คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ลงชื่อในฐานะเป็นเจ้าพนักงานประเมินคือ ก. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเพียงผู้เตรียมแบบแจ้งการประเมิน ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานประเมิน
กรมสรรพากรจำเลยแจ้งต่อศาลว่า เอกสารต่างๆ ที่โจทก์ส่งจำเลยตามที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกมา ยังค้นหาไม่พบ หากพบแล้วจะรีบส่งให้โดยด่วน ดังนี้ จะถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่โจทก์จะต้องนำสืบโดยเอกสารนั้น จำเลยได้ยอมรับแล้วตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123 ไม่ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “1. โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพราะการกระทำของจำเลยที่ 2 แสดงออกโดยชัดแจ้งว่ากระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานประเมิน ศาลฎีกาเห็นว่า ตามแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งมี 2 ฉบับ จำเลยที่ 2 แสดงออกในฐานะเพียงเป็นผู้เตรียมแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าเท่านั้น ส่วนผู้ที่ลงชื่อในฐานะเป็นเจ้าพนักงานประเมินคือ นายกมล ช่วงรังษี ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงหาใช่เป็นเจ้าพนักงานประเมินไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานประเมินศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ” ฯลฯ

“5. โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้ส่งบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ทั้งหมดให้จำเลย (กรมสรรพากร) จึงฟังได้ว่า ต้นฉบับเอกสารต่าง ๆ อยู่ในความครอบครองของจำเลย เมื่อจำเลยไม่ยอมส่งต้นฉบับเอกสารนั้นให้ตามที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกมา ก็ต้องถือว่าข้อเท็จจริงแห่งข้ออ้างที่โจทก์จะต้องนำสืบโดยเอกสารนั้น จำเลยได้ยอมรับแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123 ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยได้แจ้งต่อศาลตลอดมาว่าเอกสารยังค้นหาไม่พบ หากค้นพบแล้วกรมสรรพากรจักได้รีบส่งให้โดยด่วน ดังนี้ ศาลฎีกาเชื่อว่ายังค้นหาเอกสารตามที่ศาลมีคำสั่งเรียกไม่พบจริง เพราะจำเลยเป็นกรมในรัฐบาล ไม่เห็นมีเหตุที่จะแกล้งบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลที่เรียกให้จำเลยส่งเอกสารนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ากรณีของจำเลยไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 123 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

Share