คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 595/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) บัญญัติไว้เพียงว่าฟ้องจะต้องอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 หาใช่บทมาตราที่ว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิดทางอาญาไม่ หากแต่เป็นบทมาตราที่ใช้แก่ความผิดโดยทั่ว ๆ ไปว่า เมื่อมีความผิดโดยการกระทำร่วมกันของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปเกิดขึ้น ศาลจะต้องวางโทษบุคคลเหล่านั้นอย่างไร ฉะนั้นฟ้องโจทก์ที่บรรยายไว้แล้วว่าจำเลยทั้งสามได้สมคบกันสั่งจ่ายเช็ค เพียงแต่ไม่ได้ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงไว้ด้วย จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6)
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162(1) บัญญัติว่าถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลจัดการสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้อง จึงเป็นหน้าที่ของศาลเอง โดยตรงที่จะจัดการสั่งให้มีการไต่สวนมูลฟ้องขึ้นเสียก่อนที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณา ดังนั้น ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาแม้โจทก์มิได้ขอให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องมาด้วย ศาลก็ย่อมสั่งและดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องไปตามกฎหมายได้ หาใช่เป็นการสั่งเกินคำขอของโจทก์ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องความว่า จำเลยทั้งสามได้บังอาจสมคบกันสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ เงิน 300,000 บาท ลงวันที่ 27เมษายน 2517 ให้แก่นายชิต กันภัย เพื่อชำระหนี้ นายชิตได้สลักหลังเช็คโอนให้โจทก์ โจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คได้นำเช็คไปเข้าบัญชีของโจทก์ ณ ธนาคารกสิกรไทยจำกัด สาขาเสาชิงช้า เพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารกรุงไทย จำกัด สำนักงานใหญ่ได้ปฏิเสธการจ่ายเงินและคืนเช็คมา ทั้งนี้โดยจำเลยมีเจตนาทุจริตจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น หรือออกเช็คนั้นในขณะที่ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงใช้เงินได้ หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คนั้นได้ อันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค มาตรา 3 ขอให้หมายเรียกจำเลยมาพิจารณา พิพากษาลงโทษตามกฎหมาย

ศาลชั้นต้นสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้อง และเมื่อไต่สวนมูลฟ้องแล้วได้สั่งว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา

จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี ปรับจำเลยที่ 1 สี่หมื่นบาท ลดโทษเพราะจำเลยรับสารภาพกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3คนละ 6 เดือน ปรับจำเลยที่ 1 สองหมื่นบาท

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะมิได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาด้วยนั้น เห็นว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยทั้งสามได้สมคบกันสั่งจ่ายเช็ค เพียงแต่การที่โจทก์ไม่ได้อ้างบทมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาในฟ้องด้วยเท่านั้นหาทำให้ฟ้องของโจทก์บกพร่องจนศาลไม่อาจจะลงโทษจำเลยได้ไม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) ก็บัญญัติไว้แต่เพียงว่า ฟ้องจะต้องอ้างมาตราในกฎหมาย ซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 หาใช่บทมาตราที่ว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิดทางอาญาไม่ หากแต่เป็นบทมาตราที่ใช้แก่ความผิดโดยทั่ว ๆ ไปเท่านั้น กล่าวคือเป็นบทบัญญัติที่ว่าถึงกรณีที่เมื่อมีความผิดโดยการกระทำร่วมกันของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปเกิดขึ้น ศาลจะต้องวางโทษแก่บุคคลเหล่านั้นอย่างไร ฉะนั้นฟ้องของโจทก์ที่ไม่ได้ระบุประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ลงไว้ด้วย จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นฟ้องที่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(6) แม้แต่ในคดีที่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด แต่ถ้าข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์สืบสมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ก็ยังบัญญัติให้ศาลลงโทษจำเลยได้ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาว่า ในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา ถ้าโจทก์มิได้ขอให้ศาลไต่สวนมูลฟ้องมาด้วย ศาลย่อมไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องไปเองโดยลำพังนั้น เห็นว่าข้ออ้างของจำเลยเช่นนี้ยังไม่ถูกต้อง เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162(1) บัญญัติว่า ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลจัดการสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้อง ฉะนั้นการไต่สวนมูลฟ้องจึงเป็นหน้าที่ของศาลเองโดยตรงที่จะจัดการสั่งให้มีขึ้นเสียก่อนที่จะประทับฟ้องไว้พิจารณา การที่ศาลชั้นต้นในคดีนี้ได้สั่งและดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องไปจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว หาใช่เป็นการสั่งเกินคำขอของโจทก์ไม่ ฎีกาจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน

พิพากษายืน

Share