คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 136/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีร้องขอให้ถอนการยึด โจทก์มิได้ต่อสู้คดีว่าผู้ร้องปล่อยให้จำเลยแสดงว่ามีอำนาจขายทรัพย์ที่พิพาทข้อนี้ย่อมอยู่นอกประเด็นศาลยกขึ้นวินิจฉัยไม่ได้
แต่ถ้าได้ความว่า ทรัพย์นั้นเป็นของคนอื่น ไม่ใช่ของผู้ร้อง ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิมาขอให้ปล่อยทรัพย์ ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้โจทก์ต่อสู้เพียงว่าทรัพย์เป็นของจำเลย มิได้ต่อสู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้ใดอื่นก็ตาม
คำพิพากษาให้จำเลยส่งมอบทรัพย์ที่จำเลยขายฝากแก่โจทก์ไม่ผูกพันสามีจำเลยที่จะร้องเข้ามาในชั้นบังคับคดีว่าทรัพย์นั้นเป็นสินบริคณห์ นิติกรรมเป็นโมฆียะ ซึ่งสามีได้บอกล้างแล้ว ให้ถอนการยึด
การบอกล้างนิติกรรม ทำเป็นหนังสือถึงคู่กรณี แต่คู่กรณีนั้นไม่อยู่จึงให้คนในร้านรับไว้แทน ถือว่าบอกล้างโดยชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีนี้ เนื่องจากจำเลยแพ้คดีโจทก์ ซึ่งศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยส่งมอบทรัพย์ให้โจทก์ ถ้าส่งไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคา 60,000 บาท แก่โจทก์แทนแต่ส่งคำบังคับแก่จำเลยไม่ได้ ระหว่างปิดคำบังคับโจทก์ยื่นคำร้องเพื่อคุ้มครองประโยชน์ไว้ก่อน อ้างว่าจำเลยจะจำหน่ายทรัพย์รายพิพาท ศาลแพ่งไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์รายพิพาทเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ตามบัญชียึดทรัพย์ลงวันที่ 15 มกราคม 2497 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดเป็นสินบริคณห์ของผู้ร้องกับจำเลยอยู่ในโรงพิมพ์แสงทองบ้านของผู้ร้องผู้ร้องได้ชี้แจงคัดค้านให้เจ้าพนักงานทราบและบันทึกไว้แล้ว ผู้ร้องไม่ทราบเรื่องจำเลยขายฝากทรัพย์อันเป็นสินบริคณห์ให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ ผู้ร้องจึงทราบและได้บอกล้างนิติกรรมขายฝากไปยังโจทก์แล้ว จำเลยไม่มีสินเดิมผู้ร้องมีสินเดิมแต่ฝ่ายเดียว จำเลยไม่มีสิทธิในทรัพย์ที่โจทก์นำยึด ขอให้สั่งถอนการยึดทรัพย์รายนี้

โจทก์ให้การต่อสู้ว่า ทรัพย์ที่โจทก์นำยึดนี้เป็นของจำเลยผู้แพ้คดีโจทก์ โดยจำเลยซื้อจากโจทก์มาเป็นคราว ๆ แล้วประกอบเป็นแท่นพิมพ์ เครื่องพิมพ์ เครื่องตัดกระดาษ ขึ้น แต่จำเลยไม่มีเงินชำระโจทก์ จำเลยจึงทำสัญญาขายฝากแก่โจทก์ แล้วจำเลยทำสัญญาเช่าจากโจทก์ในคราวเดียวกัน ข้อความในหนังสือสัญญา ผู้ขายฝากรับสัญญาและยืนยันว่าเป็นทรัพย์สินของผู้ขายฝากเป็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของส่วนสมรสหรือสินบริคณห์ ผู้ขายฝากมีสิทธิประกอบธุรกิจในเรื่องนี้เป็นส่วนตัวอยู่แล้วด้วย มีสิทธิทำนิติกรรมสัญญานี้โดยสมบูรณ์ลำพังตนเอง และเมื่อศาลแพ่งได้พิพากษา จำเลยไม่ได้อุทธรณ์ฎีกา คดีถึงที่สุดเด็ดขาดแล้ว ผู้ร้องซึ่งเป็นสามีจำเลยและอยู่ร่วมเรือนจำเลยตลอดมากลับมาร้องขัดทรัพย์ เช่นนี้ก็เพื่อประวิงการชำระหนี้ และการบังคับคดีเท่านั้น และกรณีไม่เข้าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ผู้ร้องเป็นสามีจำเลย ยกย่องจำเลยเป็นคุณหญิง และอยู่ร่วมบ้านเรือนเดียวกับจำเลยตลอดมา ผู้ร้องทราบเรื่องจำเลยขายฝากทรัพย์พิพาทกับโจทก์ดี ทรัพย์พิพาทไม่ใช่ของผู้ร้อง และไม่เป็นสินบริคณห์ผู้ร้องจึงไม่ได้ร้องสอดเข้ามาในคดีผู้ร้องไม่เคยบอกล้างนิติกรรมไปยังโจทก์ โจทก์ไม่เคยได้รับหนังสือดังกล่าวจากผู้ร้อง และผู้ร้องไม่มีสิทธิบอกล้าง หากจะบอกล้างไปจริงก็ใช้ไม่ได้ ศาลแพ่งพิพากษาชี้ขาดกรรมสิทธิ์ว่าทรัพย์พิพาทเป็นของโจทก์ ไม่มีอุทธรณ์ฎีกา ใช้ยันกับบุคคลได้ทั่วไป แม้แต่ตัวผู้ร้องเอง

