คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1989/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่มิได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ แม้จะแจ้งการครอบครองตามแบบส.ค.1 ไว้ ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด
เมื่อผู้แจ้งการครอบครองไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน ย่อมจะมีการรับโอนหรือแย่งการครอบครองมิได้
ผู้มีสิทธิในที่ดิน หากทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด ที่ดินย่อมตกเป็นของรัฐ และเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ผู้ที่ไม่มีสิทธิครอบครอง หากเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของรัฐโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมมีความผิดทางอาญา
ราษฎรต่อราษฎรอาจพิพาทกันเองในเรื่องการครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้ แต่จะอ้างผลแห่งคำพิพากษาที่ตนชนะคดีนั้น หรือการครอบครองที่ผิดกฎหมายขึ้นใช้ยันรัฐหาได้ไม่
ที่ดินของรัฐหรือแผ่นดินประเภทที่รกร้างว่างเปล่า เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีสิทธินำยึดเพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา หากมีการยึด จังหวัดโดยผู้ว่าราชการจังหวัดย่อมมีอำนาจร้องขัดทรัพย์ได้

ย่อยาว

กรณีเนื่องจากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำยึดสวนยางพาราและผลไม้อันเป็นที่ดินมือเปล่า โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 2 ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่าจำเลยที่ 2 ได้เข้าก่นสร้างครอบครองที่สวนดังกล่าวเมื่อ พ.ศ. 2498 โดยพลการมิได้ปฏิบัติให้ได้มาซึ่งที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 อันเป็นความผิดทางอาญา พนักงานสอบสวนได้ดำเนินคดี หากจำเลยที่ 2 ตายเสียก่อนที่สวนที่โจทก์นำยึดเป็นของรัฐ

โจทก์ให้การว่า เมื่อ พ.ศ. 2480 นายโต๊ะเหร่ได้ก่นสร้างครอบครองที่พิพาท และยกให้นายสำสุเด็นเมื่อราวปี 2490, 2491 ที่พิพาทตกเป็นมรดกได้แก่นายสุมินทร์ สมัยพิทักษ์เมื่อปี 2494 นายสุมินทร์ได้แจ้ง ส.ค.1 ไว้เป็นหลักฐานเมื่อปลายปี 2498 ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้แย่งการครอบครองที่พิพาท และได้เกิดเป็นคดีพิพาทระหว่างคนทั้งสอง คดีถึงที่สุดชั้นศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 2

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิครอบครองที่พิพาท ถือได้ว่าเป็นผู้สวนสิทธิแทนนายสุมินทร์ที่ได้แจ้ง ส.ค.1 ไว้ เป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้วโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิยึดที่พิพาท มีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า นายสุมินทร์ไม่เคยครอบครองที่พิพาท เพียงแจ้งส.ค.1 ไว้เท่านั้น จำเลยที่ 2 เข้าครอบครองที่พิพาทอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินภายหลังประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิครอบครองที่พิพาทกรณีนี้รัฐมีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 2 พิพากษากลับให้ปล่อยทรัพย์พิพาท

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เข้าก่นสร้างครอบครองนั้นที่พิพาทเป็นป่ารกร้างว่างเปล่า แม้บิดานายเอจะเคยถางทำไร่แต่ก็ละทิ้งสละการครอบครองไปแล้ว ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนหรือแย่งการครอบครองที่พิพาทมาจากนายสุมินทร์ เพราะนายสุมินทร์มิได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาท เพียงแต่แจ้ง ส.ค.1ไว้ หาก่อให้เกิดสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ ที่พิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(1)และจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองที่พิพาทเมื่อปี 2498 อันเป็นระยะเวลาภายหลังวันที่ 1 ธันวาคม 2497 ซึ่งประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินบัญญัติว่า ถ้ามิได้มีสิทธิครอบครองหรือมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ห้ามมิให้เข้าไปยึดถือครอบครองรวมตลอดถึงการก่นสร้างหรือเผาป่า ผู้ที่ฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 108 ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 2 เข้ายึดถือครอบครองที่พิพาทโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมมีความผิดดังที่กล่าวหากคดีอาญาได้ระงับลงเพราะความตายของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะชนะคดี นายสุมินทร์เกี่ยวกับที่พิพาทก็เป็นเรื่องระหว่างราษฎรกับราษฎรว่าผู้ใดมีสิทธิครอบครองดีกว่ากันกรณีนี้เป็นเรื่องระหว่างรัฐหรือแผ่นดินกับราษฎรซึ่งผู้ร้องเป็นผู้มีอำนาจดูแลรักษาที่รกร้างว่างเปล่า จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีสิทธิที่จะอ้างคำพิพากษาคดีดังกล่าว หรือการครอบครองที่ผิดกฎหมายมายันผู้ร้องได้ เมื่อฟังว่าที่พิพาทเป็นของรัฐหรือแผ่นดินมิใช่ของจำเลยที่ 2 โจทก์ก็ไม่มีสิทธิบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้

พิพากษายืน

Share