แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การซ่อมแซมบางส่วนของอาคาร คือประตูหลังด้านข้างและผนังตึกบางส่วนเอาลูกกรงเหล็กออกแล้วเปลี่ยนเป็นก่ออิฐโปร่งแทนไม่เป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 22, 40, 42, 65, 67, 69 พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้าง พ.ศ. 2479 ในเขตท้องที่ กรุงเทพมหานคร ที่ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2479 ใช้บังคับ พ.ศ. 2520 ปรับ 2,000 บาท และอีกวันละ 1,000 บาทนับแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2523 จนถึงวันมีคำพิพากษารวม 285 วัน เป็นเงิน 285,000 บาท และอีกวันละ 1,000 บาทนับถัดจากวันมีคำพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้รื้อถอนอาคารที่ต่อเติมด้วยศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ตามที่โจทก์ฟ้องและนำสืบว่าจำเลยได้ต่อเติมอาคารด้านหลัง กว้าง 2 เมตร ยาว 8 เมตร สูง 6 เมตร (2 ชั้น) นั้น คงมีแต่กหลักฐานจากแผนผังซึ่งนายสมยศ ช่างโยธา 2 เขตลาดกระบังทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.1 เท่านั้น แต่นายสมยศก็หาได้รู้เห็นว่าจำเลยได้ก่อสร้างขึ้นตามแผนผังนั้นไม่ คงทำขึ้นตามสภาพที่ปรากฏอยู่แล้วเท่านั้น แต่ปรากฏตามพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบว่า อาคารส่วนที่ต่อเติมดังกล่าวได้กระทำมาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2518 โดยนายบุญส่งเจ้าของเดิมเป็นผู้ทำการต่อเติมก่อนที่จะขายให้แก่จำเลยในปี พ.ศ. 2520 ตอนที่นายสมยศไปพบเห็นจำเลยเพียงแต่ทำการซ่อมแซมประตูหลังด้านข้างและผนังตึกบางส่วนเท่านั้น ที่ชั้นสองก็เพียงแต่เอาลูกกรงเหล็กออกเพราะเป็นสนิมแล้วเปลี่ยนเป็นก่ออิฐโปร่งแทน ดังปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.3 โดยจำเลยมีนายบุญส่ง และนายบัว ศิริหัตถกิจ กำนันท้องที่เป็นพยานสนับสนุนทั้งปรากฏตามรายงานการเดินเผชิญสืบอาคารพิพาทของศาลชั้นต้นว่า ชั้นล่างด้านนอกประตูไม้ด้านข้างมีสภาพเก่า อิฐช่องลมมีสภาพเก่า เสาปูนด้านนอกมีตะไคร่น้ำ ลักษณะเก่า ชั้นสองมีสภาพค่อนข้างเก่า มุ้งลวดเหล็กดัดอยู่ในสภาพเก่า มีหยากไย่จำนวนมาก หลังคาตรงรอยต่อด้านบนของกระเบื้องลอนคู่มีตะไคร่น้ำจับ ไม้แปมีสภาพเก่า เสาค้ำมีสภาพเก่า ดังนี้จึงแสดงว่าอาคารส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำการก่อสร้างต่อเติมขึ้นนั้นได้มีมาแต่เดิม จำเลยเพียงแต่ทำการซ่อมแซมบางส่วนของอาคารเท่านั้นหาได้ทำการดัดแปลงต่อเติมดังฟ้องโจทก์ไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดดังฟ้องโจทก์”
พิพากษายืน