือไม่
2. จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่
3. ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีรถยนต์เป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการหรือไม่
4. การที่จำเลยนำดวงตราเจ้าพนักงานประทับลงในใบเสร็จรับเงินปลอม เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท หรือว่าเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระ เป็นความผิดหลายกระทง
5. กำหนดโทษที่ศาลอุทธรณ์ลงมานั้น หนักหรือเบาเกินไปหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีทั้ง 13 สำนวนนี้ สำหรับข้อหาฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกสำนวนละ 5 ปี แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ลงโทษจำคุกสำนวนละ 2 ปี 6 เดือน และข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสารศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยสำนวนละ 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ลงโทษจำคุกจำเลยสำนวนละ 1 ปีนั้น เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และโทษของแต่ละกระทงความผิดและของแต่ละสำนวนที่ศาลอุทธรณ์ลงแก่จำเลยไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218ดังนั้น ตามประเด็นข้อ 1, ข้อ 2 และ ข้อ 5 ที่โจทก์จำเลยฎีกามานั้นต่างก็เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทมาตราดังกล่าว
ในประเด็นข้อ 3 จำเลยฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ใบเสร็จรับเงินหาใช่เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการไม่ เพราะใบเสร็จรับเงินที่จำเลยออกให้แก่เจ้าของรถยนต์นั้น ก็เพื่อนำไปรับเอกสารแสดงการเสียภาษีรถยนต์(ป้ายวงกลม) เท่านั้น จึงมิได้เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน หรือระงับซึ่งสิทธิใด ๆ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ เห็นว่า “เอกสารสิทธิ” หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการ ก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิและ “เอกสารราชการ” หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่และให้หมายรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วยดังนั้น เมื่อการออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้มีหน้าที่ต้องชำระค่าภาษีรถยนต์ย่อมเป็นหลักฐานแสดงว่าทางราชการได้รับชำระค่าภาษีรถยนต์ไว้ตามที่ผู้มีหน้าที่ต้องชำระได้ชำระแล้ว มีผลทำให้การเก็บภาษีรถยนต์ของรัฐเป็นอันเสร็จสิ้นไป ฉะนั้น จึงถือได้ว่าใบเสร็จรับเงินค่าภาษีรถยนต์ที่ทางราชการออกให้เป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266
ประเด็นข้อ 4 โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อจำเลยปลอมใบรับเงินอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 แล้วจำเลยได้ใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานประทับในใบเสร็จรับเงินซึ่งจำเลยทำปลอมขึ้นอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 253นั้น จึงมิใช่การกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท หากแต่เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน เห็นว่า การที่จำเลยปลอมใบเสร็จรับเงินแล้วใช้ดวงตราของเจ้าพนักงานประทับลงไปด้วยนั้น ก็โดยเจตนาที่จะทำใบเสร็จรับเงินปลอมทั้งฉบับและให้เห็นว่าเป็นใบเสร็จรับเงินที่แท้จริง เมื่อกรณีฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาที่จะแยกการกระทำความผิดออกจากกัน การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท
พิพากษายืน