ศาลแพ่งพิจารณาแล้ว ฟังว่า จำเลยได้ซื้อทรัพย์รายพิพาทมาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 เป็นทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยา และมิได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัว ย่อมเป็นสินบริคณห์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1462 ที่โจทก์อ้างข้อความในหนังสือสัญญาขายฝากข้อ 4 หาทำให้ทรัพย์ที่พิพาทกลายเป็นสินส่วนตัวของจำเลยแต่อย่างใด เพราะไม่จัดเข้าอยู่ในลักษณะที่จะเป็นสินส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1464 คงเป็นสินบริคณห์อยู่นั่นเอง การที่จำเลยเอาทรัพย์สินบริคณห์นี้ไปขายฝากกับโจทก์ ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องซึ่งเป็นสามีได้รู้เห็นยินยอมหรืออนุญาตให้ทำแต่ประการใด ตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 เมื่อผู้ร้องได้ทราบ ผู้ร้องก็จัดทำหนังสือบอกล้างนิติกรรมไปยังโจทก์ และได้นำส่งให้โจทก์ แต่โจทก์ไม่อยู่ จึงให้คนในร้านรับไว้แทน ถือว่าผู้ร้องได้ทำการบอกล้างนิติกรรมขายฝากโดยชอบแล้ว สัญญาขายฝากย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138 ทรัพย์รายพิพาทอันเป็นสินบริคณห์หาต้องรับผิดชอบไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะยึดทรัพย์รายพิพาทเพื่อส่งมอบตามคำพิพากษา ผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกมีสิทธิที่จะพิสูจน์ว่าตนมีสิทธิดีกว่าโจทก์ เมื่อผู้ร้องต้องถูกกระทบกระเทือนต่อกรรมสิทธิ์ของตนเพราะการบังคับคดีของศาล ก็มีอำนาจที่จะร้องขัดทรัพย์ได้ มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์รายพิพาท ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมและค่าทนาย 300 บาท แทนผู้ร้อง

โจทก์อุทธรณ์ว่า

1. ทรัพย์รายพิพาทไม่เป็นสินบริคณห์

2. หากเป็นสินบริคณห์ จำเลยมีอำนาจทำสัญญาขายฝากกับโจทก์ได้

3. สัญญาขายฝากซึ่งศาลแพ่งได้พิพากษาชี้ขาดไปแล้วจะกลับเป็นโมฆะไม่ได้

4. คำพิพากษาศาลแพ่งซึ่งถึงที่สุดแล้ว ใช้ยันแก่บุคคลได้ทั่วไปรวมทั้งผู้ร้องซึ่งเป็นสามีจำเลยอยู่ใกล้ชิดกับจำเลยตลอดมา

5. พยานหลักฐานฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องได้บอกล้างนิติกรรมแล้ว

6. การยึดทรัพย์รายนี้เพื่อส่งมอบตามคำพิพากษา ไม่ใช่เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินใช้หนี้โจทก์ ไม่เข้าลักษณะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ผู้ร้องจะร้องขัดทรัพย์ไม่ได้

