แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อที่ดินพิพาทมิได้อยู่ในแนวเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯการดำเนินการเวนคืนที่ดินพิพาทโดยกรุงเทพมหานครจึงเป็นการกระทำไปโดยปราศจากอำนาจ การที่กรุงเทพมหานครโอนที่ดินพิพาทกลับคืนให้โจทก์เป็นการกระทำโดยชอบแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทถูกเวนคืนโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ-บางโคล่ฯ ซึ่งมีผู้ว่าของจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนและตามบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ต้องเวนคืนท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังคงมีชื่อโจทก์กับ ส. และ ณ. เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอยู่ ซึ่งบุคคลทั้งสามมอบอำนาจให้ทนายโจทก์มีหนังสือขอให้จำเลยนำเงินค่าทดแทนที่ดินมาชำระแล้วแต่จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการให้มีการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและจ่ายเงินทดแทนที่ดินให้แก่ฝ่ายโจทก์ตามขั้นตอนของกฎหมาย ทำให้ฝ่ายโจทก์ไม่มีโอกาสที่จะดำเนินการอุทธรณ์หรือฟ้องเรียกร้องเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของฝ่ายโจทก์แล้ว และการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมยื่นฟ้องถือว่าเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลตามพระราชกฤษฎีกาแต่ต่อมาภายหลังความจริงปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวมิได้อยู่ในแนวเขตที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลกรุงเทพมหานครจึงโอนที่ดินคืนให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองที่ดินดังกล่าวได้เนื่องจากจำเลยได้สร้างทางพิเศษบนที่ดินดังกล่าวแล้ว โจทก์ทวงถามให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนทางพิเศษบนที่ดินของโจทก์ หากไม่สามารถรื้อถอนให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดิน 2,000,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เดิมที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาล โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนวน363,919 บาท จากกรุงเทพมหานครแล้วที่ดินของโจทก์ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ ที่ดินดังกล่าวอยู่ในแนวเขตที่ดินที่ถูกเวนคืนและกรุงเทพมหานครอนุญาตให้จำเลยใช้ที่ดินแปลงนี้โดยไม่ต้องเสียเงินค่าทดแทน จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินและมิได้รับมอบอำนาจจากนายสมชายสุวรรณพิไชยศรี และนางสาวสุณีย์ สุวรรณพิไชยศรี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยใช้ที่ดินเนื้อที่เพียง 10 ตารางวา โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนตารางวาละ 37,000 บาท รวมเป็นเงิน 370,000 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนจากทางราชการเป็นเงิน 363,919 บาท และยังมิได้คืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ทางราชการ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า ในปี 2535มีการเวนคืนที่ดินพิพาทตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2535 ทำการเวนคืนโดยจำเลย ขณะเวนคืนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 17497 เป็นกรรมสิทธิ์ของกรุงเทพมหานคร โจทก์แถลงว่าประสงค์เรียกเงินค่าทดแทนที่ดินในราคาตารางวาละ 37,000 บาท จำเลยแถลงว่าที่ดินแนวเดียวกันและใกล้เคียงกับของโจทก์มีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของที่ดินไปในราคาตารางวาละ 37,000 บาท และคู่ความแถลงรับว่า เดิมในปี 2534 กรุงเทพมหานครทำการเวนคืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์โดยกรุงเทพมหานครกำหนดเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างเป็นเงินจำนวน 391,892 บาท เงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน70,000 บาท และต่อมาได้จ่ายเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์293,919 บาท จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินจำนวน 70,000 บาท ต่อมาในปี 2539 กรุงเทพมหานครได้เพิกถอนการเวนคืนที่ดินพิพาทของโจทก์โดยให้เหตุผลว่า สำคัญผิดว่าที่ดินของโจทก์อยู่ในแนวเวนคืนของกรุงเทพมหานคร ภายหลังตรวจสอบแล้วมิได้อยู่ในแนวเวนคืนของกรุงเทพมหานคร จึงโอนกรรมสิทธิ์กลับคืนมาเป็นของโจทก์ดังเดิมคู่ความแถลงไม่ประสงค์สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 444,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ 16 เมษายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 370,000 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าเดิมโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 17497ตำบลวัดพระยาไกร (บ้านทวาย) อำเภอยานนาวา (บางรัก) จังหวัดพระนครเนื้อที่ 14 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอนและแขวงบางโคล่ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2526 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงบางโคล่ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2531 เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาล กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเวนคืนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ และได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2534 แต่ปลายปี 2530 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางเขน เขตดุสิต เขตพญาไทเขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตยานนาวา เขตห้วยขวาง เขตบางกะปิเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2530 