คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1622/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรมสรรพากรดำเนินการประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ตามคำสั่งกระทรวงการคลัง ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 และโดยมติของคณะรัฐมนตรี ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินบรรดาที่ตกเป็นของรัฐในนามของรัฐ ให้ดำเนินการตามควรทุกประการในฐานที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น และให้มีอำนาจนำเงินและทรัพย์สินดังกล่าวไปชำระภาษีอากรของโจทก์ได้นั้น เป็นคำสั่งและการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การประเมินจะเป็นไปโดยชอบด้วยประมวลรัษฎากรหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อโจทก์โต้แย้งว่าการประเมินเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่าการประเมินเงินได้ของโจทก์เป็นไปโดยชอบด้วยประมวลรัษฎากรหรือไม่
แม้คำสั่งนายกรัฐมนตรีจะกำหนดให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการที่จะคืนทรัพย์หรือไม่ ให้เป็นที่สุด แต่เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนยังไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าอย่างไร ประกอบกับโจทก์อาจต้องรับผิดชำระหนี้ภาษีอากรเพิ่มเติมจนครบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการที่กระทรวงการคลังนำทรัพย์สินของโจทก์ที่นายกรัฐมนตรีสั่งริบไปชำระค่าภาษีของโจทก์เป็นการปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 โดยมติของคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคำสั่งและการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ จำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่า เดิมนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ สลร. 40/2516 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2516 สั่งอายัดทรัพย์สินของพันเอกณรงค์ กิตติขจร และภริยาและตั้งคณะกรรมการสอบสวนการได้มาซึ่งทรัพย์สินของบุคคลดังกล่าว ต่อมาได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร.39/2517 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2517 สั่งให้ทรัพย์สินของพันเอกณรงค์ กิตติขจร และภริยา บรรดาที่ถูกอายัดหรือยึดไว้ หรือที่กระทรวงการคลังได้รับชำระหนี้ไว้ทั้งหมด ตกเป็นของรัฐทันทีในวันที่ออกคำสั่งนี้ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินบรรดาที่ตกเป็นของรัฐในนามของรัฐ ให้ดำเนินการตามควรทุกประการในฐานะที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินนั้น และให้มีอำนาจนำเงินและทรัพย์สินดังกล่าวไปชำระภาษีอากรของบุคคลดังกล่าวได้กระทรวงการคลังจึงได้มีคำสั่งที่ 18132/2517 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2517 ให้กรมสรรพากรประเมินภาษีอากรพันเอกณรงค์ กิตติขจร และภรรยาพึงต้องเสียและรวบรวมจำนวนเงินภาษีอากรทั้งสิ้นแจ้งให้กรมบัญชีกลางทราบ เพื่อจะได้หักบัญชีส่งเข้าเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป กรมสรรพากรจึงได้ดำเนินการประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ทั้งสองตั้งแต่ปีภาษี 2506 ถึง 2516

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คำสั่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 และโดยมติของคณะรัฐมนตรี บทบัญญัติในมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองดังกล่าวให้ถือว่า คำสั่งของนายกรัฐมนตรีหรือการกระทำเช่นว่านั้นรวมถึงการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า การที่กระทรวงการคลังอาศัยอำนาจตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีสั่งให้จำเลยดำเนินการประเมินภาษีอากรที่โจทก์ทั้งสองพึงต้องเสีย และเจ้าพนักงานประเมินภาษีอากรของจำเลยได้ดำเนินการประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ทั้งสองในระหว่างปีภาษี 2506 ถึง 2516 นั้นเป็นคำสั่งและการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การประเมินจะเป็นไปโดยชอบด้วยประมวลรัษฎากรหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อโจทก์โต้แย้งว่าการประเมินเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่า การประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์เป็นไปโดยชอบด้วยประมวลรัษฎากรหรือไม่ บทบัญญัติในมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไม่คุ้มครองถึงการประเมินว่าจะต้องเป็นไปโดยชอบด้วยประมวลรัษฎากรด้วย ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ไม่ว่าจำนวนเงินภาษีจะมากน้อยประการใด ทรัพย์สินและเงินที่เหลือจากการชำระภาษีอากร ก็ตกเป็นของรัฐอยู่นั่นเอง โจทก์ไม่มีสิทธิจะได้รับเงินที่เหลือจากการชำระภาษีอากรคืนแต่อย่างใดโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ สลร. 39/2517 ก็ได้กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่พันเอกณรงค์ กิตติขจร หรือภริยา หรือผู้ได้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าวอ้างว่า ทรัพย์สินใดที่ตกเป็นของรัฐเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยสุจริตและโดยชอบ ให้ยื่นคำร้องพร้อมด้วยหลักฐานและรายละเอียดของการได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้นต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ออกคำสั่งนี้และถ้าพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจของคณะกรรมการได้ว่า เป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยสุจริตและโดยชอบ คณะกรรมการโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีก็สั่งให้กระทรวงการคลังคืนทรัพย์สินนั้นได้หลังจากที่กระทรวงการคลังได้หักภาษีเงินได้และภาษีอากรอื่นอันเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะคืนหรือภาษีอากรที่ค้างชำระแล้ว แม้คำสั่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว จะกำหนดให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการที่จะคืนทรัพย์สินหรือไม่ให้เป็นที่สุด แต่ข้อเท็จจริงในสำนวนก็ยังไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงว่าอย่างไร อย่างไรก็ตามในกรณีที่ทรัพย์สินของโจทก์ที่ถูกยึดหรืออายัดหรือที่กระทรวงการคลังรับชำระหนี้ไว้ ไม่พอที่จะชำระหนี้ภาษีอากร โจทก์ก็อาจต้องรับผิดชำระหนี้เพิ่มเติมจนครบโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง”

พิพากษายืน

Share