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้ออุทธรณ์คัดค้านข้อ 3, 4 และ 6 นั้นแม้ว่าคำพิพากษาในคดีนี้ระหว่างโจทก์จำเลยถึงที่สุดมีผลเด็ดขาดแล้วแต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ย่อมใช้ยันบุคคลภายนอกคดีซึ่งพิสูจน์ได้ว่ามีสิทธิดีกว่าหาได้ไม่ จึงไม่ตัดสิทธิสามีที่จะคัดค้านกล่าวอ้างว่าเป็นสินบริคณห์ ซึ่งภรรยาไม่มีสิทธิที่จะทำนิติกรรมผูกพันโดยลำพังข้อที่คัดค้านว่าไม่เข้าลักษณะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ร้องขัดทรัพย์ไม่ได้เพราะเป็นกรณียึดทรัพย์เพื่อส่งมอบตามคำพิพากษา ไม่ใช่เพื่อขายใช้หนี้นั้นศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาฉบับก่อนแล้วว่าเมื่อผู้ร้องได้รับความเดือดร้อนกระทบกระเทือนต่อกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง จากการบังคับคดีของศาล ผู้ร้องก็ชอบที่จะร้องสอดเข้ามาในคดีตามสิทธิเรียกร้องของตนต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดี เพื่อให้สั่งถอนจากการยึด ซึ่งได้บังคับคดีไปนั้นได้ แม้ว่าคดีนี้ศาลจะได้พิพากษาให้จำเลยส่งมอบทรัพย์รายนี้ให้แก่โจทก์ในฐานที่จำเลยได้ขายฝากแก่โจทก์ไว้ แต่ผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความหรือถูกเรียกให้เข้ามาเป็นคู่ความต่อสู้คดีด้วย และปฏิเสธว่าไม่ทราบเรื่องการตกลงระหว่างโจทก์จำเลย ข้ออุทธรณ์คัดค้านข้อ 1 ว่าทรัพย์พิพาทไม่เป็นสินบริคณห์ นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นในข้อเท็จจริงที่ฟังว่า จำเลยเป็นภรรยาผู้ร้องก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 จึงไม่จำต้องจดทะเบียนการสมรส แม้ผู้ร้องจะมีภรรยาอื่นอยู่แล้ว ผู้ร้องก็เป็นสามีของจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายและข้อนี้โจทก์ก็ให้การรับ ข้อเป็นภรรยาไม่ได้คัดค้าน ส่วนข้อที่ว่าทรัพย์รายพิพาทเป็นสินบริคณห์และจำเลยมีอำนาจทำสัญญาขายฝากกับโจทก์ตามข้ออุทธรณ์คัดค้านข้อ 2 ได้หรือไม่ นั้น ตามคำเบิกความของผู้ร้องก็ว่า การซื้อแท่นพิมพ์ นายวิชัยยี่ห้อตงเซียม ผู้ขายได้ออกใบรับในนามองค์การสงเคราะห์ประชาชนเป็นผู้ซื้อ เพราะเหตุว่าในเวลานั้นผู้ร้องได้จัดตั้งองค์การสงเคราะห์ประชาชน และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลไว้แล้ว การชำระเงินก็ว่าชำระเพียงแท่นเดียว ส่วนอีกสองแท่นตกลงจะผ่อนชำระเป็นคราว ๆ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพยานผู้ร้องเป็นดังนี้ ทรัพย์รายพิพาทก็ไม่ใช่สินสมรสของผู้ร้องและจำเลยแต่เป็นขององค์การสงเคราะห์ประชาชน ซึ่งเป็นนิติบุคคลอีกต่างหาก ผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะมาร้องคัดค้านขอให้ถอนการยึดคืนให้แก่ผู้ร้องเป็นส่วนตัวได้ โจทก์เบิกความว่า การที่ทำสัญญารับขายฝากไว้จากจำเลยนั้นก็เพราะได้เห็นหลักฐานคำแจ้งความที่จำเลยนำมาแสดงว่า จำเลยเป็นผู้พิมพ์และผู้โฆษณา และจำเลยว่าจำเลยเป็นเจ้าของโรงพิมพ์แสงทองและตั้งองค์การสงเคราะห์ประชาชน ผู้ร้องไม่ได้นำจำเลยมาสืบหักล้างประการใด ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ผู้ร้องได้ปล่อยจำเลยแสดงออกว่ามีอำนาจเกี่ยวกับทรัพย์รายนี้ และทรัพย์รายนี้ก็เป็นขององค์การสงเคราะห์ประชาชน หาใช่สินบริคณห์ไม่ จึงพิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง ให้ผู้ร้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลและค่าทนายความอีก 600 บาท แก่โจทก์

