คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 458/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาสำหรับบุตรด้วยจำนวนหนึ่งจำเลยให้การต่อสู้ฟ้องข้อนี้ว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ขาดอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชดใช้ เป็นข้ออ้างข้อเถียงอันเกิดจากคำฟ้องและคำให้การเป็นประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ได้หรือไม่
ฟ้องโจทก์บรรยายว่า ผู้ตายซึ่งเป็นบิดามีบุตรกับโจทก์ 4 คน พร้อมทั้งระบุชื่อและอายุของบุตรทุกคน บุตรเหล่านี้อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ตายขณะยังมีชีวิตเมื่อผู้ตายตายบุตรเหล่านี้ขาดที่พึ่งและผู้อุปการะเลี้ยงดู จึงขอเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูของบุตรเหล่านี้ ดังนี้ มีความหมายพอเข้าใจได้ว่าบุตรเหล่านี้ขอเรียกค่าเสียหายตามสิทธิของตนนั่นเองแต่เพราะเหตุที่บุตรเหล่านี้มีอายุอย่างสูงเพียง 6 ปี ฟ้องด้วยตนเองไม่ได้โจทก์ซึ่งเป็นมารดาจึงฟ้องแทนตามฟ้อง ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องในนามของบุตรโดยปริยาย
มารดาไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรจากผู้ทำละเมิดต่อบิดาของบุตรในนามของมารดาเพราะค่าเสียหายส่วนนี้เป็นค่าเสียหายของบุตรที่ขาดการอุปการะเลี้ยงดู

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างเพื่อรับส่งคนโดยสารด้วยความประมาทชนรถสามีโจทก์ ทำให้สามีโจทก์ถึงแก่ความตาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุที่รถชนกันไม่ใช่ความประมาทของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ใช่ภริยาชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ไม่มีอำนาจฟ้อง ค่าเสียหายบางรายการไม่มีกฎหมายให้เรียกร้อง บางรายการไม่มีสิทธิเรียก บางรายการเกินกว่าเหตุ

ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ 1 ขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ชนสามีโจทก์ตาย จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิด ค่าเสียหายที่ทรมานจิตใจ ค่าเสียชีวิตเรียกไม่ได้ นอกนั้นเรียกได้ทุกรายการ

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายค่าอุปการะเลี้ยงดูของบุตร พิพากษาแก้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยโดยตนเอง

โจทก์ฎีกาว่า จำเลยไม่ได้ให้การว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูแทนบุตร โจทก์เป็นมารดามีสิทธิฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรในนามของตนเองได้ และถือได้ว่าเป็นฟ้องในนามของบุตรโดยปริยาย

ศาลฎีกาเห็นว่าตามฟ้องโจทก์ได้เรียกค่าสินไหมทดแทน อันเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาสำหรับบุตรด้วยจำนวนหนึ่งเป็นเงิน 96,000 บาท จำเลยให้การต่อสู้ฟ้องข้อนี้ว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ขาดการอุปการะเลี้ยงดู โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชดใช้ ซึ่งเป็นข้ออ้างข้อเถียงอันเกิดจากคำฟ้องและคำให้การว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายส่วนนี้ได้หรือไม่ จึงเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีที่ศาลจะวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ได้ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้นั้นฟังไม่ขึ้น เพราะตามคำให้การข้อ 5(ค) จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีโจทก์สำหรับฟ้องข้อนี้ไว้ชัดแจ้งแล้ว อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ต่อสู้ เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)

ที่ว่า โจทก์ซึ่งเป็นมารดามีสิทธิฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรจากผู้ทำละเมิดต่อบิดาของบุตรในนามของตนเองได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ คือฟ้องในนามของตนเองไม่ได้เพราะค่าเสียหายส่วนนี้เป็นค่าเสียหายของบุตรที่ขาดการอุปการะเลี้ยงดู ตัวโจทก์ไม่ใช่ผู้ขาดการอุปการะเลี้ยงดูเอง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย

ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า ผู้ตายมีบุตรกับโจทก์ 4 คน พร้อมทั้งระบุชื่อและอายุของบุตรทุกคน บุตรเหล่านี้อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ตายซึ่งเป็นบิดาเมื่อยังมีชีวิต ครั้นบิดาตายแล้วบุตรทั้ง 4 ก็ขาดที่พึ่งและผู้อุปการะเลี้ยงดูต่อไป จึงขอเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูของบุตรทั้ง 4 นั้น ซึ่งมีความหมายพอเป็นที่เข้าใจได้ว่า บุตรเหล่านั้นขอเรียกค่าเสียหายตามสิทธิของตนนั่นเอง แต่เพราะเหตุที่บุตรทั้ง 4 มีอายุอย่างสูงเพียง 6 ปียังฟ้องเองไม่ได้ โจทก์ซึ่งเป็นมารดาจึงฟ้องแทน ตามฟ้องจึงถือได้ว่า โจทก์ฟ้องในนามของบุตรโดยปริยาย

พิพากษาแก้เป็นให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share