แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ตายเขียนพินัยกรรมด้วยตนเองและลงชื่อไว้ในสมุดบันทึก (ไดอารี่) และมอบสมุดบันทึกนั้นให้ น. ซึ่งเป็นหลานเก็บรักษาไว้ ต่อมาผู้ตายได้ขอกลับคืนไปโดยอ้างว่าผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาไม่พอใจที่มอบให้หลานเป็นผู้เก็บรักษาสมุดบันทึก ผู้คัดค้านกับ น. จึงถ่ายภาพพินัยกรรมและบันทึกข้อความในสมุดไว้ แล้วคืนสมุดให้ผู้ตาย ดังนี้ ต้นฉบับเอกสารน่าจะอยู่ที่ผู้ร้อง แต่ผู้ร้องปฏิเสธว่าไม่มีอยู่ที่ตน ศาลอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารและพยานบุคคลมาสืบ และผู้คัดค้านได้สืบถึงที่มาของเอกสารสำเนาเอกสารจึงรับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 93(2) ฟังได้ว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตั้งผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายพิชัย กังสัมฤทธิ์ ผู้ตาย ให้ยกคำร้องของผู้ร้องในสำนวนแรก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาวินิจฉัยมีว่า นายพิชัยผู้ตายทำพินัยกรรมไว้หรือไม่ ผู้คัดค้านทั้งสองและนายนรินทร์ สมบูรณ์สารเบิกความประกอบกันว่า นายพิชัยผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ตามภาพถ่ายเอกสารหมาย ค.1 โดยเขียนพินัยกรรมด้วยตนเองและลงชื่อไว้ในสมุดบันทึก (ไดอารี่) และมอบสมุดบันทึกนั้นให้นายนริทร์ซึ่งเป็นหลานเก็บรักษาไว้ ต่อมานายพิชัยผู้ตายได้ขอกลับคืนไปโดยอ้างว่าผู้ร้องไม่พอใจที่มอบให้หลานเป็นผู้เก็บรักษาสมุดบันทึก ผู้คัดค้านที่ 2 กับนายนรินทร์ จึงถ่ายภาพพินัยกรรมดังกล่าวและบันทึกข้อความต่าง ๆ ในสมุดเล่มนี้ไว้รวม 28 หน้า แล้วนำสมุดบันทึกกลับไปคืนให้นายพิชัย ศาลฎีกาพิเคราะห์คำเบิกความของพยานดังกล่าวประกอบกับภาพถ่ายตามเอกสารหมาย ค.1 แล้วเอกสารที่ถ่ายภาพทั้งหมดมีถึง 28 หน้า หน้าแรกถึงหน้า 16 เป็นบันทึกข้อความที่นายพิชัยรับแลกเช็คคนอื่นไว้ และข้อความที่นายพิชัยเล่นแชร์กับคนอื่น หน้า 17 เป็นข้อความที่นายพิชัยรับเงินจากนายแพทย์สุริยันกังสัมฤทธิ์ แล้วไปฝากประจำไว้กับธนาคารนครหลวงไทย พร้อมกับลงชื่อนายพิชัย กังสัมฤทธิ์ ไว้ด้วย หน้า 18 เป็นบันทึกข้อความที่ว่าญาติพี่น้องคนใดบ้างซึ่งฝากเงินไว้กับนายพิชัย และนายพิชัยได้บันทึกเป็นสัญญากู้เงินแต่ละคนไว้ตั้งแต่หน้า 19 ถึงหน้า 23 โดยลงชื่อเป็นผู้กู้ไว้แต่ละหน้าด้วย หน้า 24 และ 25 เป็นข้อความพินัยกรรม และลงชื่อ “พิชัย กังสัมฤทธิ์”ผู้ทำพินัยกรรม หน้า 26 เป็นบันทึกสัญญากู้จากผู้ร้องพร้อมกับลงชื่อ “พิชัย กังสัมฤทธิ์” ผู้กู้ หน้า 27 เป็นบันทึกกู้เงินจากนางวิไล เหมาะศิลปิน พร้อมกับลงชื่อเป็นผู้กู้ไว้ หน้า 28 เป็นบันทึกเรื่องนำเช็คล่วงหน้าไปฝากไว้ที่ธนาคารซีไฮทง ศาลฎีกาเห็นว่า บันทึกหน้า 24 และหน้า 25 ซึ่งมีข้อความเป็นพินัยกรรมกับบันทึกหน้าอื่น ๆ ทุกหน้าเป็นลายมือของบุคคลคนเดียวกันเป็นผู้เขียน และลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมกับลายมือชื่อในหน้าอื่น ๆ ก็เป็นลายมือชื่อของบุคคลเดียวกัน ถ้าผู้คัดค้านจะสร้างหลักฐานปลอมขึ้นก็ควรจะนำเพียงพินัยกรรมเท่านั้น หากจะมีข้อความบันทึกอย่างอื่นด้วยก็คงจะมีเพียงเล็กน้อย คงไม่ทำบันทึกปลอมขึ้นมากมายอย่างนี้ นอกจากนี้ผู้คัดค้านมีนายเสถียร กำลูนเวสารัช นายสมชาย ฉินเจนประดิษฐ์ และนายกิตติ กิตติจรัญภรณ์ เบิกความว่า พยานแต่ละคนต่างก็ติดต่อทางธุรกิจกับนายพิชัยผู้ตาย และยืนยันว่าบันทึกตามเอกสารดังกล่าวที่มีข้อความเกี่ยวถึงพยานนั้นเป็นข้อความที่ถูกต้องแท้จริง กับยืนยันว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมเป็นลายมือชื่อของนายพิชัยผู้ตาย ผู้เชี่ยวชาญการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของกองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจซึ่งทำการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมฉบับนี้เปรียบเทียบกับลายมือชื่ออันแท้จริงของนายพิชัย