แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยต่างซื้อที่ดินมีโฉนดซึ่งเป็นที่สวน 2 ขนัดมีคันดินขวาง โดยทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน จำเลยซื้อขนัดทางทิศใต้ ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับเจ้าของ 600 ส่วนใน 1,800 ส่วนโจทก์ซื้อในส่วนที่เหลือ โดยต่างก็ยังไม่ได้รังวัดที่ดินจึงได้ร่วมกันยื่นคำร้องขอแบ่งแยกโฉนด แสดงว่าโจทก์ไม่ทราบว่าจำเลยครอบครองที่ดินมากน้อยเพียงใดเมื่อปรากฏว่าจำเลยครอบครองที่ดินมากกว่า 600 ส่วนใน 1800 ส่วนมาเกินกว่า 10 ปี จนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382แต่จำเลยยังมิได้จดทะเบียน จึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตาม มาตรา 1299 วรรค 2
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ที่ดินภายในเส้นสีน้ำเงินในแผนที่กลางตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมาย ให้โจทก์จดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าที่ดินภายในเส้นสีเขียวตามแผนที่กลางเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง ห้ามจำเลยขัดขวางการรังวัดแบ่งแยกโฉนด ส่วนการแบ่งแยกโฉนดนั้นให้โจทก์ไปดำเนินแบ่งแยกเอง ยกฟ้องแย้ง จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เดิมนางฉุย สินรอด เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3403 ตำบลบางขุนทอง (บ้านเขิน) อำเภอบางกรวย (บางใหญ่) จังหวัดนนทบุรี เป็นที่ดินสวนมี 2 ขนัด ขนัดหนึ่งอยู่ทางทิศใต้ของที่ดิน อีกขนัดหนึ่งอยู่ทางทิศเหนือมีคันดินขวางกว้างประมาณ 4 วา ยาวจากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2503 จำเลยได้ซื้อที่ดินสวนขนัดทางทิศใต้จากนางฉุย สินรอด โดยทำเป็นหนังสือจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินระบุว่าจำเลยมีส่วนถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางฉุย สินรอด 600 ส่วนใน 1,800 ส่วน ได้มีการรังวัดกำหนดขอบเขตที่แน่นอนไว้ เมื่อซื้อแล้วจำเลยครอบครองที่ดินสวนที่ซื้อตลอดมา ครั้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2516 นางฉุย สินรอด ได้ขายที่ดินส่วนที่เหลือแก่โจทก์โดยทำหนังสือสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2519 โจทก์ทั้งสองกับจำเลยไปยื่นคำร้องขอแบ่งแยกโฉนด เจ้าพนักงานรังวัดที่ดินทั้งหมดได้เนื้อที่ 4 ไร่ 90 ตารางวา เมื่อรังวัดแบ่งแยกส่วนของโจทก์ปรากฏว่ากินเนื้อที่เข้าไปในที่ดินที่จำเลยครอบครอง จำเลยค้านจึงไม่อาจแบ่งแยกได้
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินจากนางฉุย สินรอด โดยไม่สุจริตจำเลยจึงยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับโจทก์ทั้งสองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสองนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดดังกล่าว เฉพาะส่วนของนางฉุย สินรอด นั้น ได้ระบุไว้โดยชัดแจ้งว่า ส่วนของจำเลยยังคงอยู่ตามเดิม อันหมายความว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินจากนางฉุย สินรอด 1,200 ส่วนใน 1,800 ส่วน ส่วนของจำเลยซึ่งมีอยู่ 600 ส่วนคงมีตามเดิม ทั้งปรากฏจากสัญญาซื้อขายด้วยว่านางฉุย สินรอด ผู้ขายก็ดี ฝ่ายโจทก์ทั้งสองผู้ซื้อก็ดี ต่างยืนยันว่าไม่ทราบเขตที่ดินและเนื้อที่ว่ามีเพียงใด เพราะยังไม่ได้รังวัดจึงไม่ทราบอาณาเขตที่แท้จริง ถือได้ว่าเป็นการซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนของนางฉุย สินรอด ที่มีอยู่ เมื่อนางฉุย สินรอด ตกลงยินยอมให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ร่วมจำนวน 600 ส่วนใน 1,800 ส่วน ก็ไม่ได้มีการรังวัดเช่นกัน อนึ่งต่อมาเมื่อโจทก์ทั้งสองกับจำเลยให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำข้อตกลงแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2519 นั้น ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไว้ชัดแจ้งตามข้อ 1 ว่า “ตามที่ข้าพเจ้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงเครื่องหมายข้างบนนี้ โดยหนังสือนี้ข้าพเจ้าตกลงแบ่งส่วนที่ดินของตนที่มีอยู่ในที่ดินแปลงนี้ออกจากกันคือ แยกหนึ่งทางทิศเหนือเป็นของร้อยตำรวจโทชวลิต คงยิ่ง นางเพียงใจ คงยิ่ง ส่วนแปลงคงเหลือทางทิศใต้เป็นของนางชั้น แย้มแพ โดยให้ได้เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน” ดังนี้จึงแสดงให้เห็นว่าฝ่ายโจทก์ทั้งสองก็ไม่ทราบว่าจำเลยครอบครองที่ดินตามโฉนดดังกล่าวมากน้อยเพียงใด โจทก์จำเลยจึงแสดงความจำนงแบ่งแยกที่ดินกันดังข้อความดังกล่าวข้างต้น โจทก์จึงเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต เมื่อปรากฏต่อมาว่าจำเลยครอบครองที่ดินมากเกินกว่า 600 ใน 1,800 ส่วนมาเกินกว่า 10 ปี จนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 แต่จำเลยก็ยังมิได้จดทะเบียน จำเลยจึงไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง”
พิพากษายืน