คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2115/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายได้เช่านาจำเลยก่อนพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ.2517 ใช้บังคับ ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าต่อกันและไม่ได้กำหนดเวลาเช่า เมื่อพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ.2517 ใช้บังคับแล้ว ผู้เสียหายจึงมีสิทธิในการเช่านามีกำหนด 6 ปีนับตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม2517(วันถัดจากวันประกาศใช้พระราชกิจจานุเบกษา) และเมื่อผู้เสียหายมีฐานะเป็นผู้เช่านา ย่อมมีสิทธิครอบครองนาที่เช่าโดยผลแห่งกฎหมายนั้น การเช่าจะยุติหรือสิ้นผลก็ต่อเมื่อผู้เช่า (ผู้เสียหาย) ไม่ประสงค์จะเช่าต่อไปหรือผู้ให้เช่าใช้สิทธิบอกเลิกเมื่อมีเหตุตามมาตรา 32 เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าผู้เสียหายเช่านาจำเลยก่อนพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาพ.ศ. 2517 ใช้บังคับ โดยมีกำหนดเวลาเช่าต่ำกว่า 6 ปีเมื่อพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 ใช้บังคับแล้ว ผู้เสียหายยังประสงค์จะเช่านาต่อไป แต่จำเลยเข้าถือการครอบครองที่ดินที่ให้ผู้เสียหายเช่า ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 28, 45 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นสืบผู้เสียหาย 1 ปากแล้วสั่งงดสืบพยาน โดยวินิจฉัยว่า กรณีไม่ใช่เป็นเรื่องบุกรุกหรือเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายได้รับประโยชน์จากนาที่เช่าลดน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในการเช่า หรือน้อยกว่าสิทธิที่ผู้เช่านามีอยู่ตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 28, 45 พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกาขอให้พิพากษายกฟ้อง

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ผู้เสียหายเช่านาจำเลยก่อนพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 ใช้บังคับโดยไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าต่อกัน และมิได้กำหนดเวลาเช่า ซึ่งตามพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านา พ.ศ. 2517 มาตรา 46บัญญัติว่าการเช่านาซึ่งกระทำไว้ก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ถ้าไม่มีกำหนดเวลาหรือกำหนดเวลาต่ำกว่า 6 ปี ให้การเช่านารายนั้นมีกำหนด 6 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้เช่านาไม่ประสงค์จะเช่านาต่อไป ผู้เสียหายจึงมีสิทธิในการเช่านามีกำหนด 6 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติควบคุมการเช่านาใช้บังคับ และเมื่อผู้เสียหายมีฐานะเป็นผู้เช่านาผู้เสียหายย่อมมีสิทธิครอบครองนาที่เช่าโดยผลแห่งกฎหมายนั้น การเช่าจะยุติหรือสิ้นผลก็ต่อเมื่อผู้เช่าคือผู้เสียหายไม่ประสงค์จะเช่าต่อไปหรือผู้ให้เช่าใช้สิทธิบอกเลิกเมื่อมีเหตุตามมาตรา 32เท่านั้น จึงควรฟังข้อเท็จจริงต่อไป ไม่ควรด่วนวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์

พิพากษายืน

Share