คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1895/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ได้รับสัมปทานเดินรถ แล้วให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์เข้าร่วมเดิน ทาสีบอกเครื่องหมายเหมือนรถของจำเลยที่ 3 คนขับและคนขายตั๋วก็แต่งตัวเหมือนพนักงานของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ควบคุมการเดินรถของจำเลยที่ 2 เช่นเดียวกับรถของจำเลยที่ 3 และได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์ค่าขายตั๋วเป็นค่าบริการของจำเลยที่ 3 เช่นนี้ ถือได้ว่าการเดินรถคันเกิดเหตุเป็นกิจการของจำเลยที่ 3จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ก่อขึ้นตามทางการที่จ้าง(ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 841/2510)
ผลของการละเมิดของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหาย โดยทุพพลภาพตลอดชีวิต โจทก์จึงเรียกค่าการที่เสียความสามารถประกอบงานอาชีพได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 และความทุพพลภาพที่เกิดขึ้นยังเข้ากรณีเป็นความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 โจทก์จึงเรียกได้ทั้งสองประการ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 นำรถยนต์เข้าร่วมบริการรับจ้างคนโดยสารอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขับรถโดยประมาทชนโจทก์บาดเจ็บ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามใช้ค่าสินไหมทดแทน

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลย ที่ 2 ฯลฯ

จำเลยที่ 3 ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเอง ฯลฯ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 68,620 บาท พร้อมดอกเบี้ย ฯลฯ

จำเลยที่ 3 ผู้เดียวอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 ได้รับสัมปทานเดินรถ แล้วให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์เข้าร่วมเดิน ทาสีบอกเครื่องหมายเหมือนรถของจำเลยที่ 3 คนขับและคนขายตั๋วก็แต่งตัวเหมือนพนักงานของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ควบคุมการเดินรถของจำเลยที่ 2 เช่นเดียวกับรถของจำเลยที่ 3 และได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์ค่าขายตั๋วเป็นค่าบริการของจำเลยที่ 3 เช่นนี้ ถือได้ว่าการเดินรถคันเกิดเหตุเป็นกิจการของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยในเหตุละเมิดที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ก่อขึ้นตามทางการที่จ้าง ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 841/2510 จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดชอบกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อโจทก์ ในผลความเสียหายทั้งสิ้นที่โจทก์ได้รับ ซึ่งหมายความว่าจำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดในค่าเสียหายของโจทก์สิ้นเชิง มิใช่แบ่งกันรับผิดดังจำเลยที่ 3 ฎีกา

จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ได้รับค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ไม่สามารถประกอบอาชีพอยู่แล้ว จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าบาดเจ็บทุพพลภาพตลอดชีวิต เพราะเป็นค่าเสียหายที่ซ้ำกัน

ศาลฎีกาเห็นว่า ผลการละเมิดของจำเลยทำให้โจทก์เสียหายโดยทุพพลภาพตลอดชีวิตและทำให้ไม่สามารถประกอบงานอาชีพได้ตลอดชีวิตอีกด้วย โจทก์จึงเรียกค่าการที่เสียความสามารถประกอบงานอาชีพได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 444 และความทุพพลภาพที่เกิดขึ้นยังเข้ากรณีเป็นความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายได้ทั้งสองประการ ไม่ซ้ำกัน

พิพากษายืน

Share