ผู้ร้องฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องโดยฟังว่า ทรัพย์รายพิพาทไม่ใช่สินสมรสของผู้ร้องและจำเลย แต่เป็นขององค์การสงเคราะห์ประชาชนซึ่งเป็นนิติบุคคลอีกต่างหาก ผู้ร้องไม่มีสิทธิจะมาร้องคัดค้าน นั้น เป็นการวินิจฉัยและพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็น และมิใช่เรื่องที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้โดยอาศัยยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้าง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งยังฟังข้อเท็จจริง โดยอาศัยคำเบิกความของผู้ร้องกับใบรับในการซื้อแท่นพิมพ์ที่ผู้ขายออก ในนามองค์การสงเคราะห์ประชาชนคลาดเคลื่อนและถึงหากจะถือว่าเครื่องพิมพ์ 1 แท่น คือแท่นหมายเลขที่ 110 ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์เด็ดขาดขององค์การสงเคราะห์ประชาชนไปแล้วผู้ร้องก็ควรหมดสิทธิในการร้องคัดค้านให้ถอนการยึดเฉพาะเครื่องพิมพ์ 1 แท่น คือ แท่นหมายเลข 110 เท่านั้น ส่วนเครื่องพิมพ์อีก 2 แท่นกับเครื่องตัดกระดาษ 1 เครื่อง กับตัวพิมพ์และเครื่องอุปกรณ์การพิมพ์สิ่งอื่น ๆ นั้น ไม่มีทางแสดงว่าเป็นทรัพย์ขององค์การสงเคราะห์ประชาชนแม้แต่น้อย ตามพยานหลักฐานและตามประเด็นที่คู่ความโต้เถียงนำสืบมา คดีฟังได้ว่าทรัพย์รายพิพาทเป็นสินบริคณห์ของผู้ร้องและจำเลย ผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นยินยอมหรืออนุญาตในการที่จำเลยเอาทรัพย์ดังกล่าวไปขายฝาก เมื่อผู้ร้องได้ทราบก็จัดทำหนังสือบอกล้างนิติกรรมไปยังโจทก์แล้ว สัญญาขายฝากตกเป็นโมฆะ ทรัพย์รายพิพาทอันเป็นสินบริคณห์หาต้องรับผิดชอบไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะยึดทรัพย์รายนี้เพื่อส่งมอบตามคำพิพากษา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่า ข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า ผู้ร้องได้ปล่อยจำเลยแสดงออกว่ามีอำนาจเกี่ยวกับทรัพย์รายนี้ นั้น โจทก์มิได้ต่อสู้ความข้อนี้ไว้ และศาลชั้นต้นก็มิได้วินิจฉัยถึงความข้อนี้เลย การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังว่าทรัพย์รายนี้เป็นขององค์การสงเคราะห์ประชาชน หาใช่สินบริคณห์ไม่ นั้น แม้ว่าโจทก์มิได้ต่อสู้มาว่าทรัพย์รายนี้เป็นทรัพย์ขององค์การสงเคราะห์ประชาชนก็ดี แต่ถ้าปรากฏว่า ทรัพย์รายพิพาทที่ผู้ร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อย นั้น เป็นทรัพย์ขององค์การสงเคราะห์ประชาชนจริง ผู้ร้องก็หามีสิทธิที่จะมาขอให้ปล่อยทรัพย์รายนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ไม่ ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องโดยฟังจากคำของผู้ร้องว่า ทรัพย์รายนี้เป็นขององค์การสงเคราะห์ประชาชน จึงไม่เป็นการวินิจฉัยพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นดังที่ผู้ร้องฎีกาคัดค้านมานั้น แต่ในข้อเท็จจริงจะรับฟังได้เพียงไรนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำของผู้ร้องนั้น ยังรับฟังไม่ได้ว่าแท่นพิมพ์ 1 เครื่อง ที่ผู้ร้องรับว่าผู้ขายได้ออกใบรับในนามองค์การสงเคราะห์ประชาชนนั้น ตกเป็นกรรมสิทธิ์ขององค์การสงเคราะห์ประชาชนโดยเด็ดขาดแล้ว ยิ่งแท่นพิมพ์อีก 2 เครื่อง กับเครื่องตัดกระดาษ 1 เครื่อง กับตัวพิมพ์และเครื่องอุปกรณ์การพิมพ์สิ่งอื่น ๆ อันเป็นทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดมานี้ ไม่มีอะไรแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นทรัพย์ขององค์การสงเคราะห์ประชาชนเลย ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์รับฟังว่าทรัพย์รายพิพาทเป็นขององค์การสงเคราะห์ประชาชน ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย

