แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า “ของเก่า” ตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ.2474 มาตรา 3 นั้นหมายความว่า ทรัพย์ที่เสนอขายแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายโดยประการอื่นอย่างทรัพย์ที่ใช้แล้ว ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นของที่ใช้แล้วเสมอไป
ผู้ประกอบการค้ารายใดจะต้องเสียภาษีการค้าในอัตราภาษีร้อยละเท่าใดของรายรับ จะต้องพิจารณาถึงประเภทการค้าที่ผู้นั้นกระทำ และรายการที่ประกอบการค้าตลอดจนตัวผู้ประกอบการค้าที่มีหน้าที่เสียภาษีประมวลเข้าด้วยกัน จะพิจารณาเพียงแต่ชนิดของรายการที่ประกอบการค้าหรือบุคคลผู้ประกอบการค้าอย่างใดอย่างหนึ่งหาได้ไม่
โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าประเภทการค้า 1 การขายของ รายการประกอบการค้าชนิดหนึ่ง 1(ก) มีหน้าที่เสียภาษีการค้าในฐานะผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตในอัตราร้อยละ 5 ของรายรับ แม้โจทก์จะสั่งสินค้ารถยนต์บรรทุกและเครื่องอะไหล่ซึ่งเป็นของเก่าใช้แล้วจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย แต่เมื่อโจทก์มิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานให้เป็นผู้ค้าของเก่าตามกฎหมาย ก็หาได้ชื่อว่า โจทก์เป็นผู้ขายทุกทอด ประเภทการค้า 1 การขายของชนิด 7(ค) ของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการค้าของเก่าไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้สั่งสินค้ารถยนต์บรรทุกและเครื่องอะไหล่จากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งเป็นของเก่าใช้แล้วมีลักษณะเป็นของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการค้าของเก่าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าแห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ได้ชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลสำหรับสินค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยในอัตราร้อยละ 5 ของรายรับเป็นเงิน 370,318 บาท 56 สตางค์ ต่อมาโจทก์ได้ทราบว่าได้มีพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีการค้าสำหรับชนิด 7(ค) เฉพาะของเก่าที่มิใช่วัตถุโบราณหรือศิลปวัตถุเหลือเพียงร้อยละ 1.5 ซึ่งมีผลใช้บังคับก่อนโจทก์ชำระค่าภาษี ฉะนั้นโจทก์จึงชำระค่าภาษีให้จำเลยเกินไปร้อยละ 3.5 คิดเป็นเงิน 259,222 บาท 98 สตางค์ จำเลยไม่มีสิทธิยึดเงินส่วนเกินนั้นไว้ได้ เพราะปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายโจทก์มีหนังสือขอคืนจำเลยปฏิเสธ ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า โดยจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการค้าประเภทการค้า 1 การขายของชนิด 1(ก) รายการที่ประกอบการค้าคือจำหน่ายเครื่องอะไหล่รถยนต์สามล้อในฐานะผู้นำเข้า โจทก์มิได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบการค้าของเก่าตามพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 โจทก์เสียภาษีร้อยละ 5 ถูกต้องแล้ว
วันชี้สองสถาน โจทก์จำเลยรับกันว่า โจทก์เพิ่งจดทะเบียนใบอนุญาตทำการค้าของเก่ารถยนต์และเครื่องอะไหล่ ภายหลังที่ชำระภาษีตามฟ้องแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ปัญหามีว่า โจทก์จะต้องเสียภาษีการค้าสำหรับสินค้ารถยนต์บรรทุกและเครื่องอะไหล่ซึ่งเป็นของใช้แล้วในอัตราร้อยละเท่าใดของรายรับ ตามบัญชีอัตราภาษีการค้า
