คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 470/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ที่ 2กับ ส. และพวกทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงกันจะก่อตั้งบริษัทขึ้นใหม่อีกบริษัทหนึ่งเพื่อประกอบกิจการการเดินรถแทนบริษัทโจทก์ที่ 2ต่อมา ส. กับพวกได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นใหม่เป็นบริษัทจำเลยโดยโจทก์มิได้ร่วมก่อตั้งด้วย ดังนี้ บริษัทจำเลยเป็นนิติบุคคลที่ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายมีสิทธิและหน้าที่ของตนเองต่างหากจากผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัท และมิได้เป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบริษัทจำเลยเพื่อขอให้เลิกบริษัทโดยอาศัยข้อตกลงในสัญญาฉบับนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ที่ 2 กับเจ้าของรถร่วมสายนครนายก – คลอง 14 ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความก่อตั้งบริษัทขึ้นใหม่อีกบริษัทหนึ่งเพื่อประกอบการเดินรถแทนบริษัทโจทก์ที่ 2 ต่อมานายสานิตย์ ลัคนาทิน กับพวกซึ่งได้ลงนามในข้อตกลงดังกล่าวได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นใหม่เป็นบริษัทจำเลยโดยไม่ให้โจทก์ทั้งสองร่วมก่อตั้งด้วย การจดทะเบียนบริษัทจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืนสัญญาประนีประนอม ทั้งเป็นการทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท ทำให้โจทก์เสียหายขอให้พิพากษายกเลิกบริษัทจำเลย

จำเลยให้การว่า บริษัทจำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมที่ทำไว้กับโจทก์แล้ว แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่นำรถไปดำเนินการให้ถูกต้อง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า บันทึกข้อตกลงหาใช่เป็นการประชุมตั้งบริษัทตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1107,1108 ไม่ และไม่เป็นการกระทำผิดในการประชุมตั้งบริษัทอันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งเลิกบริษัทได้ตามมาตรา 1237 พิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บริษัทจำเลยเป็นนิติบุคคล ที่ก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายมีสิทธิและหน้าที่ของตนเองต่างหากจากผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัท ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าบริษัทจำเลยไม่ได้เป็นคู่สัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2515 กับโจทก์ที่ 1 ด้วย ฉะนั้นโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องบริษัทจำเลยเพื่อขอให้เลิกบริษัทโดยอาศัยข้อตกลงในสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2515 นั้น ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องนี้แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นไว้ในคำแก้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล

พิพากษายืน

Share