กังสัมฤทธิ์ แล้ว ลงความเห็นว่า คุณสมบัติในการเขียน รูปร่างลักษณะของตัวอักษร และลายเส้นคล้ายคลึงกัน ดังชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างในภาพแสดงประกอบรายงานการตรวจพิสูจน์ น่าจะเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกัน ดังนี้รับฟังได้ว่า นายพิชัย ผู้ตาย ทำพินัยกรรมไว้ดังที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้าง ส่วนผู้ร้องนำสืบแต่เพียงว่า นายพิชัย ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ และผู้ตายพูดกับบุคคลหลายคนว่าไม่ได้ทำพินัยกรรม ไม่ได้นสืบหักล้างว่า ภาพถ่ายพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.1 นั้น ไม่มีต้นฉบับ หรือผู้ตายไม่ได้ทำไว้หรือไม่ถูกต้องแต่อย่างไร ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งสองได้ ที่ผู้ร้องนำสืบเป็นทำนองว่านายพิชัยป่วยหนัก ต้องเข้ารับการตรวจรักษาและผ่าตัดที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ไม่น่าจะมีเวลาหรือไม่สามารถเขียนพินัยกรรมไว้ในสมุดบันทึกได้นั้น เห็นว่า วันที่ 12 มิถุนายน 2522 ซึ่งเป็นวันเขียนพินัยกรรมในสมุดบันทึกนั้น นายพิชัยผู้ตายเพิ่งไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลมงกุฎเกล้าเพียงแต่มีการตรวจเท่านั้น ยังไม่มีการผ่าตัด ผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าในวันนั้นนายพิชัยมีอาการป่วยหนักจนกระทั่งไม่สามารถเขียนพินัยกรรมได้ ข้อนำสืบดังกล่าวไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของผู้คัดค้านได้เช่นกัน
ที่ผู้ร้องฎีกาว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.1 เป็นสำเนาเอกสาร รับฟังไม่ได้นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) บัญญัติว่า “ถ้าต้นฉบับเอกสารหาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่นศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้” กรณีนี้ผู้คัดค้านไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารมาแสดงต่อศาลได้ เนื่องจากผู้ทำพินัยกรรมขอต้นฉบับกลับคืนไป ผู้คัดค้านจึงถ่ายภาพเอกสารไว้ ต้นฉบับเอกสารน่าจะอยู่ที่ผู้ร้อง แต่ผู้ร้องปฏิเสธว่าไม่มีต้นฉบับเอกสารอยู่ที่ตน ศาลอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารและพยานบุคคลมาสืบ และผู้คัดค้านได้สืบถึงที่มาของเอกสารจนฟังได้ดังกล่าวข้างต้น สำเนาเอกสารฉบับนี้จึงรับฟังได้ตามกฎหมายดังกล่าว คำพิพากษาฎีกาที่ 424/2523 และที่ 2453/2523 ที่ผู้ร้องอ้างว่าศาลฎีกาไม่รับฟังสำเนาเอกสารนั้น เนื่องจากผู้อ้างไม่นำสืบว่าต้นฉบับเอกสารมีอยู่หรือไม่ อยู่ที่ใด เหตุใดจึงไม่อ้างมาแสดงต่อศาลและสำเนาเอกสารนั้นได้ถ่ายมาจากต้นฉบับที่แท้จริงหรือไม่ ศาลฎีกาจึงไม่รับฟัง ข้อเท็จจริงที่ศาลไม่รับฟังสำเนาเอกสารตามคำพิพากษาฎีกาที่ผู้ร้องอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคดีนี้ ที่ผู้ร้องฎีกาขอสืบพยานเพื่อหักล้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ทำการพิสูจน์เอกสารนั้น เห็นว่า ผู้ร้องเป็นผู้ขอให้มีการพิสูจน์ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.1 นี้เอง ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์แล้วลงความเห็นเป็นปฎิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของผู้ร้อง ผู้ร้องก็มาขอสืบพยานเพื่อหักล้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวอีก เป็นการขอสืบพยานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หาชอบด้วยกระบวนพิจารณาไม่ ฎีกาของผู้ร้องทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาสำนวนละ 1,500 บาทแทนผู้คัดค้านทั้งสอง