คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1029/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทขนส่งจำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประเภทการขนส่งประจำทางระหว่างกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ ส่วนบริษัทจำเลยได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประเภทการขนส่งสาธารณะ บริษัทจำเลยได้จัดรถรับส่งคนโดยสารในเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ กับลำปางและเชียงใหม่ โดยมีกำหนดวันเวลาที่รถออกแน่นอนเป็นประจำ มีการขายตั๋วโดยสารเป็นรายบุคคลให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะเดินทาง แต่บริการของบริษัทจำเลยมีข้อที่แตกต่างกับบริษัทขนส่งจำกัด คือ รถของบริษัทจำเลยหยุดรับส่งคนโดยสารระหว่างทางเฉพาะที่ลำปางเพียงแห่งเดียว ส่วนรถของบริษัทขนส่งจำกัดหยุดรับส่งคนโดยสารตามรายทางที่ใบอนุญาตกำหนดไว้ ค่าโดยสารของบริษัทจำเลยแพงกว่าค่าโดยสารของบริษัทขนส่งจำกัด และกำหนดอัตราไว้เพียง 2 อัตรา คือ ระหว่างกรุงเทพฯ กับลำปางและระหว่างกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ ส่วนบริษัทขนส่งจำกัดคิดค่าโดยสารตามระยะทาง บริษัทจำเลยให้บริการที่ดีกว่าบริษัทขนส่งจำกัด รถของบริษัทจำเลยมีที่นั่งที่สะดวกสบายรวมทั้งมีห้องน้ำอยู่ในรถ ระหว่างทางก็มีอาหารและเครื่องดื่มเลี้ยงผู้โดยสารด้วย ดังนี้ การประกอบการขนส่งของบริษัทจำเลยมีลักษณะเป็นการแข็งขันกับบริษัทขนส่งจำกัด เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการขนส่งพ.ศ. 2497 มาตรา 14

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับส่งสินค้าและคนโดยสารด้วยรถยนต์โดยสารเกิน 7 คนเพื่อรับจ้าง โดยจำเลยได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงชื่อแทนจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันจัดรถยนต์โดยสารอันเป็นเครื่องอุปกรณ์การขนส่งตามกฎหมาย ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสาร โดยออกวิ่งรับส่งผู้โดยสารเก็บค่าโดยสารจากคนโดยสารตามเส้นทางถนนสายกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ , เชียงใหม่ – กรุงเทพฯ และสายกรุงเทพฯ – ลำปาง, ลำปาง – กรุงเทพฯ อันเป็นเส้นทางที่บริษัทขนส่งจำกัดได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนให้ประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารตามเส้นทางดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการขนส่งในเส้นทางในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับบริษัทขนส่งจำกัด ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 14, 60 พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 ในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสาร พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 60 ปรับคนละ 1,500 บาท บังคับค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบริษัทขนส่งจำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประเภทการขนส่งประจำทางระหว่างกรุงเทพมหานครกับเชียงใหม่ ส่วนบริษัทจำเลยที่ 1 ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประเภทการขนส่งสาธารณะ บริษัทจำเลยที่ 1 ได้จัดรถรับส่งคนโดยสารในเส้นทางระหว่างกรุงเทพมหานครกับลำปางและเชียงใหม่ โดยมีกำหนดวันเวลาที่รถออกแน่นอนเป็นประจำ มีการขายตั๋วโดยสารเป็นรายบุคคลให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพมหานครกับลำปางและเชียงใหม่ แต่บริการของบริษัทจำเลยที่ 1 มีข้อที่แตกต่างกับบริการของบริษัทขนส่งจำกัด คือรถของบริษัทจำเลยที่ 1 หยุดรับส่งคนโดยสารระหว่างทางเฉพาะที่ลำปางเพียงแห่งเดียว ส่วนรถของบริษัทขนส่งจำกัดหยุดรับส่งคนโดยสารตามรายทางที่ใบอนุญาตกำหนดไว้ ค่าโดยสารของบริษัทจำเลยที่ 1 แพงกว่าค่าโดยสารของบริษัทขนส่งจำกัด และกำหนดอัตราไว้เพียง 2 อัตรา คือ ระหว่างกรุงเทพมหานครกับลำปางและระหว่างกรุงเทพมหานครกับเชียงใหม่ส่วนบริษัทขนส่งจำกัดคิดค่าโดยสารตามระยะทางบริษัทจำเลยที่ 1 ให้บริการที่ดีกว่าบริการของบริษัทขนส่งจำกัด รถของบริษัทจำเลยที่ 1 มีที่นั่งสะดวกสบายรวมทั้งมีห้องน้ำอยู่ในรถด้วย ระหว่างทางก็มีอาหารและเครื่องดื่มเลี้ยงผู้โดยสารด้วย

ตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 11 บริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะ มีสิทธิทำการขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง แต่มาตรา 14 ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะเข้าทำการขนส่งในเส้นทางใดในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับผู้ได้รับใบอนุญาตการขนส่งประจำทางในเส้นทางนั้น เห็นว่า แม้บริการที่บริษัทจำเลยที่ 1 ให้กับผู้โดยสารจะแตกต่างกับบริการของบริษัทขนส่งจำกัด และบริษัทจำเลยที่ 1 จะเก็บค่าโดยสารสูงกว่าบริษัทขนส่งจำกัดก็ตาม การประกอบการขนส่งของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับบริษัทขนส่งจำกัดในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง หาใช่ว่าผู้เข้าแข่งขันจะต้องเก็บค่าโดยสารเท่ากันหรือถูกกว่าจึงจะมีลักษณะเป็นการแข่งขันดังที่บริษัทจำเลยที่ 1 ฎีกาไม่

พิพากษายืน

Share