คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1168/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการห้างจำเลยที่ 2 และในฐานะส่วนตัว ได้ทำบันทึกยินยอมซ่อมรถโจทก์ที่ 1 และยินยอมชดใช้ค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 2 ในการที่นายสมุทรลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำละเมิดโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับรับผิดตามบันทึก โจทก์มิได้ฟ้องจำเลยฐานละเมิด จึงไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างไร เป็นฟ้องที่แสดงชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
บันทึกไกล่เกลี่ยที่มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ตัวแทนจำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้ค่าซ่อมรถของโจทก์ที่ 1 และค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 2 โดยจะมอบหมายให้บริษัทประกันภัยมาตกลงกันเองภายหลัง และโจทก์ทั้งสองก็พอใจและไม่ติดใจเอาความ ดังนี้ แม้บันทึกไกล่เกลี่ยจะไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะมิได้เป็นสัญญาที่ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้เสร็จสิ้นไป ยังมีเงื่อนไขให้บริษัทประกันภัยตกลงจำนวนเงินค่าซ่อมและค่ารักษาพยาบาล แต่ก็ถือได้ว่าเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่งซึ่งสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 367 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตามบันทึกไกล่เกลี่ยนั้นได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการห้างจำเลยที่ 2 และในฐานะส่วนตัว ได้ทำบันทึกท้ายฟ้องว่าเป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 ยอมชดใช้ค่าซ่อมรถและค่ารักษาพยาบาล ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 ฉะนั้นการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง และการตั้งตัวแทนซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 นั้น ใช้แต่กรณีที่มีการตั้งตัวแทนจริงๆ ไม่รวมถึงการเป็นตัวแทนเชิดตามมาตรา 821 จึงไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาที่จำเลยยอมรับผิดใช้ค่าซ่อมและรักษาพยาบาลแก่โจทก์ มิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดโดยตรง จึงมีอายุความ 10 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการห้างจำเลยที่ 2 และในฐานะส่วนตัวได้บันทึกยินยอมซ่อมรถโจทก์ที่ 1 และจ่ายค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 2 ในการที่นายสมุทรลูกจ้าง จำเลยที่ 2 ขับรถชนรถโจทก์ที่ 1 และทำให้โจทก์ที่ 2 บาดเจ็บ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองชำระค่าซ่อมรถและค่ารักษาพยาบาลพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง

จำเลยทั้งสองให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความแล้วโจทก์ตกลงไปเรียกร้องค่าเสียหายกับบริษัทประกันภัยแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิด

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินค่าซ่อมและค่ารักษาพยาบาลรวม 29,573 บาท 25 สตางค์ แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าซ่อมรถเป็นเงิน17,365 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 กับให้ชำระค่ารักษาพยาบาล 2,510 บาทแก่โจทก์ที่ 2

จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์บรรยายว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการจำเลยที่ 2 และในฐานะส่วนตัว ได้ทำบันทึกยินยอมซ่อมรถโจทก์ที่ 1 และยินยอมชดใช้ค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 2 ในการที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ทำละเมิดโจทก์ทั้งสองขอให้บังคับให้รับผิดตามบันทึกโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยฐานละเมิด จึงไม่จำเป็นต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์อย่างไรเป็นฟ้องที่แสดงชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม

บันทึกไกล่เกลี่ยที่มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ตัวแทนจำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้ค่าซ่อมรถของโจทก์ที่ 1 และค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 2 โดยจะมอบหมายให้บริษัทประกันภัยมาตกลงกันเองภายหลัง และโจทก์ทั้งสองก็พอใจและไม่ติดใจเอาความ ดังนี้ แม้บันทึกไกล่เกลี่ยจะไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะมิได้เป็นสัญญาที่ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้เสร็จสิ้นไป ยังมีเงื่อนไขให้บริษัทประกันภัยตกลงจำนวนเงินค่าซ่อมและค่ารักษาพยาบาล แต่ก็ถือได้ว่าเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่งซึ่งสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 367 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตามบันทึกไกล่เกลี่ยนั้นได้

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการจำเลยที่ 2 และในฐานะส่วนตัว ได้บันทึกท้ายฟ้องว่าเป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 ยอมชดใช้ค่าซ่อมรถและรักษาพยาบาลย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 ไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 ฉะนั้นการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง และการตั้งตัวแทนซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าต้องทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 798 นั้น ใช้แต่กรณีที่มีการตั้งตัวแทนจริง ๆ ไม่รวมถึงการเป็นตัวแทนเชิดตามมาตรา 821 จึงไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ

โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายตามสัญญาที่จำเลยยอมรับผิดใช้ค่าซ่อมและรักษาพยาบาลแก่โจทก์ มิใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดโดยตรง จึงมีอายุความ 10 ปี

พิพากษายืน

Share