แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ไม้สักของกลางเป็นแผ่นกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว หนา 1 นิ้ว เซาะร่องที่ขอบโดยรอบร่องลึกประมาณครึ่งนิ้ว ขัดและทาน้ำมันทุกแผ่น มีลักษณะผิดจากเขียงที่ใช้กันอยู่ในท้องที่เกิดเหตุ แม้จะมีผู้ซื้อไปใช้แทนเขียงก็ไม่ใช่เขียงที่คนในท้องถิ่นนั้นใช้กัน ถือว่ายังเป็นไม้แปรรูปอยู่ มิใช่เครื่องใช้
ความในวรรคสองของมาตรา 4(4) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.2484 หาใช่บทยกเว้นความในวรรคแรกไม่ คำว่าเครื่องใช้ในวรรคสองนี้หมายความว่า เครื่องใช้ที่ชอบด้วยลักษณะของเครื่องใช้ที่ใช้เป็นปกติในท้องที่นั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีไม้สักแปรรูป 834 ชิ้น ปริมาตร 1.02 ลูกบาศก์เมตรไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาต ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 73, 74 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503มาตรา 17 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 116 ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2515และริบของกลาง
จำเลยให้การรับว่า เจ้าพนักงานจับไม้ของกลางได้ขณะอยู่ในความครอบครองของจำเลยจริง แต่ไม้ดังกล่าวเป็นของใช้สำเร็จรูปแล้ว จึงไม่เป็นความผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ไม้ของกลางเป็นเขียงอันเป็นเครื่องใช้สำเร็จรูปแล้วพ้นสภาพจากการเป็นไม้แปรรูปตามความหมายของพระราชบัญญัติป่าไม้ฯมาตรา 4(4) จำเลยมีไว้ในความครอบครองไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ไม้ของกลางไม่ใช่เขียงที่ชาวบ้านในท้องที่นั้นใช้อยู่เป็นปกติแต่เป็นไม้แปรรูปที่จำเลยเตรียมส่งไปต่างประเทศ พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ 2484 มาตรา 48, 73, 74พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 17 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 116 ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2515 ข้อ 4 ให้จำคุกจำเลย 6 เดือนจำเลยยอมรับผิดในขณะเจ้าพนักงานทำการจับกุม เป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 เดือน ไม้ของกลางให้ริบ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เจ้าพนักงานจับไม้สักของกลางได้ที่โรงงานของจำเลยอันเป็นโรงงานแกะสลักไม้ ไม้สักของกลางแต่ละแผ่นมีลักษณะเหมือนกันคือ เป็นแผ่นกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว หนา 1 นิ้ว เซาะร่องที่ขอบโดยรอบร่องลึกประมาณครึ่งนิ้ว ขัดและทาน้ำมันแล้วทุกแผ่น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4(4)ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 116 ข้อ 1 ไม้แปรรูปหมายความรวมถึงไม้ที่อยู่ในสภาพที่เป็นเครื่องใช้ที่ไม่ชอบด้วยลักษณะของเครื่องใช้ที่ใช้เป็นปกติในท้องที่นั้น หรือที่ผิดปกติวิสัย ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยเองว่า เขียงทั่วไปส่วนใหญ่ในท้องที่ใช้ไม้มะขามเนื้อแข็งกว่า และขนาดหนากว่าไม้สักของกลาง ไม่มีเซาะร่องที่ขอบ ลักษณะของกลางคดีนี้จึงผิดจากลักษณะเขียงที่ใช้กันอยู่ในท้องที่เกิดเหตุ ถึงจะมีผู้ซื้อไม้สักที่มีรูปลักษณะอย่างไม้สักของกลางไปใช้แทนเขียง ก็ไม่ใช่เขียงที่คนในท้องถิ่นนั้นใช้กัน ถือว่ายังเป็นไม้แปรรูปอยู่ จำเลยมีไว้ในความครอบครองจึงเป็นความผิดดังฟ้อง
ที่จำเลยฎีกาว่า ไม้ที่อยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้แล้ว ไม่ว่าจะชอบด้วยลักษณะของเครื่องใช้ที่ใช้เป็นปกติในท้องที่หรือไม่ ก็ไม่เป็นไม้แปรรูปอีกต่อไป เพราะมาตรา 4(4) วรรคสอง ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นความในวรรคแรกไว้ ได้พิเคราะห์แล้ว ความในวรรคสองของมาตรา 4(4) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 เป็นเรื่องไม้แปรรูปที่ได้กลายสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือเครื่องใช้แล้วจะกลับคืนเป็นไม้แปรรูปได้อีกหรือไม่ ความในวรรคสองนี้ หาใช่บทยกเว้นความในวรรคแรกไม่ ดังนั้นคำว่าเครื่องใช้ในวรรคนี้จึงหมายความว่าเครื่องใช้ที่ชอบด้วยลักษณะของเครื่องใช้ที่ใช้เป็นปกติในท้องที่นั้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์