คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยบุกรุกเข้าครอบครองที่พิพาทก่อนวันที่ 4 มีนาคม 2515 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 มีผลใช้บังคับ การกระทำของจำเลย จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 108 ทวิ เพราะการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 9 และมีโทษตามมาตรา 108 ทวิ นั้นจะต้องเป็นการฝ่าฝืนนับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับเป็นต้นไป

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 9, 108 ทวิ ป.ว. 96วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2515 ข้อ 11 จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 100 บาท รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ให้จำเลยออกจากที่ดินที่บุกรุก จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาต่อไปว่า จำเลยแต่ละคนได้บุกรุกเข้าไปครอบครองที่พิพาทตั้งแต่เมื่อใด จำเลยที่ 1 เบิกความว่าซื้อที่พิพาทจากนายศูนย์จำเลยที่ 2 13 ปีแล้ว จำเลยที่ 2 เบิกความว่าครอบครองที่พิพาทมาตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2510 ตามใบจองหมาย ล.15 จำเลยที่ 3 เบิกความว่าซื้อต่อจากจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 เบิกความว่าครอบครองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 จำเลยที่ 5 ว่าครอบครองมา 20 ปี จำเลยที่ 6ว่าครอบครองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2506 จำเลยที่ 7 ว่าซื้อจากนายดาน ตั้งแต่ พ.ศ. 2508 จำเลยที่ 8 ว่าซื้อจากจำเลยที่ 5 มา 10 ปีเศษแล้ว จำเลยที่ 9ว่าซื้อจากจำเลยที่ 10 ตั้งแต่ พ.ศ. 2505 จำเลยที่ 10 ว่าครอบครองมาตั้งแต่พ.ศ. 2505 ส่วนพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสิบเริ่มบุกรุกเข้าครอบครองที่พิพาทตั้งแต่เมื่อใด แต่ตามเอกสารหมาย จ.15, 16,17, 18, 19 ดังที่ได้กล่าวมาแล้วน่าเชื่อว่าจำเลยบุกรุกมาก่อนวันที่ 4 มีนาคม2515 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 96 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์2515 มีผลใช้บังคับ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 108 ทวิ เพราะการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 9 และมีโทษตามมาตรา 108 ทวิ นั้น จะต้องเป็นการฝ่าฝืนนับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าวใช้บังคับคือนับแต่วันที่ 4มีนาคม 2515 เป็นต้นไป การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 9 อยู่ก่อนวันดังกล่าวซึ่งจะมีโทษตามมาตรา 108 ต้องประกอบด้วยจำเลยฝ่าฝืนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบที่คณะกรรมการตามกฎหมายนี้ได้กำหนด ทั้งจะต้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งเป็นหนังสือให้ออกจากที่ดินพิพาทด้วย แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องมาดังกล่าวคงมีแต่คำขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 108 เท่านั้น จึงลงโทษจำเลยไม่ได้เพราะโจทก์มิได้กล่าวในฟ้อง ตามมาตรา 192 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 166/2517 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลก โจทก์ นายประเสริฐ มทะโรจน์ กับพวก จำเลย”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share