คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3080/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ธนาคารโจทก์มีวัตถุประสงค์อย่างไร ไม่เกี่ยวกับสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ หรือข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ซึ่งโจทก์จะต้องแสดงโดยแจ้งชัดในคำฟ้องตามนัย มาตรา172 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องแสดงมาในคำฟ้อง
หนังสือมอบอำนาจไม่ระบุว่าให้ฟ้องผู้ใด ข้อหาใด แต่ระบุไว้ว่า ” ยื่นฟ้อง ต่อสู้ เข้าเป็นคู่ความ และดำเนินคดีใด ๆ ซึ่งสาขาที่กล่าวแล้วมีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องอยู่ ” เมื่อจำเลยทำหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากธนาคารโจทก์สาขาที่ ก. เป็นผู้จัดการ ก. ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจฟ้อง
แม้หนังสือมอบอำนาจจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ จึงไม่สมบูรณ์เท่ากับไม่ได้มอบอำนาจกันนั้น แต่เมื่อจำเลยยอมรับอยู่แล้วว่าได้มีการมอบอำนาจกันจริง จึงไม่จำต้องอาศัยใบมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานในคดีอีก จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และมีหนี้อยู่ตามจำนวนที่โจทก์กล่าวในฟ้องจริง เพียงแต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าหนี้จำนองดังกล่าวนี้เป็นส่วนของ จำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชอบชำระแก่โจทก์โดยต้อง ชำระผ่านบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ก็ทราบดี จำเลยที่ 1 ไม่ต้อง รับผิด ภาระการพิสูจน์ความข้อนี้ตกหน้าที่จำเลยที่ 1 ต้องนำพยาน หลักฐานมาสืบว่าข้อเท็จจริงเป็นดังกล่าวอ้าง เมื่อไม่สืบพยานจำเลยที่ 1 ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 151,245.21บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีอย่างธรรมดาไม่ทบต้น นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ หากไม่พอชำระ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้จนครบ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ประเด็นข้อ 1 จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ 300,000 บาทเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2519 แล้วไม่เคยชำระให้โจทก์เลยมีแต่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น นับเพียงวันที่ 29 มกราคม2522 จำเลยตกเป็นลูกหนี้โจทก์ 151,245 บาท 21 สตางค์ เป็นฟ้องเคลืบคลุมเพราะสับสนวกวนเข้าใจยาก ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามคำให้การของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ไว้ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะเหตุดังกล่าวนี้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอีกประการหนึ่งว่า คำฟ้องของโจทก์มิได้แสดงให้ปรากฏว่าวัตถุประสงค์และเขตอำนาจของบริษัทธนาคารโจทก์มีอย่างไร ทำให้จำเลยเสียเปรียบไม่อาจให้การต่อสู้คดีได้โดยถูกต้อง เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าโจทก์มีขอบวัตถุที่ประสงค์ของตนอย่างไรไม่เกี่ยวกับสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ หรือข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งโจทก์จะต้องแสดงโดยแจ้งชัดในคำฟ้องตามนัยมาตรา 172 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องแสดงมาในคำฟ้อง ฟ้องโจทก์หาเคลือบคลุมไม่

ประเด็นข้อ 2. จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องโจทก์ไม่ระบุว่าให้ฟ้องผู้ใด ข้อหาใด จึงเป็นใบมอบอำนาจที่ไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ได้ให้การต่อสู้ไว้แต่เพียงว่า หนังสือมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เพราะไม่มีลายเซ็นชื่อของนายกองศรี เทียราษฎร์ ผู้รับมอบอำนาจและไม่มีข้อความระบุว่าให้ฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานใดเท่านั้น จึงเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้มีการทำหนังสือมอบอำนาจกันจริงตามหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องตามหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว แม้จะไม่มีข้อความระบุว่า มอบอำนาจให้ฟ้องผู้ใดจริงดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาก็ตาม แต่ก็มีข้อความระบุไว้ในฟ้องว่ามอบอำนาจให้นายกองศรี เทียราษฎร์ ซึ่งเป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาศรีสะเกษ มีอำนาจ”ยื่นฟ้อง ต่อสู้ เข้าเป็นคู่ความและดำเนินคดีใด ๆ ซึ่งสาขาที่กล่าวแล้วมีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องอยู่” คดีนี้ข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์และคำให้การของจำเลยฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากธนาคารโจทก์สาขาศรีสะเกษ ซึ่งนายกองศรี เทียราษฎร์ เป็นผู้จัดการ นายกองศรี เทียราษฎร์ผู้รับมอบอำนาจจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอีกประการหนึ่งว่าสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องไม่ปรากฏข้อความว่าได้ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามกฎหมาย เชื่อได้ว่าต้นฉบับก็คงไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ จึงไม่สมบูรณ์ เท่ากับไม่ได้มอบอำนาจกันนั้น เห็นว่าจำเลยยอมรับอยู่แล้วว่าได้มีการมอบอำนาจกันจริงตามที่วินิจฉัยมาข้างต้น จึงไม่จำต้องอาศัยใบมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานในคดีอีก

ประเด็นข้อ 3 จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าคดีนี้โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยปฏิเสธหน้าที่นำสืบต่อโจทก์นำสืบก่อน เมื่อไม่สืบพยาน โจทก์ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีศาลล่างวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับตามฟ้องโจทก์แล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์ และนับถึงวันที่ 29 มกราคม 2522 ตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 มีหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์อยู่ตามจำนวนที่โจทก์กล่าวในฟ้องจริง เพียงแต่จำเลยที่ 1 อ้างว่าหนี้จำนองดังกล่าวนี้เป็นส่วนของจำเลยที่ 2 ที่จำเลยที่ 2จะต้องรับผิดชอบชำระให้แก่โจทก์ โดยต้องชำระผ่านบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ก็ทราบดี จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด ภาระการพิสูจน์ความข้อนี้ตกหน้าที่จำเลยที่ 1 ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบว่าข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างไม่สืบพยาน จำเลยที่ 1 จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี”

พิพากษายืน

Share