ในประเด็นข้อโต้เถียงเรื่องทรัพย์รายพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยหรือเป็นสินบริคณห์ของผู้ร้องและจำเลยนั้น ผู้ร้องนำสืบว่าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2495 ผู้ร้องและจำเลยคิดตั้งโรงพิมพ์เพื่อพิมพ์และรับจ้างพิมพ์หนังสือทั่วไป ผู้ร้องและจำเลยจึงได้ไปซื้อแท่นพิมพ์จากนายวิชัย ยี่ห้อตงเซียม 3 แท่น ราคาแท่นละ 21,000 บาท และนำมาติดตั้งที่ตึกเลขที่ 46 ถนนพระราม 1 ซึ่งเป็นที่อยู่และเปิดเป็นโรงเรียนแสงทองวิทยาลัย ผู้ร้องได้ชำระเงินแล้ว 1 แท่น ส่วนอีก 2 แท่น ยังไม่ได้ชำระตกลงจะผ่อนให้เป็นคราว ๆ ค่าแท่นพิมพ์ที่ชำระแล้วผู้ร้องให้นายวิชัยออกใบรับเงิน ว่าได้รับในนามองค์การสงเคราะห์ประชาชนเป็นผู้ซื้อ เพราะผู้ร้องได้จัดตั้งองค์การสงเคราะห์ประชาชนไว้แต่ พ.ศ. 2491 ตั้งใจจะยกแท่นพิมพ์นั้นให้เป็นสมบัติขององค์การสงเคราะห์ประชาชน และผู้ร้องได้นำใบรับเงินนั้นไปใช้เป็นหลักประกันเพื่อองค์การสงเคราะห์ประชาชนจะเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา จำกัด หลังจากได้ซื้อแท่นพิมพ์ 3 แท่น แล้ว ยังได้ซื้อเครื่องตัดกระดาษ ตัวพิมพ์และอุปกรณ์การพิมพ์จากนายวิชัยอีกได้จัดการชำระหนี้ค่าซื้อเชื่อสิ่งของจากนายวิชัยเรื่อย ๆ จนในที่สุดยังคงเป็นหนี้อยู่ 60,000 บาท

โจทก์นำสืบว่า จำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์รายพิพาทจากบริษัทโรงหล่อตัวพิมพ์ตงเซียม จำกัด ซึ่งนายวิชัยเป็นผู้จัดการเครื่องพิมพ์แท่นนอน 1 เครื่อง จำเลยชำระราคาแล้ว 1 เครื่องเป็นเงิน 21,000 บาท อีก 2 เครื่อง และเครื่องตัดกระดาษยังไม่ได้ชำระราคา การติดต่อซื้อสิ่งของเหล่านี้จำเลยติดต่อมาในนามของโรงพิมพ์แสงทองวิทยาลัย และองค์การสงเคราะห์ประชาชน ซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นเจ้าของโรงพิมพ์แสงทองและเป็นผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ประชาชน ส่วนผู้ร้องไม่ได้มากับจำเลย ต่อมาจำเลยได้นำแท่นพิมพ์ 3 เครื่อง เครื่องตัดกระดาษ 1 เครื่องกับตัวพิมพ์เครื่องอุปกรณ์การพิมพ์อันเป็นทรัพย์รายพิพาทไปขายฝากไว้กับโจทก์ จำเลยบอกว่าเป็นของจำเลย และนำหลักฐานคำแจ้งความว่าเป็นผู้พิมพ์และผู้โฆษณามาแสดง โจทก์เชื่อว่าเป็นของจำเลยจริง จึงได้ทำสัญญาขายฝากและสัญญาเช่าทรัพย์ดังกล่าวไว้

