แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้อนุมัติและมอบหมายให้กรมการทหารสื่อสารจัดตั้งสถานีวิทยุ วปถ. ตามจังหวัดต่าง ๆ ขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ราชการของจำเลย โดยเป็นที่เข้าใจกันว่ากรมการทหารสื่อสารจะต้องหาทางดำเนินการในเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เอาเอง และเมื่อกรมการทหารสื่อสารได้จัดตั้งสถานีวิทยุ วปถ. ขึ้นตามที่จำเลยอนุมัติและมอบหมายแล้วจำเลยก็ย่อมรับรู้และได้เข้าควบคุมสถานีวิทยุเหล่านั้นทั้งหมด โดยทางคณะกรรมการที่จำเลยแต่งตั้งและโดยการควบคุมตามสายงานปกติ คือผ่านทางสำนักงานปลัดบัญชีทหารบก ตลอดจนได้เข้าถือประโยชน์จากทรัพย์สินและวัสดุต่าง ๆ ทั้งขอแบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากการดำเนินงานสถานีวิทยุเหล่านั้นไปเป็นของจำเลยถึงร้อยละ 40 เช่นนี้ การที่กรมการทหารสื่อสารได้ปฏิบัติไปเกี่ยวกับการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถานีวิทยุ วปถ. จึงผูกพันกองทัพบกจำเลย รวมทั้งหนี้ซึ่งผู้อำนวยการกรมการทหารสื่อสารได้กู้ยืมเงินโจทก์เพื่อนำไปพัฒนากิจการวิทยุดังกล่าวกับหนี้เงินที่โจทก์ได้ออกทดรองจ่ายให้ไปตามสัญญาที่มีกับกรมการทหารสื่อสารเพื่อนำไปปรับปรุงสถานีวิทยุกระจายเสียง วปถ. ด้วย จำเลยต้องรับผิดชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2509 คณะกรรมการของกรมการทหารสื่อสารได้มีการประชุมกับผู้จัดการทั่วไปของโจทก์ตกลงหลักการให้โจทก์เช่าเวลาโฆษณาของสถานีวิทยุ วปถ. ทุกแห่ง โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2509 กับได้มอบหมายให้ที่ปรึกษากฎหมายเป็นผู้ร่างสัญญา ซึ่งผู้อำนวยการกิจการวิทยุกระจายเสียงกรมการทหารสื่อสาร ได้มีหนังสือถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.26 ขอให้ยืนยันข้อตกลงดังกล่าวและโจทก์ได้มีหนังสือตอบยืนยันไปแต่ยังไม่ทันถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2509 และยังมิได้มีการลงชื่อในสัญญาซึ่งตกลงว่าจะทำกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งลงวันที่ 21 กันยายน 2509 ห้ามสถานีวิทยุของส่วนราชการต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงกลาโหมออกอากาศรายการโฆษณาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2509 เป็นต้นไป กรมการทหารสื่อสารจึงได้จัดให้มีการประชุม รองผู้อำนวยการกิจการวิทยุกระจายเสียงกรมการทหารสื่อสารได้แถลงว่า ข้อผูกพันระหว่างกิจการวิทยุกระจายเสียงกรมการทหารสื่อสารกับผู้เช่าเวลาโฆษณาถือว่าเป็นสิ้นสุดต่อกัน ซึ่งผู้แทนของโจทก์ก็ได้เข้าร่วมประชุมและรับทราบคำแถลงดังกล่าวด้วยโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านแต่ประการใด เมื่อสัญญาตามที่ได้ตกลงกันไว้ว่าจะทำยังมิได้ทำขึ้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์กับกรมการทหารสื่อสารทหารบกหรือจำเลยมีสัญญาต่อกัน ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรค 2(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 164/2519)
เดิมกรมการทหารสื่อสารตกลงให้โจทก์ทำการรับเหมาเช่าเวลาออกอากาศของสถานีวิทยุ วปถ. จำนวน 12 แห่ง ตั้งแต่ ปี 2507 โดยกรมการทหารสื่อสารขอสงวนสิทธิว่า เมื่อมีคำสั่งของทางราชการกองทัพบกหรือของรัฐบาล สั่งให้ปฏิบัติการใด ๆ ด้วยวิธีการใด ๆ เกี่ยวกับการโฆษณา โจทก์จะต้องถือปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือเงื่อนไขใด ๆ และเมื่อมีเหตุนอกอำนาจใด ๆ บังเกิดขึ้นอันทำให้การกระจายเสียงของ วปถ. ไม่เป็นไปตามปกติแล้วทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันให้ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และโจทก์จะเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากกรมการทหารสื่อสารไม่ได้ต่อมาการที่โจทก์ไม่อาจเข้าทำการโฆษณาในสถานีวิทยุ วปถ. ได้ตามปกติ เนื่องจากมีคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห้ามการโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียงก็ดีหรือ การที่กรมการทหารสื่อสารไม่ได้จัดให้โจทก์เข้าเช่าเวลาโฆษณาในตอนหลังเนื่องจากผู้บัญชาการทหารบกได้มีคำสั่งให้กรมการทหารสื่อสารดำเนินการโฆษณาเองก็ดีต้องถือเป็นเหตุนอกเหนืออำนาจของกรมการทหารสื่อสาร ซึ่งกรมการทหารสื่อสารไม่อาจจะจัดการให้เป็นอย่างอื่นได้โจทก์จึงไม่อาจโต้แย้งและไม่มีสิทธิจะเรียกค่าเสียหายใด ๆจากกรมการทหารสื่อสารตามนัยแห่งข้อตกลงเดิมที่โจทก์มีอยู่กับกรมการทหารสื่อสารดังกล่าวข้างต้นได้และเมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากกรมการทหารสื่อสาร โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะฟ้องเรียกจากจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องใจความว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการของกองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม กรมการทหารสื่อสารเป็นส่วนราชการส่วนหนึ่งของจำเลย มีหน้าที่หลายอย่างรวมทั้งหน้าที่ดำเนินงานกิจการกระจายเสียงจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง วปถ. ของกองทัพบกทั่วราชอาณาจักร
เมื่อระหว่าง พ.ศ. 2498 ถึง พ.ศ. 2504 กรมการทหารสื่อสารได้จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงประจำถิ่น เรียกชื่อย่อว่า วปถ. ตามจังหวัดต่าง ๆ รวม 12 สถานี โดยความเห็นชอบของจำเลย แต่รัฐบาลยังไม่พร้อมที่จะให้เงินงบประมาณเพื่อการนี้ กรมการทหารสื่อสารจึงได้รับคำสั่งและรับมอบหมายให้ดำเนินการในทางหารายได้ช่วยตัวเองโดยการจัดหาเงินกู้จากเอกชนมาลงทุนในการก่อสร้าง จัดหาเครื่องส่งและอุปกรณ์ในการส่งกระจายเสียง รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นและให้ผู้กู้ให้ได้รับสิทธิเหมาเวลาโฆษณาของสถานีวิทยุที่จัดตั้งขึ้นเป็นการตอบแทน
เพื่อการนี้ พันเอกสาลี่หัวหน้ากองการสื่อสารประจำถิ่น กรมการทหารสื่อสารและพลตรีสุภชัยเจ้ากรมการทหารสื่อสารด้วยความเห็นชอบของ คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง (ซึ่งทางราชการกองทัพบกแต่งตั้ง)ของกรมการทหารสื่อสารและของจำเลย ได้กู้ยืมเงินโจทก์และให้โจทก์ทดรองจ่ายเงินล่วงหน้าหลายคราว
นอกจากนี้โจทก์ยังได้ช่วยลงทุนปรับปรุงสถานีวิทยุ วปถ. ต่าง ๆ ตามมติและความเห็นชอบของจำเลยอีกหลายครั้งหลายคราวเป็นเงิน 3,085,431.20 บาท การที่โจทก์ให้จำเลยกู้เงินโดยมิได้คิดดอกเบี้ย กับออกเงินทดรองและลงทุนให้จำเลยก็เพื่อเป็นการตอบแทนกับการที่โจทก์จะได้สิทธิในการจัดธุรกิจเกี่ยวกับเวลาและการกระจายเสียงในสถานีวิทยุ วปถ. รวม 14 สถานี
ครั้นวันที่ 1 ตุลาคม 2509 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้สั่งให้สถานีวิทยุกระจายเสียงในเครืองกองทัพบกงดการโฆษณาสินค้รทุกสถานีเป็นการชั่วคราวเพื่อวางระเบียบควบคุมใหม่ จำเลยจึงไม่อาจให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในสถานีวิทยุ วปถ. ทั้ง 14 สถานีได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2512 พลตรีเฉลิมเจ้ากรมการทหารสื่อสารซึ่งดำรงตำแหน่งแทนพลตรีสุภชัยได้อนุญาตให้บถุคคลภายนอกเข้าดำเนินการใช้เวลาของสถานีวิทยุกระจายเสียง วปถ. ออกโฆษณาสินค้าโดยพลการ โจทก์ร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากจำเลยแล้วพลเอกทวนชัยผู้บัญชาการทหารบกทำการแทนผู้บัญชาการทหารบกได้เชิญโจทก์เข้าร่วมประชุม ทั้งสองฝ่ายตกลงยืนยันถึงสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาตามที่มีอยู่เดิมและตกลงให้โจทก์เข้าดำเนินการใช้ประโยชน์ในสถานวิทยุทั้ง 8 สถานีดังกล่าวก่อน ส่วนอีก 6 สถานี เมื่อจำเลยอนุมัติเมื่อใดก็ให้โจทก์เข้าดำเนินการได้ โจทก์จึงเข้าดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2513 ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2513 จำเลยแจ้งให้โจทก์ระงับการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2513 เป็นต้นไป แล้วจำเลยได้อนุญาตให้บุคคลภายนอกเช่น บริษัทสหสยามวิทยุจำกัดเข้าดำเนินการกิจการในสถานีวิทยุ วปถ.ทุกสถานี อันเป็นการผิดสัญญาต่างตอบแทนทำให้โจทก์เสียหายต้องขาดกำไรสุทธิที่ควรได้ถ้าโจทก์ได้เข้าใช้ประโยชน์ในสถานีวิทยุกระจายเสียง วปถ. ทั้ง 14 สถานี ครบ 8 ปีตามสัญญา
ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหาย 93,791,527.36 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัด ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,172,394 บาท และชำระหนี้เงินกู้กับเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายรวม 2,740,527.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 34,256.58 บาท และให้ใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งจากต้นเงินทั้งหมด 96,532,055.17 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายกรมการทหารสื่อสารเป็นส่วนราชการในบังคับของจำเลยแต่ไม่มีฐานะนิติบุคคล มีหน้าที่ดำเนินกิจการกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และดำเนินการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง วปถ. เพื่อเผยแพร่กิจการแก่ประชาชนทั่วราชอาณาจักรเมื่อระหว่างปี พ.ศ. 2498 ถึง พ.ศ. 2504 กรมการทหารสื่อสารได้จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง วปถ. ขึ้น 12 สถานี โดยมีคณะกรรมการควบคุมกิจการวิทยุกระจายเสียงซึ่งเจ้ากรมการทหารสื่องสารเป็นประธานเป็นผู้ดำเนินการ แต่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล พันเอกสาลี่ในฐานะหัวหน้ากองการสื่อสารประจำถิ่น (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกองการสื่องสาร) ได้กู้เงินโจทก์มาปรับปรุงและขยายกิจการวิทยุกระจายเสียง วปถ. รวม 3 ครั้ง เป็นจำนวน3,200,000 บาท กรมการทหารสื่องสารจึงได้ยืนยันการชำระหนี้ไปยังโจทก์และได้ผ่อนชำระให้บ้างแล้วคงค้างอยู่ 1,787,630.04 บาท และพลตรีศุภชัยในฐานะเจ้ากรมการทหารสื่อสารกู้เงินโจทก์ไปใช้จ่ายในการสร้างสถานีวิทยุกระจายเสียง วปถ. 16 (ยะลา) เป็นเงิน 722,827.60 บาท นอกจากนี้กรมการทหารสื่อสารยังให้โจทก์ทดรองจ่ายเงินในการปรับปรุงสถานีวิทยุกระจายเสียงวปถ.3 (นครราชสีมา) เป็นเงิน 230,070.17 บาท เงินสองจำนวนหลังนี้กรมการทหารสื่อสารยังมิได้ชำระให้โจกท์ กรมการหทารสื่อสารตกลงหลักการให้โจทก์เช่าสถานีวิทยุกระจายเสียง วปถ. เพื่อการโฆษณารวม 14 แห่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2509 ยังไม่ได้จัดทำสัญญา
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2509 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งห้ามสถานีวิทยุกระจายเสียงในสังกัดออกโฆษณารายการอื่นที่มิใช่เป็นการโฆษณาของทางราชการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2509 เป็นต้นไป ตามข้อตกลงกรมการทหารสื่อสารได้สงวนสิทธิไว้ว่า เมื่อมีคำสั่งห้ามโฆษณาโจทก์จะต้องถือปฏิบัติโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือเงื่อนไขอย่างใดทั้งสิ้น และเมื่อมีเหตุนอกอำนาจใด ๆ เกิดขึ้นทำให้การกระจายเสียงไม่เป็นไปตามปกติแล้ว โจทก์จะเรียกค่าเสียหายไม่ได้
จำเลยไม่อยู่ในฐานะที่โจทก์จะบอกเลิกสัญญาหรือให้ชดใช้เงิน เพราะข้อตกลงที่โจทก์อ้างเป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และกิจการวิทยุกระจายเสียงกับกรมการทหารสื่อสารซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและจำเลยไม่ได้อนุมัติหรือมอบหมายให้กรมการทหารสื่อสารและกิจการวิทยุกระจายเสียงทำแทนจำเลยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะกู้ยืมเงินจากเอกชน หรือให้เอกชนทดรองจ่ายไปก่อน แล้วใช้คืนภายหลังข้อตกลงระหว่างโจทก์กับกรมการทหารสื่อสารและกิจการวิทยุกระจายเสียงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทน
โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกเกินความจริงและไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ยังไม่เกิดขึ้น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน 2,440,527.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งในต้นเงิน 2,740,527.81 บาท นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2514 จนถึงวันก่อนฟ้อง และชำระดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวในต้นเงิน 2,440,527.81 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาใจความว่า ข้อตกลงการเช่าเวลาโฆษณาระหว่างกรมการหทารสื่อสารกับโจทก์ที่ทำขึ้นมีผลเป็นสัญญาผูกพันกันแล้ว แต่ถึงแม้จะถือว่ายังไม่มีผลผูกพันกันตามข้อตกลงใหม่ ก็ยังผูกพันกันตามสัญญาเดิม เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจึงต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เต็มตามฟ้อง
จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่า กองทัพบกจำเลยได้อนุมัติและมอบหมายให้กรมการทหารสื่อสารจัดตั้งสถานีวิทยุ วปถ. ขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ราชการของจำเลยโดยเป็นที่เข้าใจกันว่ากรมการทหารสื่อสารจะต้องหาทางดำเนินการในเเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เอาเองและเมื่อกรมการทหารสื่อสารได้จัดตั้งสถานีวิทยุ วปถ. ขึ้นตามที่จำเลยอนุมัติและมอบหมายแล้ว จำเลยก็ยอมรับรู้และได้เข้าควบคุมสถานีวิทยุเหล่านั้นทั้งหมด โดยทางคณะกรรมการที่จำเลยแต่งตั้งและโดยการควบคุมตามสายงานปกติ คือผ่านทางสำนักงานปลัดบัญชีทหารบกตลอดจนได้เข้าถือเอาประโยชน์จากทรัพย์สินและวัสดุต่าง ๆ ทั้งขอแบ่งผลประโยชน์ที่ได้จากการดำเนินงานของสถานีวิทยุเหล่านั้นไปเป็นของจำเลยถึงร้อยละ40 การที่กรมการทหารสื่อสารได้ปฏิบัติไปเกี่ยวกับการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถานีวิทยุ วปภ. จึงผูกพันกองทัพบกจำเลย แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าการกู้เงินจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.17, 18 และ 19 จะได้กระทำเมื่อเดือนตุลาคม พฤศจิกายน และ ธันวาคม 2504 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จะได้มีระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเงินและการบัญชีสถานีวิทยุกระจายเสียงพ.ศ. 2505 ออกมาใช้บังคับ แต่พลตรีเฉลิมพยานจำเลยก็เบิกความยอมรับว่าพันเอกสาลี่ซึ่งเป็นผู้ลงชื่อในสัญญากู้ทั้ง 3 ฉบับ ได้ใช้จ่ายเงินเหล่านั้นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ และคณะกรรมการวิทยุกระจายเสียงของกรมการทหารสื่อสารยอมรับสถานหนี้สินเหล่านั้น หนี้สินเหล่านั้นจึงผูกพันกรมการทหารสื่อสารและผูกพันกองทัพบกจำเลยด้วย สำหรับยอดจำนวนหนี้ที่กู้ยืมจากโจทก์และเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายให้ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังว่าเป็นเงิน2,440,527.81 บาท ไม่มีฝ่ายใดฎีกาโต้แย้ง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ควรได้ค่าเสียหายตามฟ้องนั้น ได้พิเคราะห์แล้วปรากฏตามเอกสารหมาย จ.21 ว่า กรมการทหารสื่อสารยินยอมให้โจทก์ทำการรับเหมาเช่าเวลาออกอากาศของสถานี กวส. วปถ. จำนวน 12 แห่ง มีกำหนดเวลา 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2507 และมีรายละเอียดอื่น ๆ อีกหลายข้อ ซึ่งโจทก์ได้มีหนังสือยืนยันข้อตกลงดังกล่าวไปตามเอกสารหมาย จ.22 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2509 คณะกรรมการของกรมการทหารสื่อสารได้มีการประชุมกับพันตำรวจโทประเสร็จผู้จัดการทั่วไปของโจทก์ ให้แก้ไขข้อตกลงกับโจทก์ทั้งหมด แล้วได้ตกลงหลักการเช่าเวลาโฆษณากันใหม่ โดยเปลี่ยนแปลงรายละเอียดไปจากข้อตกลงเดิมบางประการ และคณะกรรมการตกลงขยายเวลาในการเช่าเวลาโฆษณาของสถานี วปถ. ทุกแห่งออกไปเป็นเวลา 8 ปี โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2509 กับได้มอบหมายให้ที่ปรึกษากฎหมายเป็นผู้ร่างสัญญาซึ่งผู้อำนวยการกิจการวิทยุกระจายเสียงกรมการทหารสื่อสาร ได้มีหนังสือถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.26 ขอให้ยืนยันข้อตกลงดังกล่าวและโจทก์ได้มีหนังสือตอบยืนยันไปตามเอกสารหมาย จ.27 แต่ยังไม่ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2509 และยังมิได้มีการลงชื่อในสัญญาซึ่งตกลงว่าจะทำกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้มีคำสั่งที่ 277/09 ลงวันที่ 21 กันยายน 2509 ห้ามสถานีวิทยุของส่วนราชการต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงกลาโหมออกอากาศรายการโฆษณาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2509 เป็นต้นไป ตามเอกสารหมาย ล.6 กรมการทหารสื่อสารได้จัดให้มีการประชุมประธานในที่ประชุม คือพลตรีเฉลิมซึ่งขณะนั้นมียศเป็นพันเอกและดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการกิจการวิทยุกระจายเสียง กรมการทหารสื่อสาร ได้แถลงว่า ข้อผูกพันระหว่าง กวส.สส. (กิจการวิทยุกระจายเสียง กรมการทหารสื่อสาร) กับผู้เช่าเวลาโฆษณาถือว่าเป็นอันสิ้นสุดต่อกัน” ซึ่งผู้แทนของโจทก์ก็ได้เข้าร่วมประชุมและรับทราบคำแถลงดังกล่าวด้วยโดยมิได้โต้แย้งคัดค้านแต่ประการใด และข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า สัญญาระหว่างโจทก์กับกรมการทหารสื่อสารซึ่งได้ตกลงกันไว้ตามบันทึกการประชุมท้ายเอกสารหมาย จ.26 ว่าได้มอบหมายให้ที่ปรึกษากฎหมายเป็นผู้ร่าง ก็ไม่ได้มีการร่างและไม่มีการลงนาม แม้ในตอนหลังที่โจทก์ได้ไปร้องเรียนต่อจำเลย และได้มีการประชุมร่วมกับผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2513 ตามเอกสารหมาย ล.11 ซึ่งที่ประชุมตกลงจะให้โจทก์เช่ากิจการของสถานีได้ แต่ก็ได้ระบุไวัในหลัการข้อ 4 ว่า “ให้ สส.