คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9023/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนทำสัญญาแทนจำเลยที่ 2 ตัวการซึ่งอยู่และมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลต่อบริษัท ค. ซึ่งเป็นผู้ส่งของส่วนพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 3 เพียงแต่ไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งอื่นเท่านั้นไม่มีบทบัญญัติใดยกเว้นความรับผิดของตัวแทนที่ทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ
เมื่อสินค้าได้รับความเสียหายเพียง 38 เปอร์เซ็นต์ แต่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บริษัท ค. ซึ่งเป็นผู้ส่งของไป 50 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าความเสียหายที่แท้จริงที่ผู้เอาประกันภัยได้รับ โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาเป็นจำนวน 38 เปอร์เซ็นต์ตามความเสียหายที่ผู้เอาประกันภัยได้รับอย่างแท้จริงเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,320,615.07บาท และร่วมกันชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินต้น 1,244,175 บาทนับจากวันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 920,876.33 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2539ไปจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นหรือไม่ และจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนทำสัญญาแทนจำเลยที่ 2 ตัวการซึ่งอยู่และมีภูมิลำเนาในต่างประเทศหรือไม่ นางสาวศศิวิมล เจริญทรัพย์ เบิกความตอบทนายโจทก์ซักถามว่า ผู้เอาประกันภัยได้ว่าจ้างจำเลยให้เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาภาชนะบรรจุด้วย ตู้สินค้าที่จะใช้บรรจุต้องใช้ตู้เย็นชนิดแช่แข็ง ใช้อุณหภูมิไม่สูงกว่าลบ 18 องศาเซลเซียส นายปกรณ์ อังสพัทธ์เบิกความตอบทนายโจทก์ซักถามว่า พยานทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดต่างประเทศของบริษัทคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ก่อนส่งออกสินค้า บริษัทของพยานจะแจ้งไปยังบริษัทเอ็น.วาย.เค (ประเทศไทย) จำกัดแล้วบริษัทเอ็น.วาย.เค (ประเทศไทย) จำกัด ก็จัดตู้สินค้ามาให้บริษัทพยานนายพีรัตน์ เก้าเอี้ยน ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า การขนส่งสินค้าพิพาทเป็นการขนส่งตามเงื่อนไข CY/CY ตู้สินค้าดังกล่าวเป็นตู้สินค้าของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเรือของจำเลยที่ 2จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำตู้สินค้ามาใช้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเห็นว่า ใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4 เป็นแบบพิมพ์ของจำเลยที่ 2 โดยระบุว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งทั้งนายพีรัตน์พยานจำเลยที่ 1 ก็เบิกความยืนยันว่าตู้สินค้าเป็นของจำเลยที่ 2 จึงฟังประกอบกับเอกสารหมาย จ.4 ได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้ารายนี้ ส่วนจำเลยที่ 1ปรากฏตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4 ด้านล่างระบุว่าบริษัทนิปปอน ยูเซ็นไกชา จำกัด (หมายถึงจำเลยที่ 2) เพื่อบริษัทเอ็น.วาย.เค ชิปปิ้ง เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด (หมายถึงจำเลยที่ 1) ในฐานะตัวแทนของสายการเดินเรือเอ็น.วาย.