คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 923/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อ 31 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายนพ.ศ. 2515 ระบุโยงไปให้ใช้พระราชบัญญัติการบัญชี พุทธศักราช 2482 บังคับในกรณีที่ยังไม่มีประกาศของรัฐมนตรีกำหนดธุรกิจที่ต้องขัดทำบัญชี ออกตามข้อ 5 ของประกาศคณะปฏิวัติดังกล่าวใช้บังคับ ซึ่งพระราชบัญญัติการบัญชีฯมาตรา 6 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการบัญชี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496มาตรา 3 ก็บัญญัติให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า กิจการประเภทใดในท้องที่ ใดที่จะต้องทำบัญชีขึ้น หาใช่ว่าบุคคลผู้ประกอบกิจการทุกประเภทจะต้องจัดทำบัญชีไม่ เหตุนี้ เมื่อฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่ารัฐมนตรีผู้มีอำนาจหน้าที่ได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้มีการจัดทำบัญชีสำหรับการประกอบกิจการในประเภทที่โจทก์ฟ้องให้เป็นการถูกต้องตามข้อ 31 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติการบัญชีฯดังกล่าวแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดความสำคัญซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ ลงโทษจำเลยไม่ได้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ศรีสามแยกพานิช จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ประกอบกิจการในประเภทที่ต้องจัดทำบัญชีตามกฎหมาย และมีหน้าที่ทำบัญชีตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 285 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 เมื่อระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน2516 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2516 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้บังอาจร่วมกันลงรายการเท็จในบัญชี ในการประกอบกิจการค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดของจำเลยดังกล่าว โดยเอารายการขายสินค้าของบัญชีขายของเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2515 จำนวน 5 รายการ เป็นเงิน12,400 บาท และจำนวน 13 รายการ รวมเป็นเงิน 34,980 บาท ไปลงเป็นรายการขายสินค้าในบัญชีขายของเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม 2516 อันเป็นการลงรายการเท็จในบัญชีขาย ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและตามวันเวลาดังกล่าว จำเลยทั้งสองกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้บังอาจร่วมกันละเว้นการลงรายการในบัญชีในการประกอบกิจการค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยดังกล่าวโดยละเว้นการลงรายการขายสินค้าในบัญชีขายของเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม2516 รวมทั้งสิ้น 5 รายการ เป็นเงิน 10,900 บาท อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ข้อ 30 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ข้อ 30 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้ปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,000 บาทและจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,000บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษเบาลง และรอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นผิดตามฟ้อง จะต้องเป็นบัญชีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนดให้มีการจัดสำหรับการประกอบธุรกิจใด ๆ เป็นปกติ ในประเภทที่กล่าวไว้ในข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 285 เสียก่อนและการกำหนดนั้นจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาแต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องในข้อ 1 ดังกล่าว ฟ้องของโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญอันเป็นองค์ประกอบความผิด แม้จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ก็ลงโทษจำเลยที่ 2ไม่ได้ กรณีเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ย่อมมีผลตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ด้วย พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ขณะเกิดเหตุยังไม่มีประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กำหนดธุรกิจที่ต้องจัดทำบัญชี ซึ่งออกตามข้อ 5 ของประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 ใช้บังคับ ตามข้อ 31 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ระบุโยงให้ไปใช้พระราชบัญญัติการบัญชี พุทธศักราช 2482บังคับ พระราชบัญญัติการบัญชีดังกล่าว มาตรา 6 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการบัญชี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 มาตรา 3 ก็ได้บัญญัติให้รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาเช่นเดียวกันว่า กิจการประเภทใด ในท้องที่ใดจะต้องทำบัญชีขึ้น หาใช่ว่าบุคคลผู้ประกอบกิจการทุกประเภทจะต้องจัดทำบัญชีนั้นไม่ เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายในฟ้องว่ารัฐมนตรีผู้มีอำนาจหน้าที่ได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้มีการจัดทำบัญชีสำหรับการประกอบกิจการในประเภทที่โจทก์ฟ้องให้เป็นการถูกต้องตามข้อ 31 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติการบัญชีพุทธศักราช 2482 มาตรา 6 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการบัญชี(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 มาตรา 3 ฟ้องโจทก์จึงขาดข้อความสำคัญซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตามกฎหมาย ไม่ชอบด้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ลงโทษจำเลยไม่ได้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share