คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1301/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ที่ครอบครองที่ดินมาก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน แม้จะมิได้แจ้งการครอบครองไว้ ก็หาทำให้เสียสิทธิครอบครองไปไม่ เป็นแต่เพียงจะยกขึ้นยันรัฐในการที่รัฐจะจัดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือยันบุคคลผู้ได้สิทธิมาจากรัฐในการจัดที่ดินไม่ได้เท่านั้น ตราบใดที่รัฐยังมิได้เข้าจัดที่ดินนั้น ผู้นั้นยังมีสิทธิครอบครองอยู่
ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58ทวิ และมาตรา 59ทวิ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน แต่มิได้แจ้งการครอบครองไว้ รวมทั้งผู้ครอบครองต่อเนื่องจากบุคคลดังกล่าว มีสิทธิขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ เมื่อมีการเดินสำรวจรังวัดในท้องที่นั้นหรือเมื่อมีความจำเป็นอาจขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะรายก็ได้
โจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ได้ครอบครองตลอดมา แต่มิได้แจ้งการครอบครองไว้ โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันการแจ้งการครอบครองต่อจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 2 อนุญาต และให้จำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ยอมออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ครอบครองที่ดินแปลงหนึ่งมา แต่ไม่ได้แจ้งการครอบครองไว้ โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันการแจ้งการครอบครองที่ดินต่อจำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 2 อนุญาต และให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายอำเภอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองอ้างว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ยอมออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ ทั้งยังมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ออกจากที่ดินนั้น ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนสิทธิครอบครองของโจทก์ ให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวให้โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินที่โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ครอบครองนั้นเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้สอยร่วมกัน โจทก์และผู้ที่ครอบครองก่อนโจทก์มิได้แจ้งการครอบครองให้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อขอให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยจึงไม่ออกให้ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบแบบแผนแล้ว มิได้กลั่นแกล้งโจทก์อย่างใด

สืบพยานจำเลยไปได้ 1 ปาก ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้แจ้งการครอบครอง จึงเป็นการครอบครองที่ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9 ไม่มีสิทธิครอบครองใช้ยันรัฐ ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับตามคำขอได้ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยทั้งสองให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่พิพาทให้โจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่าตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 5 วรรคสองซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ไม่ได้แจ้งการครอบครองที่พิพาท บัญญัติว่าถ้าผู้ครอบครองและทำประโยชน์ที่ดิน ซึ่งมีหน้าที่แจ้งการครอบครองที่ดินไม่แจ้งการครอบครองภายในกำหนด ให้ถือว่าบุคคลนั้นเจตนาสละสิทธิครอบครองที่ดิน รัฐมีอำนาจจัดที่ดินดังกล่าวตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดินฯลฯ ตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า การไม่แจ้งการครอบครองที่ดินหาทำให้ผู้ครอบครองเสียไปซึ่งสิทธิครอบครองไม่ เป็นแต่เพียงจะยกขึ้นยันรัฐในการที่รัฐจะจัดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน หรือยันบุคคลผู้ได้สิทธิมาจากรัฐในการจัดที่ดินไม่ได้เท่านั้น ต่อมาเมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดินโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 บังคับใช้ วันที่ 4 มีนาคม 2515 มาตรา 58 ทวิ และมาตรา 59 ทวิ ได้บัญญัติให้ผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดินแต่มิได้แจ้งการครอบครองไว้ รวมทั้งผู้ครอบครองต่อเนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีสิทธิขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ เมื่อมีการเดินสำรวจรังวัดในท้องที่นั้น หรือเมื่อมีความจำเป็นอาจขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะรายก็ได้ ดังนั้น ผู้ที่ครอบครองที่ดินมาก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน แม้จะมิได้แจ้งการครอบครองไว้ก็ตาม ตราบใดที่รัฐยังมิได้เข้าไปจัดที่ดินนั้นแล้ว ผู้นั้นย่อมยังมีสิทธิครอบครองอยู่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ได้ครอบครองตลอดมา แต่มิได้แจ้งการครอบครองไว้ โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันการแจ้งการครอบครองที่ดินต่อจำเลยที่ 1เพื่อให้จำเลยที่ 2 อนุญาต และให้จำเลยที่ 2 ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองโต้แย้งว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ยอมออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้โดยที่คดีนี้ยังประเด็นอื่น ๆ ที่ศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยต่อไปอีก การที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วพิพากษาคดีไปนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่

Share