เค ไลน์ จำกัด จึงแสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 เท่านั้น มิได้เป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นเมื่อปรากฏจากคำเบิกความของนางสาวศศิวิมลว่าจำเลยที่ 2 ตั้งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น และได้ความจากนายปกรณ์ว่าจำเลยที่ 1 ได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ส่งของและด้านหลังของใบตราส่งมีตราประทับของจำเลยที่ 1 ไว้ด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนทำสัญญาแทนจำเลยที่ 2 ตัวการซึ่งอยู่และมีภูมิลำเนาในต่างประเทศจริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญารับขนของทางทะเลต่อบริษัทคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัดซึ่งเป็นผู้ส่งของ เมื่อโจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายให้บริษัทคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งส์จำกัด แล้วโจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากบริษัทดังกล่าวมาดำเนินการกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ถึงแม้จำเลยที่ 1จะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศก็ตาม เพราะข้อความแห่งสัญญาแย้งกับความรับผิดของตัวแทนนั้น เห็นว่า ข้อความในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4มิได้มีข้อความยกเว้นความรับผิดของจำเลยที่ 1 ไว้ จำเลยที่ 1จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ได้บัญญัติยกเว้นความรับผิดของตัวแทนเรือหรือตัวแทนผู้ขนส่งไว้ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 3 เพียงแต่ไม่ถือว่าจำเลยที่ 1เป็นผู้ขนส่งอื่นเท่านั้นไม่มีบทบัญญัติใดยกเว้นความรับผิดของตัวแทนที่ทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศ และมีภูมิลำเนาในต่างประเทศดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง และที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 7มิได้บัญญัติให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ดังนั้น จึงถือว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาพิพากษาคดีเกินกว่าอำนาจที่กฎหมายกำหนดให้นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า มาตรา 7ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีดังต่อไปนี้ (5) คดีแพ่งเกี่ยวกับการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าหรือตราสารการเงินระหว่างประเทศหรือการให้บริการระหว่างประเทศการขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยและนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่องและในคดีนี้เป็นเรื่องการขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัย และนิติกรรมอื่นที่เกี่ยวเนื่องศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1และที่ 2 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า สินค้าตามฟ้องเสียหายหรือไม่เพียงใด และจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดหรือไม่เพียงใด นายชวการซึ่งทำงานอยู่ที่บริษัทแอสโซซิเอเต็ค มารีน เซอร์เวย์เยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และเป็นผู้สำรวจความเสียหายของสินค้ารายนี้เบิกความว่า หลังจากสำรวจสภาพสินค้าแล้วพยานสรุปผลว่าสินค้าเสียหายเนื่องจากอุณหภูมิในตู้สินค้าเดิมมีอุณหภูมิสูงขึ้นไม่สามารถรักษาอุณหภูมิอยู่ในระดับที่ตั้งไว้ได้ ส่วนรายละเอียดการสำรวจและความเห็นของพยานปรากฏอยู่ในรายงานการสำรวจเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งรายงานคุณภาพทางกายภาพในข้อ 6ไว้ว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมคุณภาพของผู้เอาประกันภัยได้นำตัวอย่างของกุ้งกุลาดำ 3 บล็อก และกุ้งแชบ๊วย 3 บล็อกมาทดสอบ ปรากฏว่ากุ้งกุลาดำบล็อกที่ 1 มีเปลือกอ่อน 15 เปอร์เซ็นต์ เปลือกสีแดง 10 เปอร์เซ็นต์บล็อกที่ 2 มีเปลือกอ่อน 8 เปอร์เซ็นต์ เปลือกสีแดง 3 เปอร์เซ็นต์ บล็อกที่ 3เปลือกอ่อน 13 เปอร์เซ็นต์ เปลือกสีแดง 8 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยเปลือกอ่อน12 เปอร์เซ็นต์ เปลือกสีแดง 7 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกุ้งแช่บ๊วย บล็อกที่ 1เปลือกอ่อน 5 เปอร์เซ็นต์ เปลือกสีดำ 3 เปอร์เซ็นต์ บล็อกที่ 2 เปลือกอ่อน8 เปอร์เซ็นต์ เปลือกสีดำ 1 เปอร์เซ็นต์ บล็อกที่ 3 เปลือกอ่อน 2 เปอร์เซ็นต์เปลือกสีดำ 3 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยเปลือกอ่อน 3.6 เปอร์เซ็นต์ เปลือกสีดำ2.