ศาลฎีกาพิเคราะห์เห็นว่า พยานหลักฐานฝ่ายผู้ร้องในข้อว่าทรัพย์รายพิพาทเป็นสินบริคณห์ของผู้ร้อง และจำเลยมีน้ำหนักมั่นคงกว่าพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ กล่าวคือ ผู้ร้องมีตัวผู้ร้องเบิกความยืนยันว่าผู้ร้องและจำเลยเป็นผู้ซื้อทรัพย์รายพิพาทร่วมกัน ซื้อแล้วก็นำมาติดตั้ง ณ ที่อยู่อาศัยของผู้ร้องกับจำเลยตึกเลขที่ 46 ถนนพระราม 1 ซึ่งเปิดเป็นโรงเรียนแสงทองวิทยาลัยและยังมีบุตรสาวบุตรชายของผู้ร้องกับจำเลย ยายของจำเลยและหัวหน้าช่างเรียงพิมพ์ของโรงพิมพ์แสงทองเป็นพยานเบิกความรับรองสนับสนุนถ้อยคำผู้ร้อง ฝ่ายโจทก์หามีพยานหลักฐานนำสืบให้พอฟังว่า ทรัพย์รายพิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยไม่ ตามที่โจทก์อ้างว่าในสัญญาขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยได้ให้สัญญาไว้ว่าผู้ขายฝากรับสัญญาและยืนยันว่าในการเอาทรัพย์สินดังกล่าวมาทำสัญญานี้เป็นทรัพย์สินของผู้ขายฝากเป็นส่วนตัวไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของส่วนสมรสหรือสินบริคณห์ ซึ่งสามีจะต้องมีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมอย่างใดเลยผู้ขายฝากมีสิทธิที่จะจัดการโดยพลการได้ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมเห็นชอบจากสามีหรืออย่างใด โดยผู้ขายฝากมีสิทธิประกอบธุรกิจในเรื่องนี้เป็นส่วนตัวอยู่แล้วด้วย และผู้ขายฝากมีสิทธิทำนิติกรรมสัญญานี้โดยสมบูรณ์ลำพังตนเอง นั้น ไม่อาจทำให้ทรัพย์รายพิพาทกลายเป็นสินส่วนตัวของจำเลยไปได้ ทรัพย์รายพิพาทนี้เป็นทรัพย์ที่ได้ซื้อมาตั้งแต่ พ.ศ.2495 มิได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัว ย่อมเป็นสินบริคณห์คือสินเดิมและสินสมรสของผู้ร้องและจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1462 และตามมาตรา 1466แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็บัญญัติว่า ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ฉะนั้น ข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อโต้เถียงกันต้องรับฟังว่าทรัพย์รายพิพาทเป็นสินบริคณห์ของผู้ร้องและจำเลยดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างหาใช่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยดังที่โจทก์ต่อสู้ไม่

การที่จำเลยนำเอาทรัพย์รายพิพาทอันเป็นสินบริคณห์ของผู้ร้องและจำเลยไปขายฝากกับโจทก์ นั้น ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องซึ่งเป็นสามีได้รู้เห็นยินยอมหรืออนุญาตให้ทำแต่ประการใด โจทก์เองก็เบิกความว่าไม่ทราบว่าจำเลยจะเป็นภรรยาของผู้ร้องหรือไม่ การที่ตกลงทำสัญญารับขายฝากก็เพราะเชื่อว่าเป็นทรัพย์ของจำเลย ฝ่ายผู้ร้องก็ยืนยันว่าเพิ่งทราบเรื่องการขายฝาก เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญาขายฝาก เมื่อผู้ร้องได้ทราบ ผู้ร้องก็จัดการทำหนังสือบอกล้างนิติกรรมขายฝากไปยังโจทก์ตามสำเนาเอกสารหมาย ร.3 ซึ่งนายดิษฐ์ทนายความรับรองว่าได้นำส่งให้โจทก์ แต่โจทก์ไม่อยู่ จึงให้คนในร้านรับไว้แทน ถือได้ว่าผู้ร้องได้ทำการบอกล้างนิติกรรมขายฝากทรัพย์รายพิพาทโดยชอบแล้ว สัญญาขายฝากทรัพย์รายพิพาท ระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 38 และ138 โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะยึดทรัพย์รายพิพาทเพื่อส่งมอบตามคำพิพากษาแม้ว่าคำพิพากษาในคดีนั้นจะได้พิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยส่งมอบทรัพย์รายพิพาทให้แก่โจทก์ในฐานที่จำเลยได้ขายฝากแก่โจทก์ไว้ แต่ผู้ร้องมิได้เป็นคู่ความในคดีนั้นย่อมไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามพฤติการณ์แห่งคดีเห็นว่า ศาลชั้นต้นให้ถอนการยึดทรัพย์รายพิพาทชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยพิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้อง นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

จึงพิพากษากลับ ให้ถอนการยึดทรัพย์รายพิพาทเสีย และให้โจทก์เสียค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนาย 900 บาท รวม 3 ศาล แทนผู้ร้อง

Share