คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในทางพิพาทอันเป็นทางสาธารณประโยชน์โดยมิได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมที่โจทก์ได้มาโดยอายุความแต่อย่างใดเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณประโยชน์คดีนี้จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมที่โจทก์ได้มาโดยอายุความหรือไม่และคดีฟังได้ว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณประโยชน์ฟ้องของโจทก์ที่ว่าจำเลยทำรั้วรุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์จึงเป็นอันตกไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1276 พร้อมบ้านเลขที่ 108 ที่ดินของโจทก์มีทางสาธารณประโยชน์กว้าง2.92 เมตร ยาว 24 เมตร เชื่อมเข้าออกระหว่างถนนประสาทเข้าสู่ที่ดินของโจทก์ จำเลยมีที่ดินตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก (ที่ถูกทางทิศตะวันออก)ของที่ดินโจทก์ ที่ดินทางทิศเหนือของจำเลยติดกับทางสาธารณประโยชน์ดังกล่าว เมื่อระหว่างปี พ.ศ. 2521 – 2522 จำเลยได้ทำรั้วคอนกรีตรุกล้ำทางสาธารณประโยชน์เข้าไปเป็นความกว้าง 1.50 เมตร ยาว 24 เมตรทำให้ทางสาธารณประโยชน์มีความกว้างเหลือเพียง 1.42 เมตร โจทก์ไม่สามารถเอารถยนต์และล้อเกวียนเข้าออกได้ คิดเป็นค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยรื้อรั้วคอนกรีตกว้าง 1.50 เมตร ยาว 24 เมตร ซึ่งจำเลยสร้างรุกล้ำและจัดการให้ทางสาธารณประโยชน์อยู่ในสภาพเดิม และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อรั้วและจัดการให้ทางสาธารณ-ประโยชน์อยู่ในสภาพเดิมแล้วเสร็จ

จำเลยให้การและเพิ่มเติมคำให้การว่า ที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นทางสาธารณประโยชน์นั้นเป็นที่ดินของจำเลย ซึ่งเดิมที่ดินแปลงนี้เป็นของนายโหล นางเฮือนบิดามารดาจำเลย ทางด้านทิศเหนือติดกับที่ดินของนางบัวไข นายทวีสิทธิ ไม่มีตรอกหรือทางเดินสาธารณะกั้นอยู่แต่ประการใด บิดาจำเลยได้เจาะรั้วตรงมุมเขตติดต่อกับที่ดินของนางบัวไขนายทวีสิทธิทางด้านทิศตะวันออกใช้เป็นทางเดินจากบ้านสู่ถนนประสาทมีประตูปิดเปิดได้ โจทก์มีที่ดินอยู่ด้านในทางทิศตะวันตกของที่ดินจำเลย ได้อาศัยที่ดินของจำเลยเป็นทางเดินผ่านออกสู่ถนนประสาท โดยเข้าออกทางประตูรั้วเดียวกับที่บิดาจำเลยได้ทำไว้ ต่อมาบิดาจำเลยได้ทำรั้วทางทิศเหนือใกล้ตัวเรือนเพื่อป้องกันมิให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปทำลายต้นไม้และพืชผักสวนครัว รั้วสูงประมาณ 1 เมตร ยาวตลอดความยาวของที่ดินจากการมีรั้วดังกล่าวทำให้ทางเดินดังกล่าวมองดูคล้ายเป็นตรอกสาธารณะซึ่งความจริงไม่ใช่เพราะทางเดินดังกล่าวมีแต่เฉพาะครอบครัวของจำเลย ของโจทก์และของนายนวลญาติของจำเลย3 ครอบครัวเท่านั้นที่ใช้ทางเดินนี้ บุคคลภายนอกไม่เคยใช้ทางเดินนี้นายโหลนางเฮือนยกที่ดินให้จำเลย ครั้นปี พ.ศ. 2521 จำเลยได้รื้อเรือนหลังเก่าทำการก่อสร้างใหม่ ในเดือนกรกฎาคม 2521 จำเลยได้ล้อมรั้วข้างบ้านที่สร้างใหม่ทางทิศเหนือเสียใหม่โดยขยายแนวเขตรั้วออกไปให้กว้างกว่าเดิมซึ่งจำเลยมีอำนาจโดยชอบที่จะทำได้ โจทก์ไม่ได้เสียหายขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยได้ตกลงยินยอมให้ทางเดินพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ ทางเดินพิพาทจึงเป็นทางสาธารณะมานับแต่เวลานั้น หากจะฟังว่าทางเดินพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณประโยชน์ ที่ดินจำเลยก็ตกอยู่ในภารจำยอม พิพากษาให้จำเลยรื้อรั้วซึ่งสร้างรุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์ตามที่โจทก์ขอ และให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 300 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยรื้อรั้วแล้วจัดการให้ทางสาธารณประโยชน์อยู่ในสภาพเดิม

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณประโยชน์แล้ววินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทำรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในทางพิพาทอันเป็นทางสาธารณประโยชน์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์มิได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่า ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมที่โจทก์ได้มาโดยอายุความแต่อย่างใด เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณประโยชน์ คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมที่โจทก์ได้มาโดยอายุความหรือไม่ ดังนั้นเมื่อคดีฟังได้ว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางสาธารณประโยชน์ข้อกล่าวหาของโจทก์ที่ว่าจำเลยทำรั้วรุกล้ำเข้าไปในทางสาธารณประโยชน์จึงเป็นอันตกไป

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share