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคุณสมบัติของกุ้งกุลาดำไม่อนุญาตให้มีเปลือกอ่อนเกิน5 เปอร์เซ็นต์ และไม่อนุญาตให้มีเปลือกสีแดงเกณฑ์เดียวกับกุ้งแช่บ๊วยซึ่งไม่อนุญาตให้มีเปลือกสีดำ เห็นว่า นายชวการทำรายงานและมาเบิกความในนามของบริษัทแอสโซซิเอเต็ด มารีน เซอร์เวย์เยอร์ส (ประเทศไทย) จำกัดซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้สำรวจความเสียหายของสินค้าในคดีนี้โดยมิได้มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การทำรายงานดังกล่าวก็เป็นการประกอบวิชาชีพซึ่งต้องใช้ชื่อเสียงและความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสำคัญ ทั้งคดีไม่ปรากฏว่านายชวการได้ทำรายงานโดยไม่ถูกต้องหรือโดยทุจริต จึงเชื่อว่ารายงานตามเอกสารหมาย จ.14 ได้ทำขึ้นโดยถูกต้องตรงกับความเสียหายที่แท้จริงส่วนบริษัทคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ได้รับความเสียหายเพียงใดนั้นนางสาวศศิวิมลเบิกความตอบทนายโจทก์ซักถามว่า สำหรับความเสียหายของสินค้านั้น ตอนแรกผู้เอาประกันภัยจะปฏิเสธไม่ยอมรับสินค้าเพราะเห็นว่าสินค้าเสียหายเกินกว่าร้อยละ 38 จึงขอเรียกค่าเสียหายร้อยละ 60ของราคาซีแอนด์เอฟ แต่ผู้รับประกันภัยได้ต่อรองแล้ว ตกลงชดใช้กันที่ร้อยละ 50 ของราคาซีแอนด์เอฟ ก่อนหน้านั้นผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องค่าเสียหายไปยังจำเลยในอัตรา 110 เปอร์เซ็นต์ ตามทุนประกันภัยแต่จำเลยไม่ยอมชำระ ผู้เอาประกันภัยจึงเรียกร้องให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยชำระในอัตราร้อยละ 60 แล้วต่อรองกันเหลือร้อยละ 50ดังกล่าว โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัยไปร้อยละ 50เป็นเงิน 49,767 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยในอัตราแลกเปลี่ยน25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงิน 1,244,175 บาท ซึ่งผู้เอาประกันภัยก็ออกใบรับช่วงสิทธิให้โจทก์ โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวให้ผู้เอาประกันภัยเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2539 ส่วนรายงานการสำรวจตามเอกสารหมาย จ.14 บริษัทแอสโซซิเอเต็ด มารีน เซอร์เวย์เยอร์ส(ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำความเห็นเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นว่า1. เมื่อพิจารณาถึงขั้นตอนต่าง ๆ ของกรรมวิธีใหม่และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเราคำนวณว่าประมาณ 16 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และสินค้าจะต้องลดชั้นลงมาเป็นชั้นสอง และโดยที่สินค้าจะต้องลดลงมาสินค้าควรจะปล่อยไว้เช่นนี้ แต่บรรจุในกล่องใหม่ในชื่อสินค้าใหม่ก่อนจัดเป็นสินค้าชั้นสอง2. เราได้คำนวณค่าใช้จ่ายในการบรรจุใหม่ ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายสำหรับกล่องใหม่และค่าแรงงาน 20 บาท ต่อกล่อง หรือเท่ากับ 8 เปอร์เซ็นต์ของราคา เฉลี่ยเอฟโอบีของสินค้า 3. จากการตรวจสอบจากหลายแห่งเราได้รับความแตกต่างของมูลค่าสินค้าชั้นหนึ่งและชั้นสองของกุ้งแช่แข็งในเกณฑ์ 25 ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ 4. ดังนั้น ความสูญเสียของสินค้าควรอยู่ในเกณฑ์ 33 ถึง 38 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่า รายงานการสำรวจตามเอกสารหมาย จ.14 เกี่ยวกับความเสียหายที่บริษัทคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งส์จำกัด ได้รับนั้น ประกอบไปด้วยเหตุผลเป็นขั้นตอนตามหลักวิชาการทั้งจำนวนความเสียหายที่กำหนดไว้ก็น้อยกว่าจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์ได้ชดใช้ให้แก่บริษัทคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด 