คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2279/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เครื่องสูบน้ำที่ถูกจำเลยลักไปเป็นเครื่องมือเครื่องกลอันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมของผู้มีอาชีพกสิกรรม เมื่อยังมีสภาพและรูปร่างเป็นเครื่องสูบน้ำอยู่ก็ต้องถือว่าเข้าหลักเกณฑ์แล้ว จะเสียหรือใช้การได้ไม่เป็นปัญหา เพราะถ้าเสียก็ยังสามารถซ่อมแซมให้ดีได้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(12) ไม่ได้กำหนดว่าการลักเครื่องมือเครื่องกลดังกล่าวจะต้องเป็นทรัพย์ที่ยังใช้การได้เท่านั้นจำเลยจึงจะรับโทษหนักขึ้นตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันลักเอาเครื่องสูบน้ำจำนวน 1 เครื่องราคา 6,000 บาท ของนางทองนุช สมพงษ์ ผู้เสียหายผู้มีอาชีพกสิกรรมและเป็นเครื่องมือเครื่องจักรกลที่ผู้เสียหายมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมที่เก็บรักษาไว้ในเคหสถานไปโดยสุจริต การลักทรัพย์ดังกล่าวจำเลยทั้งสามได้ใช้รถยนต์กระบะคันหมาย ม – 1185 ชัยภูมิ เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดและการพาทรัพย์นั้นไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 83, 335, 336 ทวิ และริบรถยนต์กระบะของกลาง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(7)(8)(12) วรรคสาม (ที่ถูกวรรคสองและวรรคสาม), 336 ทวิ, 83 จำคุกคนละ 5 ปี 3 เดือน คำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างเห็นสมควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกคนละ 3 ปี 6 เดือน ริบรถยนต์กระบะของกลาง

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ4 ปี 6 เดือน ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกคนละ 3 ปี ให้คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “นอกจากนี้ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าเครื่องสูบน้ำใช้การไม่ได้ เท่ากับเป็นเศษเหล็กไม่เป็นเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม เห็นว่า ผู้เสียหายซึ่งมีอาชีพประกอบกสิกรรมทำไร่ ทำนา เบิกความว่าเครื่องสูบน้ำของกลางมีไว้สำหรับทำไร่ ทำนา จึงถือได้ว่าเครื่องสูบน้ำของกลางเป็นเครื่องมือเครื่องกลอันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมของผู้มีอาชีพกสิกรรมเมื่อยังมีสภาพและรูปร่างเป็นเครื่องสูบน้ำอยู่ก็ต้องถือว่าเข้าหลักเกณฑ์แล้วจะเสียหรือใช้การได้ไม่เป็นปัญหา เพราะถ้าเสียก็ยังสามารถซ่อมแซมให้ดีได้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(12) และวรรคสาม ไม่ได้กำหนดว่าการลักเครื่องมือเครื่องกลดังกล่าวจะต้องเป็นทรัพย์ที่ยังใช้การได้เท่านั้นจึงจะรับโทษหนักขึ้น”

พิพากษายืน

Share