คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1403/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และ จ. ยื่นคำร้องต่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ขอทำนิติกรรมซื้อขายที่ดิน ดังนี้ เมื่อพฤติการณ์ที่จำเลยทราบมาโดยการสืบสวนและสอบสวนทำให้จำเลยเห็นว่ามีกรณีควรเชื่อได้ว่าโจทก์จะซื้อที่ดินเพื่อประโยชน์แก่คนต่างด้าว ก็ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะดำเนินการต่อไปเพื่อขอคำสั่งรัฐมนตรีตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 74 วรรค 2 และเมื่อได้ความว่าจำเลยกำลังดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานเพื่อเสนอรัฐมนตรีอยู่ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายดังกล่าวจึงย่อมไม่อาจบังคับจำเลยให้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับได้ศาลย่อมพิพากษายกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับนางเจริญยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน ขอทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินโดยนางเจริญขายให้โจทก์ จำเลยที่ 2 รับเรื่องไว้ต่อมาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งต่อโจทก์ว่าไม่สามารถทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวให้ได้ เพราะโจทก์เป็นภรรยาคนต่างด้าวซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ที่ดินได้ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับจดทะเบียนรับซื้อที่ดินระหว่างนางเจริญกับโจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า มีหลักฐานน่าเชื่อว่าโจทก์มีสามีเป็นคนต่างด้าวอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยา โจทก์รับโอนที่ดินเพื่อประโยชน์แก่คนต่างด้าว หลีกเลี่ยงกฎหมายจำเลยจดทะเบียนให้ไม่ได้ กรณีเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่จะพิจารณาสั่งการต่อไป ซึ่งจำเลยดำเนินการอยู่แล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีสามีเป็นคนต่างด้าว ไม่แน่นอนว่าโจทก์ซื้อที่ดิน มิใช่เพื่อประโยชน์ของคนต่างด้าว กรณีเช่นนี้จำเลยจำต้องสอบสวนคู่กรณีตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 74 วรรคแรก แต่จำเลยทั้งสองไม่กระทำ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับได้ พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองทำการสอบสวนในเรื่องที่เกี่ยวกับโจทก์จะซื้อที่ดินเพื่อประโยชน์แก่คนต่างด้าวหรือไม่และดำเนินการต่อไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับจดทะเบียนซื้อขายที่ดินซึ่งโจทก์รับซื้อจากนางเจริญ คนตรงนั้น เห็นว่าการรับจดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าวมีข้อที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า ได้มีกรณีที่จำเลยทั้งสองควรเชื่อได้ว่า โจทก์จะซื้อที่ดินเพื่อประโยชน์แก่คนต่างด้าวอันจะเป็นเหตุขัดข้องที่จำเลยยังรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้ไม่ได้หรือไม่ ปรากฏว่าเดิมจำเลยเคยรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการรับซื้อฝากที่ดินให้โจทก์มาแล้ว โดยโจทก์ระบุในคำขอให้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมว่าเป็นหญิงหม้าย ต่อมามีบัตรสนเทห์กล่าวหาว่าโจทก์เป็นภรรยาของคนต่างด้าวอยู่กินร่วมกันฉันสามีภรรยา ประกอบกับที่จำเลยที่ 2 ได้ทราบมาเอง เมื่อโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซื้อที่ดินจากนางเจริญ คนตรง รายนี้ จำเลยที่ 2 จึงบันทึกเสนอต่อจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนสิทธิและนิตกรรมให้ทราบดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงสั่งให้ปลัดอำเภอสืบสวนและจำเลยที่ 1 สอบสวนแล้วได้ความว่าโจทก์อยู่กินร่วมกันฉันสามีภรรยากับคนต่างด้าว มีบุตรด้วยกัน ยังไม่ได้เลิกร้างกันจำเลยที่ 1 จึงแจ้งเหตุขัดข้อง รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมให้โจทก์ไม่ได้ตามเอกสารหมาย จ.64 ระบุว่าเป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 74 วรรคสอง ด้วย ซึ่งข้อความในมาตรา 74 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้ามีกรณีเป็นที่ควรเชื่อได้ว่าการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นจะเป็นการหลีกเลี่ยงตามกฎหมาย หรือเป็นที่ควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดจะซื้อที่ดินเพื่อประโยชน์แก่คนต่างด้าวให้ขอคำสั่งต่อรัฐมนตรี คำสั่งรัฐมนตรีเป็นที่สุด” พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ทราบมา โดยการสืบสวนและสอบสวนเป็นทางราชการดังกล่าวน่าเชื่อว่า จำเลยทั้งสองเห็นว่า มีกรณีที่ควรเชื่อได้ว่าโจทก์จะซื้อที่ดินเพื่อประโยชน์แก่คนต่างด้าว ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะดำเนินการต่อไปเพื่อขอคำสั่งต่อรัฐมนตรี ซึ่งจำเลยก็นำสืบฟังได้ว่ากำลังดำเนินการสอบสวนพยานหลักฐานที่เกียวข้องเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีอยู่ กรณีตามคดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 74 แล้ว จึงยังไม่อาจบังคับจำเลยทั้งสองให้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามฟ้องได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นภรรยาคนต่างด้าว และไม่ได้อยู่ร่วมกับคนต่างด้าวตามที่โจทก์ฎีกามา ฎีกาโจทก์จึงเป็นอันตกไป

ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่บังคับให้จำเลยทั้งสองดำเนินการสอบสวนในเรื่องที่โจทก์จะซื้อที่ดินเพื่อประโยชน์แก่คนต่างด้าวหรือไม่แล้วดำเนินการต่อไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นการเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง และฎีกาข้ออื่นที่ขอให้บังคับคดีตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อผลแห่งคดีจำเลยชนะแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นที่จำเลยฎีกาอีก

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share