คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1448/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญากันว่าจำเลยที่ 1 ต้องทำสุราออกขายไม่น้อยกว่าเดือนละ 9,192 เท และยอมเสียภาษีสุราไม่น้อยกว่าเดือนละ 9,192 เท เดือนใดเสียภาษีสุราต่ำกว่าจำนวนดังกล่าวนี้ จำเลยที่ 1 ยอมเสียค่าปรับเท่ากับภาษีสุรา ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที และจำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้เงินค่าภาษีหรือเงินอื่นใดที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถทำสุราออกขายได้ตามจำนวนดังกล่าว และค้างชำระเงินค่าปรับเป็นจำนวนนับล้านบาท โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยผลแห่งข้อสัญญา หาใช่ว่าจะต้องเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งซึ่งออกตามกฎหมายเฉพาะกฎหมายสุราจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ไม่
เบี้ยปรับตามสัญญาก็คือ ค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้าเพื่อชดใช้แก่กันหากอีกฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้
กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันและประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 2 เห็นได้ชัดว่ากระทำในฐานะกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 มิใช่กระทำในฐานะส่วนตัวและยังปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับรองการทำสัญญาดังกล่าวของกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญา แม้ข้อบังคับของจำเลยที่ 2 จะมีว่ากรรมการจะต้องลงนามร่วมกัน 2 คนจึงจะทำการแทนบริษัทได้ ก็เป็นเรื่องการจำกัดอำนาจกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 อันเป็นคนละกรณีกับการกระทำโดยทางตัวแทน
ในกรณีที่การบอกเลิกสัญญาไม่ทำให้หนี้ที่เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้วระงับสิ้นลง จนกว่าลูกหนี้จะชำระหนี้นั้น แม้เจ้าหนี้ได้บอกเลิกสัญญากับลูกหนี้ก็หาทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ทำและขายสุราประเภทเสียภาษีรายเทมีกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2508 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2517 โดยจำเลยที่ 1 จะต้องทำสุราออกขายให้ได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 9,192 เท และยอมเสียภาษีสุราไม่น้อยกว่าเดือนละ 9,192 เท (ค่าภาษีเทละ 44 บาท 80 สตางค์) เป็นเงินไม่น้อยกว่าเดือนละ 411,801 บาท 60 สตางค์ ถ้าเดือนใดเสียภาษีต่ำกว่ากำหนดจำเลยที่ 1 ยอมเสียค่าปรับเท่ากับค่าภาษีสุราจนครบภายในวันที่ 22 ของเดือนถัดไปพ้นกำหนด 15 วันยังไม่ชำระ โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้เงินที่ค้างชำระ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันเป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 1,235,404 บาท 80 สตางค์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยเสียภาษีสุราต่ำกว่าที่กำหนด ค้างชำระค่าปรับรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 6,049,181 บาท 49สตางค์ โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันไว้อีกเป็นเงิน 1,856,768 บาท โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 และแจ้งให้ชำระเงินแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาที่ทำกับโจทก์เป็นสัญญาต่างตอบแทน โจทก์มีหน้าที่ให้จำเลยได้สิทธิตามสัญญาจนครบกำหนด โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ข้อกำหนดในสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ไม่มีผลบังคับ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย เพราะได้นำสิทธิตามสัญญาออกประมูลให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแล้ว

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ผู้ลงนามในสัญญาค้ำประกันไม่มีอำนาจทำนิติกรรมแทนจำเลยที่ 2 อย่างไรก็ดีเมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาที่ทำกับจำเลยที่ 1 ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ก็หมดไป จำเลยที่ 2 จึงพ้นความรับผิดไปด้วย

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าปรับภาษีสุราที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ 2 ชำระตามจำนวนที่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1ต้องทำสุราออกขายไม่น้อยกว่าเดือนละ 9,192 เท และต้องเสียภาษีสุราไม่น้อยกว่าเดือนละ 9,192 เท (คิดเป็นเงินเดือนละ 411,801 บาท 60 สตางค์) ในเดือนใดเสียภาษีสุราต่ำกว่าจำนวนดังกล่าวนี้ จำเลยที่ 1 ยอมเสียค่าปรับเท่ากับภาษีสุรา ถ้าไม่ปฏิบัติตามสัญญาโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที และจำเลยที่ 1ยินยอมชดใช้เงินค่าภาษีหรือเงินอื่นใดที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถทำสุราออกขายได้ตามจำนวนดังกล่าวและค้างชำระเงินค่าปรับเป็นจำนวนนับล้านบาท โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยข้อสัญญา หาใช่ว่าจะต้องเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งซึ่งออกตามกฎหมายเฉพาะกฎหมายสุราจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ไม่

การที่จำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าปรับเท่ากับภาษีสุราโดยนัยแห่งข้อสัญญาจำเลยที่ 1 จะอ้างให้เป็นการผิดแผกไปจากข้อสัญญาว่าเมื่อมิได้จำหน่ายสุราก็ไม่มีเงินค่าภาษีสุราที่จะต้องเสียหรือโจทก์ไม่เสียหายไม่ได้ เพราะเบี้ยปรับตามสัญญาก็คือค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้าเพื่อชดใช้แก่กันหากอีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญานั่นเอง

กรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันและประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 2 เห็นได้ชัดว่ากระทำในฐานะกรรมการผู้จัดการซึ่งเป็นตัวแทนหรือตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 มิใช่กระทำในฐานะส่วนตัว นอกจากนั้นยังปรากฏว่าเมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 เท้าความว่าจำเลยที่ 2ได้ออกหนังสือค้ำประกันรายนี้ แสดงว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับรองการทำสัญญาของกรรมการผู้จัดการตลอดมา จึงต้องรับผิด แม้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2กรรมการจะต้องลงนามร่วมกัน 2 คนจึงจะทำการแทนบริษัทได้ ก็เป็นเรื่องของการจำกัดอำนาจกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 75 เป็นคนละกรณีกับการกระทำโดยทางตัวแทนดังกล่าวข้างต้น

ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า สัญญาค้ำประกันมีผลใช้บังคับเฉพาะในเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังมีความรับผิดชอบต่อโจทก์เท่านั้น เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 สัญญาค้ำประกันย่อมหมดผลบังคับทันที โจทก์จึงเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดไม่ได้นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ในเรื่องเช่นนี้ไม่ทำให้หนี้ที่เกิดขึ้นก่อนนั้นระงับสิ้นลงจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 2 จึงยังไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698

พิพากษายืน

Share