แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้ซื้อทำสัญญาซื้อหุ้นของผู้ขายทั้งหมดในบริษัท รวมทั้งสิทธิในรถยนต์โดยสารรวม 20 คัน โดยจำเลย ชำระเงินสดในวันทำสัญญาเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท และผ่อนชำระราคาในส่วนที่เหลือ สัญญานี้จึงเป็น สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดโดยมีเงื่อนเวลาที่ผู้ขายให้โอกาสผู้ซื้อผ่อนชำระราคาได้หนี้ค่าซื้อรถยนต์และหุ้นรายนี้เป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทินตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 เมื่อผู้ซื้อ ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด จึงตกเป็นผู้ผิดนัด
ฝ่ายผู้ขายมีสองคนและเป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน จำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้มีสิทธิที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งก็ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 298
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 513,108.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาเป็นข้อแรกว่า การซื้อขายนี้เป็นการซื้อขายที่มีเงื่อนไข โดยผู้ขายยอมโอนหุ้นและสิทธิต่าง ๆ ของตนให้จำเลยเมื่อจำเลยได้ชำระค่าซื้อรถและหุ้นตามสัญญาครบถ้วนแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยังชำระเงินไม่ครบตามสัญญาโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ค่ารถและค่าหุ้นในคราวเดียวกันได้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว หนังสือสัญญาซื้อขายรถยนต์และหุ้นลงวันที่ 12 สิงหาคม 2510 ตามสำเนาท้ายฟ้องโจทก์ที่นายเลิด นางทองใบผู้ขายและจำเลยผู้ซื้อทำกันไว้มีใจความสารสำคัญดังนี้
ข้อ 1. ผู้ขายตกลงขายและผู้ซื้อหุ้นของผู้ขายทั้งหมดในบริษัทธนนครขนส่งจำกัด รวมทั้งสิทธิในรถยนต์โดยสารรวม 20 คัน (ระบุเลขที่รถ ยี่ห้อรถ เลขทะเบียนและหมายเลขเครื่องแต่ละคัน) พร้อมด้วยหุ้นของบริษัทธนนครขนส่ง จำกัด 263 หุ้น (ระบุเลขที่หุ้น) พร้อมทั้งสิทธิและหน้าที่ทั้งหลายบรรดาที่มีอยู่กับบริษัทธนนครขนส่ง จำกัด ตามหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 4 สิงหาคม 2510 ในราคาเหมารวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,229,108.90 บาท
ข้อ 2. …………………………….
ข้อ 3. การชำระราคาค่าซื้อขายที่กล่าวไว้ในข้อ 1 คู่สัญญาได้ตกลงให้ผู้ซื้อผ่อนชำระดังต่อไปนี้
ก. ชำระเงินสดในวันทำสัญญาเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท
ข. ในระยะหกเดือนแรกนับแต่ทำสัญญานี้ ผ่อนชำระเดือนละ 6,000 บาท
ค. ต่อจากหกเดือนแรกไปแล้ว ผ่อนชำระเดือนละไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท
ข้อ 4. เครื่องอะไหล่ของเครื่องยนต์เปอร์กินที่อยู่ภายในห้องและนอกห้องซึ่งเป็นที่เก็บของซึ่งอยู่ในบริเวณของบริษัทธนนครขนส่ง จำกัด ยังเป็นของผู้ขายเพราะไม่ได้รวมขายในสัญญานี้ด้วย แต่บรรดารถเก่าซึ่งอยู่ในบริเวณดังกล่าวรวมทั้งอะไหล่ต่าง ๆ ผู้ขายยกให้เป็นของผู้ซื้อทั้งสิ้น
ข้อ 5. …………………………..
ข้อ 6. …………………………..
ข้อ 7. บรรดาผลประโยชน์ต่าง ๆ ตลอดทั้งสิทธิซึ่งผู้ขายได้รับอยู่หรือจะพึงได้รับจากหุ้นและการเดินรถทั้งหมดที่กล่าวในข้อ 1 นับแต่วันทำสัญญานี้เป็นต้นไปให้เป็นของผู้ซื้อทั้งสิ้น
ข้อ 8. ผู้ซื้อสัญญาว่า เงินค่าซื้อขายรถตามสัญญานี้ นอกจากผู้ซื้อจะผ่อนชำระให้แก่ผู้ขายตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3 แห่งสัญญานี้แล้วหากผู้ซื้อขายรถยนต์โดยสารของผู้ซื้อซึ่งเดินร่วมอยู่กับบริษัทขนส่ง จำกัด จำนวน 2 คันได้เมื่อใดผู้ซื้อจะได้ชำระเงินให้แก่ผู้ขายเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาททันที โดยถือว่าเป็นการชำระค่ารถส่วนหนึ่งตามสัญญานี้ด้วย
ตอนท้ายของสัญญาได้ลงชื่อผู้ตาย ผู้ซื้อและพยาน เห็นว่าตามข้อสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดระบุเลยว่าสัญญานี้เป็นสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไข ดังที่จำเลยกล่าวอ้าง หากแต่เป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดโดยมีเงื่อนเวลาที่ผู้ขายให้โอกาสผู้ซื้อผ่อนชำระราคาได้ หนี้ค่าซื้อรถยนต์และหุ้นรายนี้เป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 เมื่อจำเลยผู้ซื้อไม่ชำระหนี้ให้ผู้ขายตามกำหนดจำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายเลิดนางทองใบผู้ขายย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกหนี้ที่ค้างทั้งหมดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213” ฯลฯ
“จำเลยฎีกาว่า ฝ่ายโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยไมไ่ด้เป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดในครั้งเดียว ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อสัญญาซื้อขายระหว่างนายเลิดนางทองใบและจำเลยยังไม่เลิกกัน คือยังมีผลใช้บังคับอยู่ ตามข้อสัญญาจำเลยจะต้องชำระหนี้ที่ยังค้างชำระให้โจทก์เดือนละ 10,000 บาทจนกว่าจะครบจำนวน แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าจำเลยส่งเงินไปชำระแก่ฝ่ายผู้ขายเพียงแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2515 เท่านั้น ต่อจากนั้นจำเลยก็คงส่งเงินดังกล่าวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2515 เป็นต้นไป จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่จำเลยเถียงว่าเมื่อนายเลิดตายแล้วจำเลยได้มีหนังสือสอบถามไปยังนางทองใบ แต่นางทองใบไม่ตอบหนังสือของจำเลยจนกระทั่งตายไป โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกก็ชอบที่จะแจ้งให้จำเลยทราบ เห็นว่าฝ่ายผู้ขายมีสองคนและเป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน จำเลยซึ่งเป็นมูลหนี้มีสิทธิที่จะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 298 การที่นางทองใบเจ้าหนี้คนหนึ่งมิได้ตอบหนังสือจำเลยก็ดีหรือโจทก์มิได้ตอบหนังสือจำเลยก็จะถือว่าผู้ขายผิดสัญญาบอกปัดไม่รับชำระหนี้หาได้ไม่”
พิพากษายืน