คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ให้เช่าหาจำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่าเสมอไปไม่ เมื่อจำเลยทำสัญญาเช่าบ้านและที่ดินกับโจทก์ แล้วจำเลยผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ จำเลยจะยกเหตุที่โจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่ามาเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้
ทรัพย์ที่โจทก์ให้เช่าเป็นของบุตรโจทก์ การฟ้องขับไล่จำเลยจึงไม่ใช่เป็นการจัดการสินสมรสของโจทก์กับสามีอันจะต้องทำร่วมกันตามป.พ.พ. ม.1476
กรณีจะเป็นนิติกรรมอำพรางได้จะต้องปรากฏว่า นิติกรรมที่อำพรางและนิติกรรมที่ถูกอำพรางคู่กรณีจะต้องเป็นบุคคลเดียวกันและต้องทำขึ้นในคราวเดียวกัน จำเลยนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปขายฝากโจทก์ร่วมโดยโจทก์เป็นผู้ลงชื่อรับซื้อฝากแทนโจทก์ร่วมต่อมาจำเลยไม่ได้ไถ่ภายในกำหนด ทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์ร่วมต่อมาจำเลยทำสัญญาเช่าจากโจทก์ สัญญาเช่านี้มิได้เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาไถ่ทรัพย์คืน แต่เป็นนิติกรรมที่โจทก์จำเลยมีเจตนาให้มีผลบังคับกันโดยแท้จริง มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาทให้จำเลยชำระเงิน 10,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาข้อแรกตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจให้เช่าที่ดินและบ้านตามฟ้องเพราะที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์เป็นของนายสากล วรรณพฤกษ์ โจทก์ร่วม โจทก์ร่วมไม่ได้มอบอำนาจให้โจทก์ทำสัญญาเช่า อีกทั้งสัญญาเช่าก็ระบุว่าเป็นของโจทก์และโจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากสามี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่เช่าตามสัญญาเช่าที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทำไว้กับโจทก์ ครบกำหนดอายุสัญญาแล้วและจำเลยผิดสัญญาค้างชำระค่าเช่าตลอดมา โจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วโดยชอบ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยตามสัญญา แม้นายสากลโจทก์ร่วมเจ้าของที่พิพาทซึ่งจำเลยขอให้ศาลเรียกเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) จะไม่ได้ขอให้บังคับจำเลยตามฟ้องก็ตาม เพราะผู้ให้เช่าหาจำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่าเสมอไปไม่ เมื่อจำเลยทำสัญญาเช่ากับโจทก์แล้วจำเลยจะยกเหตุที่โจทก์ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่ให้เช่ามาเป็นข้อต่อสู้ไม่ได้ เทียบได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 643/2515 ระหว่างเทศบาลเมืองเชียงราย โจทก์ นายสมเกรียติ คูสุวรรณ จำเลยและโดยที่ทรัพย์ที่โจทก์ให้จำเลยเช่าเป็นของนายสากล บุตรโจทก์ จึงไม่ใช่เป็นการจัดการสินสมรสของโจทก์กับสามีอันจะต้องทำร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1476 บรรพ 5 ที่ตรวจชำระใหม่ฉะนั้นปัญหาที่ว่าโจทก์จะต้องได้รับความยินยอมจากสามีจึงไม่เกิดขึ้น

ปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปมีว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยใช้บังคับได้หรือไม่ หรือเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาไถ่การขายฝากและจำเลยมีสิทธิไถ่ทรัพย์คืนได้หรือไม่ ถ้ามีสิทธิไถ่คืนจะต้องไถ่คืนในราคาเท่าใด ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จะเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาไถ่การขายฝากซึ่งอ้างว่าเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางได้จะต้องปรากฏว่า นิติกรรมที่อำพรางและนิติกรรมที่ถูกอำพราง คู่กรณีจะต้องเป็นบุคคลเดียวกัน และต้องทำขึ้นในคราวเดียวกัน แต่สัญญาเช่าซึ่งเป็นนิติกรรมอำพรางกับสัญญาไถ่การขายฝากซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตามที่จำเลยนำสืบปรากฏว่ามิได้ทำโดยคู่กรณีเดียวกันและมิได้ทำคราวเดียวกัน กล่าวคือสัญญาขายฝากโจทก์ร่วมเป็นคู่สัญญากับจำเลย โจทก์เป็นเพียงผู้ลงนามในสัญญาแทนโจทก์ร่วมเท่านั้น และสัญญานี้ทำตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2512 มีกำหนดไถ่ถอนภายใน 1 ปี ซึ่งถ้าหากมีการตกลงไถ่กันจริงจำเลยก็ต้องทำกับโจทก์ร่วมและทำภายในหรือก่อนวันที่ 24 พฤศจิกายน 2513 แต่สัญญาเช่าเพิ่งทำเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2520 นี้เอง โดยโจทก์เป็นคู่สัญญากับจำเลยสัญญาเช่าจึงไม่มีทางเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาไถ่การฝากได้ที่จำเลยนำสืบว่าหลังจากจำเลยทำสัญญาขายฝากที่พิพาทได้ประมาณ 10 เดือนจำเลยนำเงินค่าไถ่ที่พิพาทบางส่วนไปให้โจทก์รับไว้แล้วเป็นจำนวน 30,000 บาท และนัดไปไถ่การขายฝาก แต่โจทก์บอกว่าจะต้องติดต่อนายสากลบุตรชายผู้รับซื้อฝากซึ่งขณะนั้นไปรับราชการอยู่ต่างประเทศก่อน เป็นทำนองจำเลยได้ใช้สิทธิไถ่การขายฝากก่อนสัญญาขายฝากสิ้นอายุแล้ว แต่ไถ่ไม่ได้ เพราะบุตรโจทก์ผู้รับซื้อฝากอยู่ต่างประเทศนั้นก็ไม่น่าเชื่อ เพราะถ้าจำเลยใช้สิทธิไถ่ก่อนสิ้นอายุสัญญาและโจทก์รับเงินไว้จริง จำเลยก็น่าจะให้โจทก์ทำหลักฐานการรับเงินและบันทึกเหตุขัดข้องกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่มากล่าวอ้างลอย ๆ และไม่น่าจะมาทำเป็นรูปสัญญาเช่าอย่างที่จำเลยนำสืบ รูปคดีมีเหตุผลฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยนำที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปขายฝากโจทก์ร่วมโดยโจทก์เป็นผู้ลงชื่อรับซื้อฝากแทนโจทก์ร่วม แล้วต่อมาจำเลยไม่ได้ไถ่ภายในกำหนด ที่พิพาทและสิ่งปลูกสร้างจึงเป็นของโจทก์ร่วม และต่อมาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2520 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่พิพาทและสิ่งปลูกสร้างจากโจทก์อยู่อาศัยตามเอกสารหมาย ล.4 สัญญาเช่านี้มิได้เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาไถ่ทรัพย์พิพาทคืนดังที่จำเลยกล่าวอ้าง แต่เป็นนิติกรรมที่โจทก์จำเลยมีเจตนาให้มีผลบังคับกันโดยแท้จริง จึงมีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยไม่มีสิทธิไถ่ที่พิพาทคืน เพราะล่วงเลยกำหนดตามสัญญาแล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจะไถ่คืนในราคาเท่าใด”

พิพากษายืน

Share