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าแห่งประมวลรัษฎากรแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2504 นั้น ได้กำหนดอัตราภาษีที่ผู้ประกอบการค้าจะต้องเสียภาษีเป็นอัตราร้อยละของรายรับมีจำนวนแตกต่างกันสุดแต่ประเภทการค้า รายการที่ประกอบการค้า และผู้ประกอบการค้าที่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าแต่ละรายการ ฉะนั้น การที่จะทราบว่า ผู้ประกอบการค้ารายใดจะต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละเท่าใดของรายรับ ก็จะต้องพิจารณาถึงประเภทการค้าที่ผู้นั้นพึงกระทำและรายการที่ประกอบการค้าตลอดจนผู้ประกอบการค้าที่ต้องเสียภาษีนำมาประมวลเข้ากันแล้วจึงจะชี้ขาดลงไปได้ว่า ผู้ประกอบการค้ารายนั้นจะต้องเสียภาษีในอัตราเท่าใด หาใช่พิจารณาแต่เพียงชนิดของรายการที่ประกอบการค้าหรือบุคคลผู้ประกอบการค้าอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นสำคัญ ดังที่โจทก์ฎีกานั้นไม่ การที่ศาลล่างยึดหลักการแปลความหมายของคำว่าของเก่าประเภทการขายของชนิด 7(ค) ตามบัญชีอัตราภาษีการค้านั้น เป็นการแปลความหาายตามตัวบทกฎหมาย ซึ่งบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งถูกต้องแล้ว หาใช่เป็นการแปลเพื่อตัดสิทธิ์ของโจทก์แต่อย่างใดไม่ โดยเฉพาะในกรณีของโจทก์ระหว่างที่โจทก์เสียภาษีการค้า โจทก์เป็นเพียงผู้ประกอบการค้าประเภทการค้า 1 การขายของ รายการประกอบการค้าชนิด 1(ก) มีหน้าที่เสียภาษีในฐานะผู้นำเข้าหรือผู้ผลิต ในอัตราร้อยละ 5 ของรายรับ แม้โจทก์จะนำสินค้าที่เป็นของใช้แล้วเข้ามา ก็หาได้ชื่อว่าโจทก์เป็นผู้ขายทุกทอด ประเภทการค้า 1 การขายของชนิด 7(ค) ของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการค้าของเก่าไม่ แม้คำว่า ของเก่าตามที่โจทก์เอาคำนิยามจากพระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและการค้าของเก่าพ.ศ. 2474 มาตรา 3 มาใช้ ซึ่งบัญญัติว่า “ของเก่า” หมายความว่าทรัพย์ที่เสนอขายแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายโดยประการอื่นอย่างทรัพย์ที่ใช้แล้ว ทั้งนี้รวมถึงของโบราณด้วย เพื่อให้ตรงกับสินค้าที่โจทก์สั่งมาว่าเป็นทรัพย์ที่ใช้แล้วนั้น ศาลฎีกายังเห็นว่า สินค้าที่ใช้แล้วของโจทก์ยังหาต้องด้วยคำนิยามตามกฎหมายที่ว่านั้นไม่เพราะความหมายของคำว่า “ของเก่า” ตามมาตรา 3 ดังกล่าว หมายความถึงทรัพย์ที่เสนอขายแลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายโดยประการอื่นอย่างทรัพย์ที่ใช้แล้ว ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นของที่ใช้แล้วเสมอไป และยิ่งไปกว่านั้นตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งแก้ไขแล้วนั้นยังบัญญัติเป็นใจความว่า ผู้จะค้าของเก่านี้จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานเสียก่อน ทั้งผู้ประกอบการค้าจะต้องมีคุณสมบัติถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6, 8 ด้วย เมื่อโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ค้าของเก่าในปี 2506 และ 2507 ซึ่งโจทก์ได้เสียภาษีการค้าไปแล้วนั้น สินค้าที่โจทก์นำเข้ามาแม้จะเป็นของที่โจทก์เสนอขายอย่างทรัพย์ที่ใช้แล้ว ก็หาใช่ของเก่าตามความหมายในรายการประกอบการค้าชนิด 7(ค) ไม่ ที่โจทก์เสียภาษีตามรายการประกอบการค้าชนิด 1(ก) ถูกต้องแล้ว ไม่มีสิทธิเรียกคืนค่าภาษีจากจำเลย
พิพากษายืน