คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 21 กล่าวถึงบุคคลที่กระทำการรังแก ข่มเหง ผู้อื่น หรือประกอบอาชีพในทางผิดกฎหมายบางจำพวกว่าเป็นบุคคลที่ประพฤติตนเป็นอันธพาลโดยมิได้จำแนกไว้โดยชัดเจนว่าบุคคลเหล่านั้นรังแกข่มเหงขู่เข็ญหรือรบกวนผู้อื่นเป็นลักษณะความผิดอะไรบ้างส่วนหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 2498/2502 กล่าวถึงผู้กระทำผิดในคดีฉุดคร่าอนาจาร ล่อลวงข่มขืน และลวงไปฆ่าว่าเป็นภัยแก่สังคมทั้งนี้ความผิดดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นการรังแกข่มเหงผู้อื่นตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 นั่นเองจึงเท่ากับเป็นการชี้ถึงความผิดทั้ง 4 ประเภทโดยเฉพาะว่าเป็นการกระทำของบุคคลที่ประพฤติตนเป็นอันธพาล
ผู้เสียหายถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานพยายามข่มขืน กระทำชำเราและกระทำอนาจารการกระทำของผู้เสียหายจึงเข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 21 และหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่2498/2502 จำเลยจึงมีอำนาจควบคุมตัวไว้เพื่อสอบสวนได้ไม่เกิน 30 วัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยแกล้งขังโจทก์เป็นบุคคลอันธพาล โดยไม่ได้สอบสวนเสียก่อนว่าโจทก์เป็นบุคคลอันธพาลหรือไม่ และไม่ได้รายงานขออนุญาตหัวหน้าสถานีตำรวจขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 150, 165, 200, 309, 310, 157, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157, 310

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2502 มาตรา 13 และมาตรา 310 ลงโทษตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทหนักให้จำคุก 1 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ด้วยและขอไม่ให้รอการลงโทษ

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางสาวประยูรได้แจ้งความต่อจำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนว่า นายคำผุยกับพวก 6 คนได้ฉุดคร่านางสาวประยูรไปเพื่อข่มขืนกระทำชำเรา จำเลยได้เรียกตัวนายคำผุยไปสอบถามที่สถานีตำรวจ นายคำผุยปฏิเสธ จำเลยได้ให้ประกันตัวไปครบกำหนดนายประกันส่งตัวนายคำผุย แล้วไม่ประกันต่อจำเลยได้สอบสวนพยานไปบ้างแล้ว จึงขออนุมัตินายอำเภอหันคาขังนายคำผุย ฐานเป็นบุคคลอันธพาล ตามคำสั่งคณะปฏิวัติและหนังสือของกระทรวงมหาดไทย นายคำผุยถูกขังอยู่ 23 วัน และถูกพนักงานอัยการฟ้องศาล ฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเรา และกระทำอนาจาร ศาลจังหวัดชัยนาทพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุด และเห็นว่าประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 กล่าวถึงบุคคลที่กระทำการรังแก ข่มเหงผู้อื่น หรือประกอบอาชีพในทางผิดกฎหมายบางจำพวกว่าเป็นบุคคลที่ประพฤติตนเป็นอันธพาล โดยมิได้จำแนกไว้โดยชัดเจนว่าบุคคลเหล่านั้นรังแกข่มเหง ขู่เข็ญ หรือรบกวนผู้อื่นเป็นลักษณะความผิดอะไรบ้าง ส่วนหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 2498/2502 กล่าวถึงผู้กระทำผิดในคดีฉุดคร่าอนาจารล่อลวงข่มขืน และลวงไปฆ่า ว่าเป็นภัยแก่สังคม ทั้งนี้ความผิดดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นการรังแกข่มเหงผู้อื่นตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 นั่นเอง จึงเท่ากับเป็นการชี้ถึงความผิดทั้ง 4 ประเภทโดยเฉพาะว่าเป็นการกระทำของบุคคลที่ประพฤติตนเป็นอันธพาล

ข้อความตอนท้ายหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ว่า สำหรับผู้มีนิสัยชั่วร้ายในทางฉุดคร่าอนาจาร ล่อลวง ข่มขืน และลวงไปฆ่า นอกจากจะดำเนินคดีตามฐานความผิดแล้วควรดำเนินการต่อบุคคลดังกล่าวตามวิธีการในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ข้างต้น ที่ให้อำนาจพนักงานสอบสวนควบคุมบุคคลอันธพาลผู้กระทำละเมิดกฎหมายได้มากขึ้น โดยให้อำนาจควบคุมครั้งแรก 30 วัน กล่าวคือเป็นการขยายอำนาจการควบคุมครั้งแรกในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ในการควบคุมบุคคลอันธพาลเพื่อทำการสอบสวนในความผิดที่ถูกกล่าวหา ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 213/2508

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่านายคำผุยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดฐานพยายามข่มขืนกระทำชำเราและกระทำอนาจาร จำเลยได้สอบสวนพยานไปบ้างแล้วแต่ยังไม่เสร็จ ชั้นต้นนายคำผุยมีประกันตัวในระหว่างสอบสวน ต่อมาไม่มีประกันตัวจำเลยจึงขังนายคำผุยเป็นบุคคลอันธพาลเพื่อดำเนินการสอบสวนขังอยู่ 23 วันก็ปล่อยโดยไม่ปรากฏว่ามีการกลั่นแกล้งนายคำผุยอย่างใด ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำผิดของนายคำผุยเข้าลักษณะตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 และหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ 2498/2502จำเลยจึงมีอำนาจควบคุมตัวไว้เพื่อการสอบสวนได้ไม่เกิน 30 วันการกระทำของจำเลยไม่เป็นผิดดังฟ้อง

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้อง

Share