แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลในข้อหาเดียวกัน บทมาตราที่ขอให้ลงโทษก็เช่นเดียวกันโดยอาศัยหนังสือของจำเลยฉบับเดียวกันเป็นมูลฟ้องร้อง และโจทก์ได้ถอนฟ้องคดีนั้นไปจากศาลแล้ว โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยอีกหาได้ไม่ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36
หนังสือที่จำเลยกล่าวหาโจทก์ฉบับเดียว แต่บรรยายการกระทำของโจทก์เป็น 3 ข้อ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำเพียงครั้งเดียวและกรรมเดียว มิใช่ต่างกรรมต่างวาระ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเพียงครั้งเดียว จะแบ่งฟ้องเป็นข้อเป็นตอนไม่ได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 908/2496)
แม้จะเป็นการถอนฟ้องที่ยังไม่ได้มีการไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม ก็อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำมาฟ้องใหม่อีกไม่ได้ เพราะถือว่าได้มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำหนังสือแจ้งข้อความเท็จต่อปลัดกระทรวงยุติธรรมผู้เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ว่าโจทก์เอาทรัพย์สินทางราชการไปใช้ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ลงโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2506 ข้อ 28
ในวันไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์รับว่าโจทก์อาศัยหนังสือของจำเลยที่มีไปถึงปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นมูลฟ้อง และหนังสือดังกล่าวโจทก์เคยนำไปฟ้องต่อศาลจังหวัดพิษณุโลกมาแล้ว แต่โจทก์ถอนฟ้องและศาลได้อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องไปแล้ว ศาลชั้นต้นจึงสั่งงดไต่สวนมูลฟ้อง แล้วมีคำสั่งว่า โจทก์เคยนำหนังสือฉบับเดียวกันนี้ไปฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดพิษณุโลกในข้อหาเดียวกัน และบทมาตราที่ขอให้ลงโทษก็เป็นบทมาตราเดียวกัน แล้วโจทก์ก็ถอนฟ้องเสีย โจทก์จะนำหนังสือฉบับเดียวกันนี้ ซึ่งโจทก์เคยฟ้องจำเลยมาแล้ว มาเป็นมูลเหตุฟ้องร้องอีกไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อทางพิจารณาปรากฏว่าโจทก์เคยฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดพิษณุโลกในข้อหาเดียวกัน บทมาตราที่ขอให้ลงโทษก็เช่นเดียวกัน โดยอาศัยหนังสือของจำเลยที่ 5/2511 ลงวันที่ 24 มกราคม 2511 มาเป็นมูลฟ้องร้องก็เช่นเดียวกันอีก และโจทก์ได้ถอนฟ้องคดีนั้นไปจากศาลแล้ว โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยอีกหาได้ไม่เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36
ที่โจทก์ฎีกาว่า ตามหนังสือของจำเลยมีถึงปลัดกระทรวงยุติธรรมหาว่าโจทก์กระทำความผิดถึง 3 อย่าง จำเลยจึงต้องมีความผิดทั้ง 3 อย่าง เพราะเป็นการกระทำที่ต่างกรรมต่างวาระกัน มิใช่ครั้งเดียวกรรมเดียวนั้น ปรากฏว่าเป็นหนังสือฉบับเดียว หากแต่บรรยายการกระทำของโจทก์เป็น 3 ข้อ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำเพียงครั้งเดียวและกรรมเดียวเท่านั้น หาใช่ต่างกรรมต่างวาระกันไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยได้เพียงครั้งเดียวจะแบ่งฟ้องเป็นข้อเป็นตอนไม่ได้ดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 908/2496
ที่โจทก์ฎีกาว่า การถอนฟ้องจะกระทำได้ต่อเมื่อศาลได้รับประทับฟ้องไว้เท่านั้นและไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า การถอนฟ้องก่อนไต่สวนมูลฟ้องจะนำมาฟ้องอีกไม่ได้นั้น เห็นว่า แม้จะเป็นการถอนฟ้องที่ยังไม่ได้มีการไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม ก็อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำมาฟ้องใหม่อีกไม่ได้เช่นกัน เพราะถือว่าได้มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลโดยถูกต้องแล้ว
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์