คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2821/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลจะตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ย่อมคำนึงถึงความสมควรเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ ดังบัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 เป็นสำคัญ หาใช่ว่าจะต้อง ได้รับความยินยอมจากทายาททุกคนไม่
การที่ผู้ร้องยื่นบัญชีทรัพย์มรดกต่อศาลล่าช้าจนล่วงเลยเวลาที่กฎหมายกำหนดร่วม 2 เดือน แต่ทรัพย์มรดกส่วนใหญ่ก็ปรากฏอยู่ในพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างส่งศาลไว้ในคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกอยู่แล้ว ไม่ทำให้กองมรดกเสียหายอย่างไร ไม่ถือเป็น ละเลยต่อหน้าที่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายลักษณ์ภูริพันธุ์ สามี ต่อมาผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดกและเป็นทายาทตามพินัยกรรมยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอน ผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายลักษณ์ ภูริพันธุ์ ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ในประเด็นแรกที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้คัดค้านอ้างว่า ทายาททั้งหลายไม่ได้ตกลงให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกไม่เป็นความจริงนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลจะตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกนั้นย่อมคำนึงถึงความสมควรเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ ดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 เป็นสำคัญหาใช่ว่าจะต้องได้รับความยินยอมจากทายาททุกคนไม่ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ในวันเปิดพินัยกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2522 ทายาททั้งหลายได้ตกลงให้ผู้ร้องเป็นผู้ดูแลรักษาเก็บผลประโยชน์จากทรัพย์มรดกเป็นการตกลงไว้ จนกระทั่งครบวันตาย 100 วันของเจ้ามรดกแล้วจึงให้จัดการแบ่งกันตามพินัยกรรม ดังปรากฏหลักฐานตามบันทึกการเปิดพินัยกรรมหมาย ร.3 ในคดีนี้ ซึ่งผู้คัดค้านก็แถลงรับว่าเป็นความจริงตามนั้น แต่อ้างว่าทายาททั้งหลายเพียงแต่ยอมให้ผู้ร้องรักษาทรัพย์มรดกไว้เท่านั้น ไม่ได้ยินยอมให้จัดการด้วย ศาลฎีกาเห็นว่าการที่ทายาททั้งหลายได้ตกลงให้ผู้ร้องเป็นผู้ดูแลรักษาเก็บผลประโยชน์และให้จัดการแบ่งมรดกตามพินัยกรรมย่อมหมายความถึงยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนั่นเอง ผู้คัดค้านจะเถียงเป็นอย่างอื่นย่อมฟังไม่ขึ้น” ฯลฯ

“ในประเด็นที่สามผู้ร้องฎีกาว่า ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าผู้ร้องไม่ได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันเริ่มหน้าที่นั้น ปรากฏว่าคดีนี้ศาลได้สั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2522 ผู้ร้องต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในวันที่ 26 ธันวาคม 2522 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1728(2) และต้องทำบัญชีทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 26 มกราคม 2523 ตามมาตรา 1728 การที่ผู้ร้องมายื่นบัญชีทรัพย์มรดกต่อศาลในวันที่ 20 มีนาคม 2523 แม้จะเป็นการล่าช้าไปร่วม 2 เดือนก็จริง แต่ทรัพย์มรดกส่วนใหญ่ก็ปรากฏอยู่ในพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างส่งศาลไว้ในคดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกอยู่แล้ว ซึ่งไม่ทำให้กองมรดกเสียหายอย่างไร นอกจากนี้ผู้ร้องยังยื่นบัญชีทรัพย์มรดกเพิ่มเติมต่อศาลว่า นายเจริญ ใจกว้าง ซึ่งเป็นลูกหนี้กองมรดกอยู่ 24,000 บาท ได้นำเงินมาชำระให้แล้ว 20,000 บาท ซึ่งผู้ร้องก็ได้แบ่งปันให้แก่ทายาทไปแล้ว นอกจากนี้กองมรดกมีเงินสดอยู่ที่ผู้ร้องอีก 30,000 กว่าบาท ซึ่งผู้ร้องได้ใช้จ่ายไปเป็นค่าจัดการศพเจ้ามรดก ชำระหนี้สิน 20,000 บาทเศษของเจ้ามรดกต่อธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาเกาะสมุย และทำการกุศลแก่นักเรียนที่ยากจนที่เกาะสมุยตามที่เจ้ามรดกทำค้างไว้ อันเป็นการกระทำโดยสมควรแก่หน้าที่ของผู้จัดการมรดกทุกประการ”

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านเสีย

Share