คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 346/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองกับพวกมาถึงบ้านผู้ตาย จำเลยที่ 1 ถามว่าเห็นกระบือหายมาทางนี้ไหม ผู้ตายบอกว่าไม่เห็น จำเลยทั้งสองก็เข้าจับแล้วช่วยรุมทำร้ายและยิงผู้ตายแล้ว จำเลยที่ 1 ขึ้นไปบนเรือนเอาปืน วิทยุและเข็มขัดลงมา ส่วนจำเลยที่ 2 และพวกไปจูงกระบือออกจากคอกและคุมตัวภริยาและน้องสาวผู้ตายให้ไปส่ง แม้ไม่มีการขู่เข็ญก่อนยิง แต่การที่ยิงผู้ตายแล้วเอาทรัพย์สินของผู้ตายไปก็เพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไปอันเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ และขณะเดียวกันก็เป็นการฆ่าเพื่อความสะดวกในการปล้นทรัพย์ด้วย จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 340, 340 ตรี เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 340 วรรคท้าย ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 340, 340 ตรี, 91 ลงโทษตามมาตรา 288, 289 ให้ประหารชีวิต ลงโทษตามมาตรา 340 ให้ประหารชีวิต เมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษตามมาตรา 340 ตรี ให้จำเลยร่วมกันคืนทรัพย์หรือใช้ราคาทรัพย์แก่เจ้าของศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คำเบิกความของนางสาวมาลัยกับนางสุภาพไม่ขัดกันอย่างใด พยานฐานที่อยู่ที่จำเลยทั้งสองนำสืบมาศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คดีน่าจะเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและความผิดฐานลักทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289 และ 340, 340 ตรี นั้น จำเลยที่ 1 ไม่เห็นพ้องด้วย ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วคดีได้ความจากนางสุภาพภริยาผู้ตายว่า พอจำเลยทั้งสองและพวกมาถึงบ้านผู้ตายแล้วจำเลยที่ 1 ได้ถามผู้ตายว่าเห็นกระบือหายมาทางนี้ตัวหนึ่งไหม พอผู้ตายบอกว่าไม่เห็นจำเลยทั้งสองก็ตรงเข้าจับผู้ตายแล้วช่วยกันกลุ้มรุมทำร้ายผู้ตาย โดยช่วยกันต่อยเตะและเอาปืนยิงผู้ตายหลายนัดแล้วจำเลยที่ 1 ขึ้นไปบนเรือนเอาปืน วิทยุและเข็มขัดลงมา ส่วนจำเลยที่ 2และพวกตรงเข้าคอกไปจูงกระบือออกมาและได้คุมตัวภริยาและน้องสาวผู้ตายให้ไปส่งนั้น เห็นว่า แม้จำเลยและพวกจะไม่ได้ขู่เข็ญก่อนที่จะใช้ปืนยิงผู้ตายก็ดี แต่การที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตายแล้วเอาทรัพย์สินของผู้ตายไปก็เพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไปอันเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ และในขณะเดียวกันการที่จำเลยกับพวกใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตายเป็นการฆ่าผู้อื่นเพื่อความสะดวกในการปล้นทรัพย์ด้วย เพราะถ้าหากว่าจำเลยและพวกไม่ยิงผู้ตายเสียก่อนการลักทรัพย์ก็อาจไม่สำเร็จโดยอาจถูกผู้ตายขัดขวางการกระทำของจำเลยทั้งสองกับพวกจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 340, 340 ตรี ฎีกาของจำเลยที่ 1ในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกันแต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสองตามมาตรา 288, 289 กระทงหนึ่ง และให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสองตามมาตรา 340 อีกกระทงหนึ่งนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแต่บทเดียว

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 340, 340 ตรี ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 ให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้คนตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคท้าย โดยให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสองให้จำเลยร่วมกันคืนอาวุธปืน 1 กระบอก เครื่องรับวิทยุ 1 เครื่อง และเข็มขัดเงิน 1 เส้น หรือใช้ราคาทรัพย์รวม 4,500 บาทแก่เจ้าของ”

Share