คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5151/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 171 และในกรณีที่มีข้อสงสัยให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตามมาตรา 11
หนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 5 ค้ำประกันจำเลยที่ 2 ไว้แก่โจทก์มีข้อความว่า เนื่องในการที่ธนาคารโจทก์ได้อนุมัติให้จำเลยซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่าลูกหนี้ทำการกู้เงินหรือเบิกเงินเกินบัญชี ขายลดตั๋วเงินและ/หรือรายการอื่นใดอันก่อให้เกิดหนี้สินพันธะระหว่างจำเลยกับธนาคารทหารไทย จำกัด (โจทก์) ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้หรือจะพึงเกิดขึ้นในภายหน้าภายใน วงเงินไม่เกิน 1,500,000 บาท ซึ่งมีข้อความสอดคล้องกับข้อความตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันที่จำเลยที่ 5 จำนองแก่โจทก์ใจความว่าจำเลยที่ 5 จำนองที่ดินเป็นประกันเงินซึ่งจำเลยเป็นหนี้โจทก์ก่อนเวลานี้หรือในเวลานี้ หรือในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปในภายหน้าเป็นจำนวนเงิน ไม่เกิน1,500,000 บาท ดังนั้น ตามสัญญาดังกล่าวมีข้อความว่า จำเลยที่ 5ยอมรับผิดในหนี้สินระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ที่จะพึงเกิดขึ้นในภายหน้าหมายถึงหนี้สินที่จำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ของโจทก์โดยตรงในฐานะลูกหนี้ชั้นต้น คู่สัญญาไม่น่าจะคาดหมายว่าจะต้องรับผิดในหนี้สินที่จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นลูกหนี้ไปค้ำประกันหนี้บุคคลภายนอก คือ จำเลยที่ 1 ต่อโจทก์อีกต่อหนึ่งในภายหน้าด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2530 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตกับโจทก์ ขอให้โจทก์แจ้งไปยังธนาคารตัวแทนของโจทก์ในประเทศสิงคโปร์ แจ้งให้ผู้ขายสินค้าทราบว่าจำเลยที่ 1 ขอเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตในการสั่งซื้อสินค้าไว้กับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 3 และที่ 6เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2530จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์ ขอรับเอกสารการออกสินค้ามูลค่า28,406.70 ดอลลาร์สหรัฐและจะนำเงินมาชำระคืนให้โจทก์ภายในวันที่ 22สิงหาคม 2530 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม2528 จำเลยที่ 4 และที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้สินหรือพันธะอื่น ๆของจำเลยที่ 2 ไว้ต่อโจทก์ในวงเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี วันที่ 16 มิถุนายน 2530 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ทุกประเภทไว้ต่อโจทก์ในวงเงิน 756,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1ทุกประเภทไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 756,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปี นอกจากการค้ำประกันดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2528จำเลยที่ 5 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 6117 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์เป็นประกันหนี้ของตนเองและของจำเลยที่ 2 ในขณะจำนองและในภายหน้าในวงเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีมีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 5 ยอมรับผิดในส่วนที่ขาดจนครบ หลังจากทำสัญญาทรัสต์รีซีทและรับสินค้าไปแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,554,827.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงิน 734,881.33 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 6117 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 2ไว้ต่อโจทก์จริง และได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 5 เองและหนี้ของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ในวงเงิน1,500,000 บาท จริง แต่การค้ำประกันและจำนองดังกล่าวที่ทำต่อโจทก์เป็นการประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 เฉพาะหนี้เงินกู้ หนี้เบิกเงินเกินบัญชีหนี้ขายลดตั๋วเงิน หนี้ตามสัญญาเล็ตเตอร์ออฟเครดิต ทรัสต์รีซีทแพคกิ้งเครดิตหนี้ที่ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันอาวัล หรือรับรองตั๋วเงินหรือหนี้อื่นใดที่จำเลยที่ 2 มีต่อโจทก์โดยตรงเท่านั้น จำเลยที่ 5 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันหรือจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ ไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือในฐานะรับเรือน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน1,554,827.50 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน734,881.33 บาท นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมรับผิดจำนวน 1,288,042.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 734,881.33 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 6117 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 5 บังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยที่ 4 และที่ 5 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 5 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 5 แต่เพียงว่าจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 แก่โจทก์จะต้องร่วมรับผิดในหนี้ที่จำเลยที่ 2 เข้าเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน สัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 หรือไม่ จำเลยที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยที่ 5 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันหรือจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดในพันธะหนี้สินที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อขึ้นแก่โจทก์ และจำเลยที่ 5 ไม่จำต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 แก่โจทก์ พิเคราะห์แล้ว หนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.3 ที่จำเลยที่ 5 ค้ำประกันจำเลยที่ 2 ไว้แก่โจทก์ข้อ 1 มีข้อความว่า เนื่องในการที่ธนาคารฯ ได้อนุมัติให้บริษัท เอส.ซี. สยามเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (จำเลยที่ 2) ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า ลูกหนี้ ทำการกู้เงินหรือเบิกเงินเกินบัญชี ขายลดตั๋วเงินและ/หรือรายการอื่นใดอันก่อให้เกิดหนี้สินพันธะระหว่างบริษัท เอส.ซี. สยามเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (จำเลยที่ 2) กับธนาคารทหารไทย จำกัด (โจทก์) ทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้หรือจะพึงเกิดขึ้นในภายหน้า ภายในวงเงินไม่เกิน 1,500,000 บาท ซึ่งมีข้อความสอดคล้องกับข้อความตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันที่จำเลยที่ 5 จำนองแก่โจทก์ตามเอกสารหมายจ.4 และ จ.5 ข้อ 1 ใจความว่า จำเลยที่ 5 จำนองที่ดินเป็นประกันเงินซึ่งบริษัทเอส.ซี. สยามเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (จำเลยที่ 2) เป็นหนี้ผู้รับจำนอง (โจทก์) ก่อนเวลานี้หรือในเวลานี้ หรือในเวลาใดเวลาหนึ่งต่อไปในภายหน้าเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 1,500,000 บาท เห็นว่าในการตีความการแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 และในกรณีที่มีข้อสงสัยให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ดังนั้นตามสัญญาดังกล่าวมีข้อความว่า จำเลยที่ 5 ยอมรับผิดในหนี้สินระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ที่จะพึงเกิดขึ้นในภายหน้าหมายถึงหนี้สินที่จำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ของโจทก์โดยตรงในฐานะลูกหนี้ชั้นต้น คู่สัญญาไม่น่าจะคาดหมายว่าจะต้องรับผิดในหนี้สินที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไปค้ำประกันหนี้บุคคลภายนอกคือ จำเลยที่ 1 ต่อโจทก์อีกต่อหนึ่งในภายหน้า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในหนี้ที่จำเลยที่ 2 เข้าเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share