คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1540/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พ. รับโอนที่พิพาทมาหลังจากที่จำเลยแพ้คดีในศาลชั้นต้นแล้วโดย พ. ทราบเรื่องที่จำเลยถูกฟ้องเป็นอย่างดีจึงเป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต ผู้ร้องรับโอนต่อจาก พ. โดยรู้ถึงการโอนโดยไม่สุจริตระหว่างจำเลยกับ พ. ดังนี้เป็นการสมคบกันโอนและรับโอนทรัพย์พิพาทของจำเลยเพื่อให้พ้นจากการถูกบังคับคดีถือว่าผู้ร้องรับโอนโดยไม่สุจริตทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธินำยึดที่พิพาทซึ่งมีส่วนของจำเลยรวมอยู่ด้วยเพื่อขายทอดตลาดได้

ย่อยาว

โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เพื่อขายทอดตลาดเอาชำระเงินชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้สั่งปล่อยทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยทรัพย์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ทางพิจารณาข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2518 จำเลยที่ 2 กับน้องชายคือนาายไพรัชช์ นนทเบญจวรรรณ และนายไพโรจน์ นนทเบญจวรรณ ได้ร่วมกันซื้อที่ดินแปลงพิพาทจากนางสาวลออจิตต์ บวรกิตติ ต่อมาวันที่ 5 เมษายน 2519 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ให้ปลูกสร้างตึกแถวพิพาทลงบนที่ดินแปลงนี้ ในการตอกเสาเข็มเพื่อปลูกสร้างดังกล่าวได้ทำให้อาคารบ้านเรือนของโจทก์ซึ่งอยู่ใกล้กันได้รับความเสียหาย โจทก์จึงได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นคดีนี้ และคดีได้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้เงิน 250,000 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียม เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์จึงได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์พิพาทเพื่อขายทอดตลาด แต่ปรากฏว่าทรัพย์พิพาทมีชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ได้ความจากหลักฐานที่คู่ความนำสืบว่า หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาคดีระหว่างโจทก์จำเลยเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2519 แล้ว ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2520 จำเลยที่ 2 ได้ขายที่ดินส่วนของตนให้แก่นายไพโรจน์ นนทเบญจวรรณ ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม2520 ขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นายไพโรจน์ได้ขายทรัพย์พิพาทให้ผู้ร้อง โดยตีราคาที่ดิน 300,000 บาท ตีราคาสิ่งปลูกสร้าง 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 800,000 บาท” ฯลฯ

“ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องรับโอนทรัพย์พิพาทโดยสุจริต ทั้งนายไพโรจน์เป็นผู้ออกเงินปลูกสร้างตึกแถวพิพาท จำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเป็นเจ้าของตึกแถวพิพาทมาก่อน

สำหรับปัญาเรื่องตึกแถวพิพาทนั้น เห็นว่าคดีตึกแถวรายนี้ปลูกสร้างในที่ดินซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 2 กับนายไพรัชช์และนายไพโรจน์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำการปลูกสร้างขึ้น ผู้ร้องมีแต่นายโพโรจน์เป็นพยานอ้างว่านายไพโรจน์เป็นผู้ออกเงินในการปลูกสร้าง ไม่มีพยานสนับสนุนให้รับฟังได้ จะให้รับฟังว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีส่วนเป็นเจ้าของมาแต่เดิมหาได้ไม่

ส่วนปัญหาที่ผู้ร้องอ้างว่าซื้อทรัพย์พิพาทไว้โดยสุจริตนั้นได้ว่าหลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 แพ้คดีโจทก์ 1 เดือนเศษ จำเลยที่ 2 ก็โอนทรัพย์พิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 ให้แก่นายไพโรจน์น้องชายโดยทำเป็นนิติกรรมซื้อขาย ต่อมาอีก3 เดือนเศษขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นายไพโรจน์และนายไพรัชช์ก็ทำนิติกรรมขายที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทให้ผู้ร้องในราคา 800,000 บาท เห็นว่า สำนักงานที่ดินประเมินราคาที่พิพาทเพื่อเรียกค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมไร่ละ 500,000 บาท หรือตารางวาละ 1,250 บาท ที่พิพาทเนื้อที่ 1 ไร่82 ตารางวา จะเป็นราคาประมาณ 600,000 กว่าบาท จำเลยที่ 2จ้างจำเลยที่ 1 ให้ปลูกสร้างตึกแถวพิพาทเป็นเงิน 500,000 บาทรวมราคาที่ดินและตึกแถวจึงไม่ต่ำกว่า 1,100,000 บาท สูงกว่าราคาที่ผู้ร้องอ้างว่าซื้อไว้มาก เมื่อผู้ร้องซื้อทรัพย์พิพาทแล้วก็มิได้เข้าครอบครองนายไพโรจน์เป็นฝ่ายครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ที่ผู้ร้องอ้างว่าได้ให้นายไพโรจน์เช่าเป็นเวลา 3 ปี ได้เงินกินเปล่า ปีละ 30,000 บาท ค่าเช่าอีกเดือนละ 400 บาท คิดเฉลี่ยได้ผลประโยชน์เดือนละ 4,800 บาทนั้น เมื่อคำนวณรายได้จากเงินกินเปล่าและค่าเช่าตามที่ผู้ร้องค้างแล้ว รายได้เฉลี่ยไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท เป็นข้อพิรุธว่า หากผู้ร้องให้เช่าทรัพย์พิพาทจริงก็ไม่น่าจะเบิกความเกี่ยวกับรายได้เฉลี่ยผิดพลาดเช่นนั้น อนึ่งพี่ชายผู้ร้องได้น้องสาวจำเลยที่ 2 เป็นภริยาย่อมมีความสัมพันธ์ทางครอบครัวเกี่ยวเนื่องถึงผู้ร้อง ไม่น่าเชื่อว่าผู้ร้องจะไม่ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 2 โอนทรัพย์พิพาทส่วนของตนให้แก่นายไพโรจน์นั้น นายไพโรจน์ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องเป็นอย่างดี เพราะนายไพโรจน์เป็นผู้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไว้แทนจำเลยที่ 2 ผลของคดีเป็นอย่างไรก็น่าจะทราบ กรณีรับฟังไม่ได้ว่านายไพโรจน์รับโอนทรัพย์ส่วนของจำเลยที่ 2 โดยสุจริต เมื่อนายไพโรจน์โอนให้ผู้ร้องอีกทอดหนึ่ง พฤติการณ์ก็มีพิรุธอีกทอดหนึ่ง พฤติการณ์ก็มีพิรุธน่าเชื่อว่า ผู้ร้องรับโอนไว้โดยรู้ถึงการโอนโดยไม่สุจริตระหว่างจำเลยที่ 2 กับนายไพโรจน์ เป็นการสมคบกันโอนและรับโอนทรัพย์สินพิพาทส่วนของจำเลยที่ 2 เพื่อให้พ้นจากการถูกบังคับคดี ถือได้ว่าผู้ร้องรับโอนโดยไม่สุจริต ทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 2 เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธินำยึดทรัพย์พิพาทซึ่งมีส่วนของจำเลยที่ 2 รวมอยูด้วยเพื่อขายทอดตลาดได้”

พิพากษายืน

Share