แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุมาตรา 5,7 และ 9 ห้ามกระทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นห้ามเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและห้ามมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นที่ได้มาโดยฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว จำเลยเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงมีความผิดฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเป็นความผิดสำเร็จทันที ที่จำเลยเข้าเก็บรังนกอีแอ่น และเป็นการกระทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นไปพร้อมกันด้วย จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90ส่วนที่จำเลยครอบครองรังนกอีแอ่นที่ได้มาจากการกระทำผิดต่อมาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังและแยกเป็นคนละส่วนจากการกระทำผิดครั้งแรกได้ จึงถือได้ว่าจำเลยกระทำผิดอีกกรรมหนึ่งต่างหากจากการกระทำผิดข้างต้นจึงเป็นการกระทำผิดต่างกรรมกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ย่อยาว
คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 226/2542 ของศาลชั้นต้นโดยให้เรียกจำเลยในคดีนี้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และเรียกจำเลยในคดีดังกล่าวว่า จำเลยที่ 3 แต่คดีสำหรับจำเลยที่ 3 ยุติไปในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นเพราะจำเลยที่ 3ถึงแก่ความตาย
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นใจความอย่างเดียวกันว่าเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2539 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาอีก 4 คน ได้ร่วมกันวางแผนลักทรัพย์รังนกอีแอ่นของบริษัทรังนกแหลมทอง (สยาม) จำกัด ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่นบนเกาะสี่เกาะห้าซึ่งเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ผู้อื่นและมีกำหนดโทษตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปและจำเลยทั้งสามกับพวกดังกล่าวได้ร่วมกันขึ้นไปบนเกาะรูสิบ (ถ้ำไทร)ซึ่งเป็นเกาะที่มีรังนกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติซึ่งเป็นเขตห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติพุทธศักราช 2485 และตามใบแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ตามกฎหมายและจำเลยทั้งสามกับพวกดังกล่าวได้ทราบความดังกล่าวแล้วทั้งนี้จำเลยทั้งสามกับพวกไม่ใช่ผู้ได้รับอนุญาต แล้วจำเลยทั้งสามกับพวกดังกล่าวได้ร่วมกันเก็บรังนกอีแอ่นบนเกาะรูสิบ (ถ้ำไทร)หมู่เกาะสี่เกาะห้า ซึ่งเป็นเขตห้ามดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยใช้ไม้และเหล็กแทงรังนกอีแอ่นซึ่งติดอยู่ที่ผนังถ้ำให้หลุดออกจากผนังถ้ำ อันเป็นการกระทำใด ๆ อันสามารถเป็นอันตรายแก่นกอีแอ่นหรืออาจเป็นเหตุให้นกอีแอ่นละทิ้งไปจากเกาะรูสิบซึ่งเป็นเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติและเป็นการกระทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นที่มีอยู่ตามธรรมชาติบนเกาะแล้วจำเลยทั้งสามกับพวกดังกล่าวได้ร่วมกันลักเอารังนกอีแอ่นที่ร่วมกันแทงหลุดออกจากผนังถ้ำดังกล่าว จำนวน 0.5 กิโลกรัมราคา 3,500 บาท ของผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานรังนกอีแอ่นไปเสียจากการครอบครองโดยเจตนาทุจริตโดยร่วมกันใช้เรือมาดไม้ติดเครื่องยนต์เป็นยานพาหนะ เพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดและเพื่อการพาเอาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ภายหลังจากจำเลยทั้งสามกับพวกดังกล่าวได้กระทำความผิดดังกล่าวแล้วจำเลยทั้งสามกับพวกดังกล่าวได้บังอาจร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งรับนกอีแอ่นชนิดดำ จำนวน 0.5 กิโลกรัม ราคา 3,500 บาทโดยรู้อยู่แล้วว่ารังนกดังกล่าวได้มาโดยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พุทธศักราช 2482 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 210, 213,334, 335, 336 ทวิ พระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482มาตรา 4, 5, 6, 7, 9, 10, 12 พระราชกฤษฎีกากำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม พ.ศ. 2485 มาตรา 3 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 มาตรา 4, 5วรรคแรก, 6, 7, 9, 10, 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานเก็บรังนกอีแอ่น จำคุกคนละ 1 ปี ฐานครอบครองรังนกอีแอ่นให้จำคุกคนละ 1 ปี รวมจำคุกคนละ 2 ปีจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ของกลางริบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90หรือเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พฤติการณ์และการกระทำของจำเลยที่ 1ตามฟ้อง จำเลยที่ 1 มีเจตนาที่แท้จริงเพื่อให้ได้มาซึ่งรังนกอีแอ่นเท่านั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เห็นว่าพระราชบัญญัติอากรรังนกอีแอ่น พ.ศ. 2482 ฉบับเดิมซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ มาตรา 5, 7 และ 9 บัญญัติห้ามกระทำความเสียหายแก่รังนกอีแอ่น ห้ามเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและห้ามมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกอีแอ่นที่ได้มาโดยฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว จำเลยที่ 1 เก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยที่ 1จึงมีความผิดฐานเก็บรังนกอีแอ่นโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายความผิดดังกล่าวเป็นความผิดสำเร็จทันทีที่จำเลยที่ 1 เข้าเก็บรังนกอีแอ่น และการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รังนกอีแอ่นที่มีอยู่ตามธรรมชาติตามที่กฎหมายกำหนดห้ามไว้ไปพร้อมกันด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นการกระทำที่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนที่จำเลยที่ 1ครอบครองรังนกอีแอ่นที่ได้มาจากการกระทำผิดดังกล่าวแล้วข้างต้นต่อมาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังและแยกเป็นคนละส่วนจากการกระทำผิดครั้งแรกแล้ว จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1กระทำผิดต่อกฎหมายอีกกรรมหนึ่งต่างหากจากการกระทำผิดข้างต้น และเป็นการกระทำผิดต่างกรรมกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน