คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7172/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นประกาศซึ่งมีสภาพใช้บังคับอย่างกฎหมาย ศาลต้องรู้เอง
ตามสัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ระบุหมายเหตุไว้ว่าค่าบริการจะถูกปรับเพิ่มสูงขึ้นในอัตราร้อยละเดียวกันกับการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยให้มีผลในขณะเดียวกันกับที่ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับสูงขึ้นนั้นมีผลใช้บังคับ ถือได้ว่าจำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับค่าบริการเพิ่มสูงขึ้นได้เท่าจำนวนการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและให้โจทก์ปรับค่าบริการเพิ่มได้ทันทีเมื่อการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีผลใช้บังคับ
ท. เป็นลูกจ้างของบริษัทควบคุมการก่อสร้างอาคารของจำเลยท. มิได้เป็นลูกจ้างของจำเลย แม้ ท. ตกลงกับโจทก์และโจทก์จัดบริการวิทยุสื่อสารให้พนักงานรักษาความปลอดภัยนำไปใช้เพื่อความสะดวกในการทำงานของพนักงานรักษาความปลอดภัย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยตกลงให้โจทก์จัดบริการวิทยุสื่อสารดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ผู้จัดการฝ่ายวางแผนของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยไปประจำที่อาคารออริเฟลมอโศกทาวเวอร์ ของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 ถึงวันที่ 6เดือนสิงหาคม 2537 โดยวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 ให้โจทก์จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยจำนวน 3 คน ค่าบริการคนละ 8,400 บาทต่อเดือนหลังจากโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาว่าจ้างดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสองขอเพิ่มจำนวนพนักงานรักษาความปลอดภัยหลายครั้งแต่ละครั้งจำเลยทั้งสองตกลงให้โจทก์ปรับค่าบริการเพิ่มและจำเลยทั้งสองขอเพิ่มบริการวิทยุสื่อสารในการรักษาความปลอดภัยด้วย กล่าวคือ วันที่ 19 กรกฎาคม2536 จำเลยทั้งสองขอเพิ่มพนักงานรักษาความปลอดภัยเป็น 11 คนค่าบริการคนละ 9,130 บาทต่อเดือน และหัวหน้ารักษาความปลอดภัย2 คน ค่าบริการคนละ 13,500 บาทต่อเดือน พร้อมกับให้โจทก์จัดบริการวิทยุสื่อสาร 5 เครื่อง คิดเป็นเงินค่าจ้างเครื่องละ 500 บาทต่อเดือน ต่อมาวันที่ 1 กันยายน 2536 จำเลยทั้งสองขอเพิ่มพนักงานรักษาความปลอดภัยอีก4 คน รวมเป็น 15 คน เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ต่อมาวันที่ 1เมษายน 2537 โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงให้เพิ่มค่าบริการพนักงานรักษาความปลอดภัยเป็นคนละ 9,640 บาทต่อเดือน สำหรับหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยเป็นคนละ 14,250 บาทต่อเดือน ส่วนค่าบริการวิทยุสื่อสารราคาเดิม โจทก์ปฏิบัติตามสัญญาว่าจ้างตลอดมาแต่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระค่าบริการ วันที่ 6 สิงหาคม 2537 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาว่าจ้างดังกล่าวกับจำเลยทั้งสอง ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองค้างค่าบริการ ดังนี้

(1) ค่าบริการในส่วนของพนักงานรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นจำนวน 4 คน ค่าบริการคนละ 9,130 บาทต่อเดือน นับแต่วันที่ 1 กันยายน2536 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2537 รวม 7 เดือน เป็นเงิน 255,640 บาท

(2) ค่าบริการตามสัญญาว่าจ้างประจำเดือนมีนาคม 2537เป็นเงิน 129,930 บาท

(3) ค่าบริการตามสัญญาว่าจ้างประจำเดือนเมษายน 2537เป็นเงิน 175,600 บาท

(4) ค่าบริการตามสัญญาว่าจ้างประจำเดือนพฤษภาคม 2537เป็นเงิน 175,600 บาท

(5) ค่าบริการตามสัญญาว่าจ้างประจำเดือนมิถุนายน 2537ซึ่งไม่รวมค่าบริการวิทยุสื่อสาร เป็นเงิน 173,100 บาท

(6) ค่าบริการตามสัญญาว่าจ้างประจำเดือนกรกฎาคม 2537เป็นเงิน 173,100 บาท

(7) ค่าบริการตามสัญญาว่าจ้างของเดือนสิงหาคม 2537 เพียง 6 วัน เป็นเงิน 34,152 บาท

รวมเป็นค่าบริการที่ค้างทั้งสิ้น 1,117,122 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 เป็นเงิน 78,198.54 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองค้างชำระโจทก์จำนวน 1,195,320.54 บาท จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระเงินดังกล่าวแต่ละจำนวนให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองเพิกเฉย เพื่อความสะดวกในการคำนวณดอกเบี้ย โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2537 คำนวณถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 34,431.84บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,229,751.84 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,229,751.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีในต้นเงิน 1,117,122 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาว่าจ้างเอกสารท้ายฟ้องเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญาดังกล่าวในนามของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ตกลงค่าบริการพนักงานรักษาความปลอดภัยกับโจทก์คนละ 8,400 บาทต่อเดือน แต่โจทก์เรียกเก็บเงินเกินเป็นคนละ 9,130 บาทต่อเดือนโดยจำเลยทั้งสองไม่เคยตกลงให้โจทก์ปรับเพิ่มค่าบริการแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองไม่เคยขอใช้เครื่องบริการวิทยุสื่อสาร โจทก์นำวิทยุสื่อสารดังกล่าวเข้ามาใช้เพื่อความสะดวกในการทำงานของโจทก์เอง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 984,785.20 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 920,360 บาท นับแต่วันที่ 1ตุลาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน951,185.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน886,760 บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์2536 จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้จัดพนักงานรักษาความปลอดภัย จำนวน 3 คน ไปดูแลความปลอดภัยที่อาคารออริเฟลมทาวเวอร์ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2536 เป็นต้นไป ค่าบริการคนละ 8,400 บาทต่อเดือนโดยมีข้อตกลงด้วยว่าค่าบริการดังกล่าวยังไม่ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 และค่าบริการจะถูกปรับเพิ่มสูงขึ้นในอัตราร้อยละเดียวกันกับการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและให้มีผลในขณะเดียวกันกับที่ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับสูงขึ้นนั้นมีผลใช้บังคับรายละเอียดปรากฏตามสัญญาว่าจ้างเอกสารหมายจ.3 และคำแปลเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาวันที่ 19 กรกฎาคม 2536 จำเลยที่ 1ให้โจทก์จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยเพิ่มเป็น 11 คน และให้จัดหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัย 2 คน ครั้งสุดท้ายวันที่ 1 กันยายน 2536 จำเลยที่ 1 ให้โจทก์จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยเพิ่มอีก 4 คน รวมเป็น15 คน ส่วนหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยจำนวนเท่าเดิม นอกจากนี้โจทก์นำวิทยุสื่อสารจำนวน 5 เครื่อง ให้พนักงานรักษาความปลอดภัยใช้ปฏิบัติงาน โจทก์จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยไปดูแลความปลอดภัยที่อาคารดังกล่าวถึงวันที่ 6 สิงหาคม 2537 จึงเลิกสัญญาว่าจ้าง โจทก์ทวงถามจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าบริการตามเอกสารหมาย จ.13 ถึง จ.19 แต่จำเลยที่ 1เพิกเฉย

คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิปรับค่าบริการจากจำเลยที่ 1 ให้เพิ่มสูงขึ้นตามฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่าตามสัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย จ.3 และคำแปลเอกสารหมาย จ.4 ได้ระบุหมายเหตุไว้ว่า ค่าบริการจะถูกปรับเพิ่มสูงขึ้นในอัตราร้อยละเดียวกันกับการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยให้มีผลในขณะเดียวกันกับที่ค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับสูงขึ้นนั้นมีผลใช้บังคับเห็นได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 มีข้อตกลงดังกล่าวกับโจทก์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1ยินยอมให้โจทก์ปรับค่าบริการเพิ่มสูงขึ้นได้เท่าจำนวนการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและให้โจทก์ปรับค่าบริการเพิ่มได้ทันทีเมื่อการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีผลใช้บังคับ

ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า โจทก์มิได้นำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แสดงต่อศาลเพื่อสนับสนุนว่าโจทก์มีสิทธิปรับค่าบริการเพิ่มสูงขึ้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ จึงรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ก็ดี ประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ก็ดีเป็นประกาศซึ่งมีสภาพใช้บังคับอย่างกฎหมาย ศาลต้องรู้เอง แม้โจทก์มิได้นำส่งประกาศดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน แต่มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใช้บังคับระหว่างที่โจทก์ให้บริการจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมมีสิทธิปรับค่าบริการให้เพิ่มสูงขึ้นตามสัญญาว่าจ้างได้ ปรากฏว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 22) ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน2536 เป็นต้นไป ส่วนประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 2) ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2537ประกาศดังกล่าวทั้งสองฉบับต่างกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มสูงขึ้นจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิม ดังนั้น โจทก์มีสิทธิปรับค่าบริการให้เพิ่มสูงขึ้นจากค่าบริการเดิมโดยคิดค่าบริการของพนักงานรักษาความปลอดภัยจากเดิมคนละ 8,400 บาทต่อเดือน เป็นคนละ 9,130 บาทต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1เมษายน 2536 เป็นต้นไป และคิดค่าบริการของพนักงานรักษาความปลอดภัยจากเดิมคนละ 9,130 บาทต่อเดือน เป็นคนละ 9,640 บาทต่อเดือน ค่าบริการของหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยจากเดิมคนละ 13,500 บาทต่อเดือนเป็นคนละ 14,250 บาทต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2537 เป็นต้นไปตามฟ้องได้ รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่โจทก์ 1,109,622 บาทเมื่อบวกภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 7 เปอร์เซ็นต์ด้วยแล้วจึงเป็นเงิน 1,187,295.54 บาท

ที่โจทก์ฎีกาประการที่สองว่าโจทก์เรียกค่าบริการประจำเดือนมีนาคม2537 ตามเอกสาร จ.13 และ จ.14 มิได้ซ้ำซ้อนกัน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าค่าบริการประจำเดือนมีนาคม 2537 ของพนักงานรักษาความปลอดภัยจำนวน 4 คน และของพนักงานรักษาความปลอดภัยจำนวน 13 คน ซ้ำซ้อนกันจึงไม่ชอบนั้น ได้ความว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2536 ถึงวันที่ 31 มีนาคม2537 รวม 7 เดือน โจทก์จัดพนักงานรักษาความปลอดภัยให้จำเลยที่ 1 เพิ่มขึ้นอีก 4 คน รวมเป็น 17 คน โจทก์เรียกค่าบริการของพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำเดือนกันยายน 2536 ถึงเดือนมีนาคม 2537 ตามเอกสารหมาย จ.13 เป็นค่าบริการของพนักงานรักษาความปลอดภัยเพียง4 คน ค่าบริการคนละ 9,130 บาทต่อเดือน รวม 7 เดือน เป็นเงิน 255,640บาท ส่วนเอกสารหมาย จ.14 เป็นค่าบริการของพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำเดือนมีนาคม 2537 เป็นเงิน 129,930 บาท เมื่อพิจารณาจำนวนเงินดังกล่าวประกอบคำฟ้อง เห็นได้ว่าจำนวนเงินตามเอกสารหมาย จ.14เป็นค่าบริการของพนักงานรักษาความปลอดภัย 11 คน ค่าบริการคนละ9,130 บาทต่อเดือน เป็นเงิน 100,430 บาท ค่าบริการของหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัย 2 คน ค่าบริการคนละ 13,500 บาทต่อเดือน เป็นเงิน27,000 บาท และค่าบริการวิทยุสื่อสาร 5 เครื่อง เครื่องละ 500 บาทต่อเดือนเป็นเงิน 2,500 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 129,930 บาท ดังนั้น ค่าบริการตามเอกสารหมาย จ.14 จึงเป็นค่าบริการประจำเดือนมีนาคม 2537 ของพนักงานรักษาความปลอดภัย 11 คน และหัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัย 2 คนรวมเป็น 13 คนเท่านั้น ค่าบริการประจำเดือนมีนาคม 2537 ตามเอกสารหมายจ.13 และ จ.14 จึงมิได้ซ้ำซ้อนกันแต่อย่างใด

โจทก์ฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าบริการวิทยุสื่อสารตามฟ้องให้แก่โจทก์หรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนายศักดิ์สรวง อยู่คงดีพยานโจทก์ว่า โจทก์เสนอบริการวิทยุสื่อสาร จำนวน 4 เครื่อง ค่าบริการเครื่องละ500 บาทต่อเดือน จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์จัดบริการวิทยุสื่อสาร จำนวน5 เครื่อง ตามสำเนาหนังสือเสนอราคาวิทยุรับ-ส่งภายในอาคาร และสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.5 กับ จ.6 เห็นว่า ตามสำเนาหนังสือดังกล่าวเอกสารหมาย จ.5โจทก์ทำหนังสือถึงนายทรงวุธ ปราชชญากุล มิได้ทำหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ทั้งได้ความจากคำเบิกความของนายศักดิ์สรวงพยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า พยานไม่ทราบว่านายทรงวุธเป็นใคร ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า นายทรงวุธ ผู้ลงชื่อในเอกสารหมาย จ.6 เป็นลูกจ้างของบริษัท ซี เอ็ม 49 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทควบคุมการก่อสร้างอาคารดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เห็นได้ว่า นายทรงวุธมิได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แม้นายทรงวุธตกลงกับโจทก์และโจทก์จัดบริการวิทยุสื่อสารจำนวน 5 เครื่อง ให้พนักงานรักษาความปลอดภัยนำไปใช้เพื่อความสะดวกในการทำงานของพนักงานรักษาความปลอดภัย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์จัดบริการวิทยุสื่อสารดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องชำระค่าบริการวิทยุสื่อสารตามฟ้องให้แก่โจทก์”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน1,187,295.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน1,109,622 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share