แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญากัน โดยจำเลยที่ 2 เช่าภาพยนตร์จากจำเลยที่ 1 ในราคา 450,000 บาท และชำระค่าเช่า 50,000 บาทให้จำเลยที่ 1 ไปในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือ 400,000 บาท ตกลงกันให้จำเลยที่ 2 จ่ายเงินจำนวน 100,000 บาทกับเช็คเงินสดล่วงหน้างวดละ 60,000 บาทต่อหนึ่งเดือน รวม 5 งวดให้แก่ จ. ซึ่งเป็นคนกลางนำไปให้โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ดังนี้ตามสัญญาดังกล่าว โจทก์ย่อมมิใช่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 หากแต่เป็นคู่สัญญาด้วยเพราะมีการตกลงกันถึงการชำระหนี้จำนวน 400,000 บาทที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ โจทก์จึงต้องถูกผูกมัดตามเนื้อความในสัญญานี้โจทก์จะอ้างว่าตนไม่มีหน้าที่หรือความรับผิดใดๆ ที่จะเกี่ยวข้องด้วย คงมีแต่สิทธิที่จะได้รับชำระเงินจากจำเลยที่ 2 แต่เพียง ถ่ายเดียวหาได้ไม่ และเมื่อตามสัญญาจำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายเงินค่าเช่าให้ จ. เพื่อนำไปชำระหนี้ให้โจทก์ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบฟิล์มภาพยนตร์ให้จำเลยที่ 2 เป็นการตอบแทน แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ส่งมอบฟิล์มภาพยนตร์ให้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ภายในกำหนดตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ได้ตามมาตรา 369
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้เงินกู้จำเลยที่ 1 และเพื่อที่จะได้รับชำระหนี้โจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงได้ตกลงทำสัญญาเพื่อประโยชน์ของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1ตกลงให้จำเลยที่ 2 เช่าฟิล์มภาพยนตร์เป็นเงิน 450,000 บาท จำเลยที่ 2 จ่ายค่าเช่าให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท ที่เหลืออีก 400,000 บาทจำเลยที่ 1ให้จำเลยที่ 2 ชำระแก่โจทก์ผ่านทางนายจรี อมาตยกุล ในวันรับส่งมอบฟิล์มภาพยนตร์จากจำเลยที่ 1 ตามวันที่กำหนด (คือหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนั้นเข้าฉายแล้ว 7 วัน) โจทก์แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญานี้แล้ว แต่ต่อมาจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว จึงขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้จำเลยร่วมกันชำระเงิน 400,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งยึดอายัดฟิล์มภาพยนตร์ดังกล่าวจึงไม่สามารถส่งมอบได้ภายในกำหนด และภายหลังเมื่อศาลสั่งถอนการยึดอายัดแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ได้ส่งมอบฟิล์มนั้นให้โจทก์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายจรี อมาตยกุลแต่ไม่ทราบว่าโจทก์จะได้ส่งมอบให้จำเลยที่ 2 หรือไม่
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบฟิล์มภาพยนตร์ให้จำเลยที่ 2 ตามสัญญา โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 400,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยสำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดด้วย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สัญญาท้ายฟ้องหมายเลข 2 มีคู่กรณีเป็น 3 ฝ่ายคือโจทก์, จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 เช่าภาพยนตร์เรื่องกระท่อมปรีดาจากจำเลยที่ 1 ในราคา 450,000 บาท ได้ชำระค่าเช่า 50,000บาทให้จำเลยที่ 1 ไปแล้วในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือ 400,000 บาท ตกลงกันให้จำเลยที่ 2 มอบให้นายจรี อมาตยกุล (ตามกำหนดเวลาดังจะกล่าวภายหลัง)ซึ่งเป็นคนกลางนำไปให้ โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ โจทก์จึงมิใช่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 หากแต่เป็นคู่สัญญาเพราะมีการตกลงกันถึงการชำระหนี้ (จำนวน 400,000 บาท) ที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ โจทก์จึงต้องถูกผูกมัด ตามเนื้อความในสัญญานี้ด้วย จะอ้างว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่หรือความรับผิดใด ๆ ที่จะต้องเกี่ยวข้องด้วย คงมีแต่สิทธิที่จะได้รับชำระเงินจากจำเลยที่ 2 แต่เพียงถ่ายเดียวหาได้ไม่ มีปัญหาต่อไปว่าจำเลยที่ 2จะต้องรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์หรือไม่ สัญญาดังกล่าวมีความว่า
“ข้อ 2 หลังจากภาพยนตร์เรื่องกระท่อมปรีดาเข้าฉาย ณ ศาลาเฉลิมกรุงแล้ว 7 วัน นายธนพัฒน์ โพธิสว่าง (จำเลยที่ 1) ตกลงยินยอมมอบฟิล์มภาพยนตร์ 35 มม. เรื่องกระท่อมปรีดาจำนวน 2 ก๊อปปี้ มอบให้นายจรี อมาตยกุล ฯลฯเป็นผู้ส่งมอบให้นายหวล รัตนงาม (จำเลยที่ 2) ฯลฯ และ นายธนพัฒน์ โพธิสว่าง (จำเลยที่ 1) ยินยอมให้นายหวล รัตนงาม (จำเลยที่ 2) จ่ายเงินจำนวน 100,000บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) ให้แก่นายจรี อมาตยกุล ในวันรับและส่งมอบฟิล์มดังกล่าวเพื่อนำส่งนายโยคิน เดอร์ซิงค์ (โจทก์) เพื่อเป็นการชำระหนี้ และในวันรับส่งมอบฟิล์มดังกล่าว นายหวล รัตนงาม (จำเลยที่ 2) ตกลงยินยอมจ่ายเช็คเงินสดล่วงหน้างวดละ 60,000 บาท (หกหมื่นบาทถ้วน) ต่อหนึ่งเดือน รวม 5 งวด ให้แก่นายจรี อมาตยกุล เพื่อส่งมอบให้แก่นายโยคิน เดอร์ซิงค์ (โจทก์) เพื่อเป็นการชำระหนี้
สัญญาข้อ 2 นี้มีความแสดงชัดอยู่ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายเงินค่าเช่าให้นายจรี อมาตยกุล เพื่อนำไปชำระหนี้ให้โจทก์ ก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบฟิล์มภาพยนตร์ให้จำเลยที่ 2 เป็นการตอบแทน และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบฟิล์มภาพยนตร์ให้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ภายในกำหนดตามสัญญา โดยโจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านในประเด็นข้อนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 369
พิพากษายืน