คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 484/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่เจ้าหน้าที่นำเอกสารเข้ารวมสำนวน แล้วลงเลขอันดับของเอกสารไว้ ไม่อาจถือเป็นหลักได้ว่าเอกสารเรียงลำดับก่อนหลังกันถูกต้องตามนั้นเสมอไป

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากแดนกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินของโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “โจทก์ยื่นคำแถลงขออ้างพยานเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.16 ในวันเดียวกับวันนัดสืบพยานจำเลย ซ้ำวันนั้นมีการสืบพยานจำเลย 2 ปาก การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตก็น่าจะเป็นเพราะ เห็นว่าโจทก์ได้ยื่นต่อศาลก่อนที่ได้เสร็จการสืบพยานหลักฐานของจำเลย ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อน ที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ยื่นภายหลังที่จำเลยสืบพยานเสร็จจนศาลได้ลงจากบัลลังก์พิจารณาไปแล้ว โดยขอให้สังเกตจากเลขอันดับของเอกสารในสำนวนนั้น การที่เจ้าหน้าที่นำเอกสารเข้ารวมสำนวนจะถือเอาเป็นหลักดังจำเลยว่าเสมอไปหาได้ไม่ ดังจะเห็นได้จากการที่จำเลยขออ้างพยานเพิ่มเติมลงวันที่ 10ตุลาคม 2518 เจ้าหน้าที่ได้เอาบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ซึ่งควรอยู่ท้ายคำแถลงขออ้างพยานเพิ่มเติมติดไว้ในสำนวนไว้เป็นอันดับ 19 เอาคำแถลงขออ้างพยานเพิ่มเติมซึ่งควรจะอยู่หน้าบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ติดไว้ในอันดับที่ 23 (ดูเลขรับของเจ้าหน้าที่และคำสั่งศาลประกอบ) ดังนี้เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อ้างพยานเอกสารดังกล่าว แล้วย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้”

พิพากษายืน

Share