หน.นธน.สบ. ทบ. และผู้แทนบริษัทฯ (โจทก์) ร่วมพิจารณาร่างข้อตกลงเสียใหม่ ฯลฯ “แต่ก็มิได้มีการลงนามในข้อตกลงหรือสัญญาที่ว่าจะทำกันขึ้น เมื่อสัญญาตามที่โจทก์ตกลงกันไว้ว่าจะทำยังมิได้ทำขึ้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์กับกรมสื่อสารทหารบกหรือจำเลยมีสัญญาต่อกัน ทั้งนี้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรค 2 เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 164/2519 ระหว่างนายสันติ ศิวะเกื้อ โจทก์นายพิษณุ มหาสุวรรณ จำเลย จึงจะบังคับกันตามบันทึกการประชุมท้ายเอกสารหมาย จ.26 หรือตามเอกสารหมาย ล.11 ยังไม่ได้
เมื่อปรากฏโจทก์กับกรมการทหารสื่อสารหรือจำเลยมิได้มีสัญญาต่อกันสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับกรมการทหารสื่อสารจะมีอยู่อย่างไร จึงต้องพิจารณาตามเอกสารหมาย จ.21, 23 และ จ. 25 ซึ่งโจทก์กับกรมการทหารสื่อสารอาศัยเป็นหลักปฏิบัติต่อกันตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2507 เป็นต้นมา ตามเอกสารทั้ง 3 ฉบับซึ่งเป็นหนังสือของกรมการทหารสื่อสารแจ้งข้อตกลงให้สิทธิโจทก์ในการรับเหมาเช่าเวลาโฆษณาในสถานีวิทยุ วปถ. มีข้อความช้ดแจ้งในทำนองเดียวกันว่ากรมการทหารสื่อสารขอ สงวนสิทธิว่า เมื่อมีคำสั่งของทางราชการกองทัพบกหรือของรัฐบาล สั่งให้ปฏิบัติการใด ๆ ด้วยวิธีการใด ๆ เกี่ยวกับการโฆษณา โจทก์จะต้องถือปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อโต้แย้งหรือเงื่อนไขใด ๆ และเมื่อมีเหตุนอกอำนาจใด ๆ บังเกิดขึ้นอันทำให้การกระจายเสียงของ วปถ. ไม่เป็นไปตามปกติแล้ว ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันในถ้อยที่ถ้อยอาศัยกัน และห้างหุ้นส่วนจำกัดบูรพาโฆษณา (โจทก์) จะเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากกรมการทหารสื่อสารไม่ได้ ซึ่งโจทก์ได้ตอบยืนยันตามข้อตกลงที่มีข้อความดังกล่าวไปยังกรมการทหารสื่อสารโดยเอกสารหมายจ.22 และ จ. 24 ฉะนั้น การที่โจทก์ไม่อาจเข้าทำการโฆษณาในสถานีวิทยุวปถ. ได้ตามปกติเนื่องจากมีคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมห้ามการโฆษณาทางวิทยุกระจายเสียง ตามเอกสารหมาย ล.6 หรือการที่กรมการทหารสื่อสารไม่ได้จัดให้โจทก์เข้าเช่าช่วงเวลาโฆษณาในสถานีวิทยุวปถ. ในตอนหลังเนื่องจากผู้บัญชาการทหารบกได้มีคำสั่งให้กรมการทหารสื่อสารดำเนินการโฆษณาเอง ดังปรากฏในเอกสารหมาย จ.106 ซึ่งกรมการทหารสื่อสารได้แจ้งให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย จ.59 แล้วว่ากรมการทหารสื่อสารจะเข้าดำเนินการโฆษณาเองจนกว่าจะได้ทำความตกลงกันตามคำสั่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นวิธีการที่กองทัพบกสั่งให้กรมการทหารสื่อสารปฏิบัติเกี่ยวกับการโฆษณา และในที่สุดโจทก์กับกรมการทหารสื่อสารก็ตกลงกันไม่ได้จึงต้องถือว่าเป็นเหตุนอกอำนาจของกรมการทหารสื่อสาร ซึ่งกรมการทหารสื่อสารไม่อาจจะจัดการให้เป็นอย่างอื่นได้โจทก์จึงไม่อาจโต้แย้งและไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากกรมการทหารสื่อสารตามนัยแห่งข้อตกลงเดิมที่โจทก์มีอยู่กับกรมการทหารสื่อสารและเมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากกรมการทหารสื่อสาร โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะฟ้องเรียกจากจำเลยได้
พิพากษายืน