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ และต่อมามีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ในท้องที่อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางซื่อเขตจตุจักร เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตห้วยขวาง เขตปทุมวัน เขตบางรักเขตสาธร เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2535ที่ดินพิพาทอยู่ในแนวเขตที่ดินที่ถูกเวนคืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเนื้อที่ 10 ตารางวา และกรุงเทพมหานครอนุญาตให้จำเลยใช้ที่ดินพิพาทนี้ต่อมาภายหลังความปรากฏว่าที่ดินพิพาทมิได้อยู่ในแนวเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงบางโคล่ เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 กรุงเทพมหานคร จึงดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของโจทก์โดยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2539 อธิบดีกรมที่ดินได้สั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนการโอนเมื่อวันที่ 12กรกฎาคม 2534 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่ากรุงเทพมหานครดำเนินการทางธุรการผิดพลาด แจ้งกรมที่ดินให้เพิกถอนการจดทะเบียนของโฉนดเลขที่ 17497 และได้จดทะเบียนโอนเป็นชื่อของโจทก์กับพวกเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2539 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากที่ดินตกเป็นของจำเลยแล้วตั้งแต่ปี 2535 ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2535 การที่กรุงเทพมหานครโอนที่ดินให้แก่โจทก์โดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบเพื่อคัดค้านจึงตกเป็นโมฆะ อีกทั้งการฟ้องคดีนี้โจทก์ไม่ได้รับมอบอำนาจจากนายสมชาย สุวรรณพิไชยศรี และนางสาวสุณีย์ สุวรรณพิไชยศรี เจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ และโจทก์ก็ไม่ได้อุทธรณ์และฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 อีกทั้งโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินจากกรุงเทพมหานครจำนวน 70,000 บาท ไปแล้วยังไม่ได้คืนให้กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงไม่ใช่ฝ่ายเสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และเป็นการเรียกค่าทดแทนซ้ำซ้อนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า เมื่อความปรากฏว่าที่ดินพิพาทมิได้อยู่ในแนวเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงยานนาวา แขวงทุ่งวัดดอน และแขวงบางโคล่ เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2531 ดังนั้น การดำเนินการเวนคืนที่ดินพิพาทโดยกรุงเทพมหานครจึงเป็นการกระทำไปโดยปราศจากอำนาจและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การที่กรุงเทพมหานครโอนที่ดินพิพาทกลับคืนให้โจทก์เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2539 เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทถูกเวนคืนโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่พ.ศ. 2535 ซึ่งมีผู้ว่าการของจำเลยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน และตามบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ต้องเวนคืนท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนี้ยังคงมีชื่อโจทก์กับนายสมชายและนางสาวสุณีย์เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอยู่ ทั้งโจทก์กับนายสมชายและนางสาวสุณีย์ได้มอบอำนาจให้ทนายโจทก์มีหนังสือ ขอให้จำเลยนำเงินค่าทดแทนที่ดินมาชำระให้แก่โจทก์กับนายสมชายและนางสาวสุณีย์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ดำเนินการให้มีการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่ฝ่ายโจทก์ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ฝ่ายโจทก์ย่อมไม่มีโอกาสที่จะดำเนินการอุทธรณ์หรือฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ถือได้ว่าจำเลยกระทำการโต้แย้งสิทธิของฝ่ายโจทก์แล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ และการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทที่ถูกเวนคืนคนหนึ่งยื่นฟ้องให้จำเลยรื้อถอนทางพิเศษในส่วนบริเวณที่ปลูกสร้างอยู่บนโฉนดเลขที่ 17497 หากไม่สามารถที่จะรื้อถอนได้ ก็ให้จำเลยชำระค่าทดแทนที่ดิน ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359โจทก์จึงไม่ต้องได้รับมอบอำนาจจากนายสมชายและนางสาวสุณีย์เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกับโจทก์เสียก่อน โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาอ้างว่าโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทจำนวน 70,000 บาท ไปจากกรุงเทพมหานครแล้ว และศาลชั้นต้นไม่ได้สั่งให้คืนเงินค่าทดแทนแก่กรุงเทพมหานคร จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เนื่องจากศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้เพียงสองข้อคือ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และจำเลยจะต้องรับผิดจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์หรือไม่ โดยมิได้กำหนดประเด็นเรื่องที่โจทก์จะต้องคืนเงินค่าทดแทนที่ดินพิพาทที่รับมาแล้วแก่กรุงเทพมหานครหรือไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ด้วย เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งในการกำหนดประเด็นข้อพิพาทจึงถือว่าจำเลยได้สละประเด็นข้อนี้แล้ว และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้ชอบแล้ว ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาเกินหรือนอกเหนือคำฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่งปรากฏว่าในตอนพิพากษาศาลอุทธรณ์มิได้ระบุไว้ด้วย จึงเห็นสมควรระบุไว้ให้ชัดเจน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์