12 เปอร์เซ็นต์ จึงน่าเชื่อว่าความเสียหายของสินค้าอยู่ในเกณฑ์ 38 เปอร์เซ็นต์ ตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยไว้ เมื่อสินค้าได้รับความเสียหายเพียง 38 เปอร์เซ็นต์ แต่โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บริษัทคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ไป 50 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าโจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าความเสียหายที่แท้จริงที่ผู้เอาประกันภัยได้รับ โจทก์จึงรับช่วงสิทธิมาเป็นจำนวน 38 เปอร์เซ็นต์ ตามความเสียหายที่ผู้เอาประกันภัยได้รับอย่างแท้จริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามอัตรา 38 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคิดเป็นเงินจำนวน 920,876.33 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2539ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนไปจนกว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้รับซากสินค้าจากบริษัทคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และนำซากสินค้าไปขายต่อแล้วโดยสินค้าพิพาทสามารถขายภายในประเทศได้ในราคาสินค้าเกรด 1โดยขายในอัตราเฉลี่ยประมาณกิโลกรัมละ 260 บาท โจทก์จะได้รับเงินจำนวน 2,830,464 บาท โจทก์จึงไม่เหลือความเสียหายที่จะมาเรียกจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 อีกต่อไป เห็นว่า ถ้าหากโจทก์ได้รับซากสินค้ามาจากบริษัทคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างแล้วบริษัทคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ก็ย่อมจะต้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์เต็มจำนวนราคาสินค้า เพราะถ้ารับค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์มาเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ บริษัทคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ก็ยังจะต้องเสียหายอยู่อีก 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขัดต่อเหตุผลของการประกันภัย อุทธรณ์ในข้อนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกจำกัดความรับผิดไว้ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58 ซึ่งให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้เพียงหนึ่งหมื่นบาทต่อหนึ่งหน่วยการขนส่ง หรือกิโลกรัมละสามสิบบาทต่อน้ำหนักสุทธิแห่งของนั้นแล้ว แต่เงินจำนวนใดจะมากกว่าซึ่งเมื่อปรากฏว่าสินค้ามีน้ำหนักสุทธิ 10,886.40 กิโลกรัม และพบความเสียหายเพียง 38 เปอร์เซ็นต์ จึงคิดเป็นเงินจำนวน 124,104.96 บาทเท่านั้น เห็นว่า ตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.4 ด้านหน้าและใบแนบมีข้อความระบุไว้ว่า บรรจุใน 1,000 กล่อง จึงเท่ากับ 1,000 หน่วยการขนส่งตามมาตรา 59(1) เมื่อปรากฏว่าความเสียหายของสินค้ามี38 เปอร์เซ็นต์ ความเสียหายอย่างน้อยที่สุดเมื่อคิดตามหน่วยการขนส่งคือ 380 กล่อง หรือ 380 หน่วยการขนส่งตามมาตรา 58 วรรคหนึ่งจึงจำกัดความรับผิดไว้ไม่เกิน 3,800,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าหาใช่จำกัดความรับผิดไว้เป็นเงิน 124,104.96 บาท ดังที่จำเลยที่ 1และที่ 2 อุทธรณ์ไม่ เมื่อความเสียหายที่แท้จริงของบริษัทคิงฟิชเชอร์โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นเงิน 920,876.33 บาท ต่ำกว่าจำนวนที่จำกัดความรับผิดไว้ดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องรับผิดตามที่บริษัทคิงฟิชเชอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ได้รับความเสียหายอย่างแท้จริงต่อโจทก์ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มาตรา 58วรรคสอง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share