คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1043/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบสามปี ตาม มาตรา 277 และสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะข้อที่ขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยเพียงสถานเบาเพียงข้อเดียว ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะพิจารณาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายเพื่อวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเมื่อข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายปรากฏอยู่ในสำนวนแล้วศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยในทางที่เป็นประโยชน์แก่จำเลย โดยพิพากษาแก้ลงโทษฐานกระทำอนาจารตาม มาตรา 279 วรรคแรกได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจกระทำชำเราเด็กหญิงประไพหรือรัศมี คำโสภา อายุ 7 ปีเศษ โดยเด็กหญิงประไพหรือรัศมีไม่ยินยอม จนจำเลยสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 7

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำเลยอายุ 18 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุกจำเลย 6 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยมีความผิดฐานกระทำอนาจารเท่านั้น ไม่มีเจตนากระทำชำเรา พิพากษาแก้ เป็นว่า จำเลยซึ่งมีอายุ 18 ปี มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 76 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 9 ลดมาตราส่วนโทษให้ 1 ใน 3 จำคุก 6 เดือน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยเนื่องจากอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 จำเลยไม่อุทธรณ์คำสั่ง จึงไม่มีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะต้องพิจารณาในชั้นศาลอุทธรณ์ต่อไป ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะต้องใช้ดุลพินิจว่าสมควรลงโทษจำเลยในสถานที่เบากว่าศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยหรือไม่เท่านั้น ไม่ชอบที่จะยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นมาพิจารณาใหม่ ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง

ปรากฏตามสำนวนว่า เมื่อจำเลยยื่นอุทธณ์ ศาลชั้นต้นสั่งว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นอ้างอิงในการอุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดนั้น จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้นและกล่าวไว้โดยไม่ชัดแจ้ง จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ได้เรียกทนายจำเลยมาสอบถามแล้ว ยืนยันไม่ขอแก้ไข ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลย นอกจากข้อขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยเพียงสถานเบาเพียงข้อเดียวให้รับไว้เป็นอุทธรณ์ของจำเลย

ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยเฉพาะข้อที่ขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยเพียงสถานเบาเพียงข้อเดียว ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะพิจารณาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายเพื่อวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายปรากฏอยู่ในสำนวนแล้วศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยในทางที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยได้

พิพากษายืน

Share