แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานเห็นว่าโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานจึงให้คำเตือนแก่โจทก์โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 77 แห่งประกาศดังกล่าวเช่นนี้ แม้จะได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้วก็ไม่ใช่เป็นกรณีที่จะถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง ดังที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 คำวินิจฉัยของกรมแรงงานจำเลยที่ 2 ก็ไม่มีผลบังคับเป็นพิเศษไปกว่าคำเตือนของจำเลยที่ 1โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เช่นกันจำเลยไม่ยกขึ้นอ้างในคำแก้อุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง แต่โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง 43 คนนั้น คำเตือนของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “แม้จำเลยจะมิได้โต้เถียงต่อมาในคำแก้อุทธรณ์อีกว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง แต่เรื่องอำนาจฟ้องก็เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง และเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้เสียก่อน
ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำเตือนที่ 82/2521 ถึงโจทก์ แจ้งว่า นายบุญยิ่ง อิ่มสำราญ กับพวกรวม 44 คนได้ร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงานว่า โจทก์เลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ได้สอบถามข้อเท็จจริงและพิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นกรณีที่ต้องถือว่าสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับลูกจ้างได้สิ้นสุดลงโดยนายจ้างเลิกจ้างเนื่องจากไม่มีงานให้ลูกจ้างทำต่อไป อันเป็นการเลิกจ้างโดยลูกจ้างมิได้กระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ 47 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้ อาศัยอำนาจตามความในข้อ 77 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวจึงเตือนให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง 43 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างประจำและได้จ้างไว้ทำงานติดต่อกันครบ 120 วันแล้ว โดยให้นำเงินไปจ่ายให้ลูกจ้าง ณ กรมแรงงานและให้ปฏิบัติตามคำเตือนภายใน 10 วันนับแต่วันรับคำเตือน ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้ฝ่าฝืนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2515 จึงให้คำเตือนแก่โจทก์โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 77 แห่งประกาศดังกล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่เป็นกรณีที่จะถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ได้วินิจฉัยไว้เป็นแบบอย่างแล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1444/2519 ระหว่างบริษัทซัมมิทโอโตซีท อินดัสตรีจำกัด โจทก์ กระทรวงมหาดไทย กับพวก จำเลย ส่วนการกระทำของจำเลยที่ 2 นั้น ก็เห็นได้ว่า เป็นเสมือนการรับรองว่าคำเตือนของจำเลยที่ 1 ถูกต้องแล้วเท่านั้น คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ไม่มีผลบังคับเป็นพิเศษไปกว่าคำเตือนของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เช่นกัน ที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ก่อนที่พนักงานตรวจแรงงานจะออกคำเตือนตามข้อ 77 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานก็จะต้องเข้าไปในสถานที่ทำงานเพื่อตรวจตรา สอบถามเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และให้ส่งหลักฐานหรือเอกสารต่าง ๆ เหล่านี้ทุกประการหรือประหนึ่งประการใด เพื่อวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรเป็นการผิดกฎหมายคุ้มครองแรงงานหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 ออกคำเตือนให้โจทก์ปฏิบัติอย่างใดนั้น เป็นผลจากการวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คำเตือนนี้จึงมีลักษณะเป็นคำวินิจฉัยของพนักงานแรงงานนั่นเอง เมื่อโจทก์เห็นว่าคำเตือนอันมีลักษณะเป็นคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ถูกต้อง ก็ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนนั้นศาลฎีกาเห็นว่าการที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะเตือนให้ผู้ใดปฏิบัติการให้ถูกต้องตามกฎหมายก็ย่อมต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายก่อนเป็นธรรมดาต่อเมื่อเห็นว่าผู้นั้นมิได้ปฏิบัติการให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจะให้คำเตือนไป เมื่อคำเตือนของจำเลยที่ 1 ระบุชัดว่า เตือนโจทก์โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 77 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน แม้ก่อนเตือนจะได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ก็ไม่ทำให้คำเตือนนั้นกลายเป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดไปได้ และที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่า คำเตือนของจำเลยที่ 1 ได้กำหนดให้โจทก์ปฏิบัติตามภายในระยะเวลาที่กำหนด ทำให้มีลักษณะเป็นคำสั่ง หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามก็อาจถูกดำเนินคดีอาญา ดังนั้นเมื่อโจทก์เห็นว่าคำเตือนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็นับได้ว่าเกิดมีคดีพิพาทกันเกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานแล้ว โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือนดังกล่าวกับคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 เสียได้ตามมาตรา 8(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้าการกระทำของโจทก์เป็นความผิดอาญา โจทก์ก็จะถูกดำเนินคดีอาญา ได้อยู่แล้ว มิใช่ว่าพนักงานตรวจแรงงานจะต้องให้คำเตือนเสียก่อน เพราะตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ 73 นั้น พนักงานตรวจแรงงานจะให้คำเตือนเสียก่อนหรือไม่ก็ได้ ส่วนมาตรา 8(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 นั้นบัญญัติว่า “คดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์” ก็เมื่อการที่จำเลยที่ 1 ให้คำเตือนแก่โจทก์นั้นไม่เป็นการที่จะถือได้ว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น ก็ย่อมต้องถือว่า ไม่มีข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยอันจะทำให้โจทก์มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษว่า เมื่อได้รับคำเตือนแล้วไม่เห็นด้วยกับคำเตือนนั้น ก็ให้ฟ้องคดีเพื่อให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางในปัญหานี้ และเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเสียแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นตามอุทธรณ์ของโจทก์อีก”
พิพากษายืน