คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2003/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

รถยนต์โจทก์ถูกชนเสียหายจนไม่อาจซ่อมได้โจทก์ขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหายคิดเท่าราคารถที่โจทก์ซื้อกับราคาค่ายางที่ติดรถกับยางอะไหล่ยางรถและยางอะไหล่เป็นส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ของตัวรถตามปกติประเพณีการค้าย่อมรวมอยู่ในราคาของรถที่ทำการซื้อขาย เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับรถการเสื่อมค่าหรือราคาย่อมเป็นไปตามสภาพอยู่ด้วยกันทั้งหมด
อายุความละเมิด 1 ปีนับตั้งแต่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ทำละเมิดด้วยคือนับตั้งแต่อธิบดีกรมตำรวจในฐานะตัวแทนกรมตำรวจรู้ความดังกล่าว

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 50,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 2 ในข้อแรกมีว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า มูลละเมิดเหตุรถชนกันเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2518 จำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้กระทำละเมิดทางอาญา จะนำอายุความทางอาญามาใช้กับจำเลยที่ 2 หาได้ไม่ โจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงมูลละเมิด คดีโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ศาลฎีกาเห็นว่า สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งกำหนดอายุความ 1 ปี ตามบทกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดให้เริ่มนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนหาใช่ให้เริ่มนับแต่วันรู้ถึงการละเมิดเพียงอย่างเดียวดังความเข้าใจของจำเลยไม่ปัญหาว่ากรมตำรวจโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายจะรู้ถึงตัวผู้จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเมื่อใดนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำเบิกความพลตำรวจเอกมนต์ชัย พันธ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจในฐานะตัวแทนโจทก์ว่า พยานเพิ่งทราบตามรายงานการสอบสวนของเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2519 ว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 มีส่วนต้องรับผิดในความเสียหายจากการกระทำละเมิดครั้งนี้ด้วย ดังปรากฏตามรายงานเอกสารหมาย จ.1 ดังนี้ต้องถือเอาวันที่ 8 พฤศจิกายน 2519 ซึ่งเป็นวันที่อธิบดีกรมตำรวจเพิ่งทราบจากรายงานเป็นวันที่กรมตำรวจโจทก์ได้รู้ถึงตัวผู้จะพึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นวันเริ่มต้นนับอายุความดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนปัญหาเรื่องค่าเสียหายตามที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกานั้นพิเคราะห์ตามภาพถ่ายรถของโจทก์หลังถูกชนประกอบกับรายงานการตรวจสภาพความชำรุดเสียหายตามเอกสารหมาย จ.2 แล้วเห็นว่า รถโจทก์ถูกชนโดยแรงพังเสียหายยับเยินชำรุดทั้งคัน ไม่อาจซ่อมใช้งานได้ดังโจทก์นำสืบรถคันนี้โจทก์ซื้อมาในราคา 75,500 บาท โดยรับยกเว้นการเสียภาษีเมื่อ พ.ศ. 2515 เป็นรถใหม่ หน่วยงานของโจทก์เพิ่งรับไปไว้ใช้งานเมื่อ พ.ศ. 2517แล้วมาเกิดเหตุถูกชนเมื่อประมาณกลางปี พ.ศ. 2518 ขณะถูกชนรถโจทก์อยู่ในสภาพค่อนข้างใหม่ประมาณ 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ ที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเต็มตามฟ้อง โดยคิดเท่าราคารถที่โจทก์ซื้อกับราคาค่ายางที่ติดรถ 4 ชุดกับยางอะไหล่อีก 1 ชุด รวมเป็น 5 ชุด ในราคา 4,600 บาท เป็นค่าเสียหายนั้น เห็นว่า ยางรถและยางอะไหล่เป็นส่วนควบและเครื่องอุปกรณ์ของตัวรถตามปกติประเพณีการค้าย่อมรวมอยู่ในราคาของที่ทำการซื้อขาย เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับรถ การเสื่อมค่าหรือราคาย่อมเป็นไปตามสภาพอยู่ด้วยกันทั้งหมด ดังนั้นราคารถคันเกิดเหตุจากสภาพของรถใหม่น่าจะมีราคาทั้งหมด 75,500 บาท แม้จะอยู่ในสภาพค่อนข้างใหม่ แต่เมื่อนำไปใช้งานบ้างแล้ว การเสื่อมสภาพย่อมมีเป็นธรรมดาแต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายให้ 50,000 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า น่าจะน้อยไป เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์และสภาพของรถโจทก์ขณะถูกชนเสียหายจนไม่อาจซ่อมได้ดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายแก่รถของโจทก์ให้เป็นเงิน 65,000 บาท ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าเสียหายไม่ควรเกิน 25,000 บาทนั้น เป็นข้อกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยไม่สมเหตุผล ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเป็นบางส่วน

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 65,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2518 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”

Share