แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ลูกจ้างเป็นกรรมการสหภาพแรงงานเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อนายจ้างในระหว่างข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างใช้บังคับพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 123 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเช่นนี้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น แม้แต่จะยุบงานเพื่อตัดรายจ่ายก็ต้องมีความจำเป็นเพียงพอ กรณีมีพฤติการณ์น่าสงสัยว่าลูกจ้างมีอิทธิพลเหนือคนงานนายจ้างจึงอาจคิดกำจัดเสีย แปลได้ในตัวว่านายจ้างเลิกจ้างโดยไม่สุจริต จึงไม่เป็นปัญหาต้องวินิจฉัยข้อที่นายจ้างประสบภาวะขาดทุน
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง ผู้พิพากษาสมทบนายหนึ่งทำความเห็นแย้ง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อแรกโจทก์อุทธรณ์ว่าการที่บริษัทโจกท์ประสบกับภาวะการขาดทุนจนกระทั่งต้องปิดโรงงานเพื่อลดค่าใช้จ่ายหลายครั้ง จนถึงขั้นที่จะต้องลดจำนวนคนงานลง เพื่อประคับประคองกิจการมิให้ถึงกับต้องเลิกกิจการอันจะมีผลกระทบกระเทือนต่อลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งการพิจารณาคนงานนี้ก็ได้กระทำด้วยความเป็นธรรม ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งบุคคลใดโดยเฉพาะ ได้วางหลักเกณฑ์การประเมินผลงานและความประพฤติของลูกจ้างทุกคนในแต่ละปีที่ผ่านมา ปรากฏว่านายเชาว์ คล้ายเจริญ มีคะแนนความประพฤติและถูกประเมินผลการทำงานต่ำที่สุด โจทก์จึงเลิกจ้างโดยได้จ่ายค่าชดเชยให้ตามกฎหมาย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1612-1636/2523 ระหว่าง นายสุพล อังสาธร โจทก์ บริษัทแพนอเมริกันเวอร์ลด์ แอร์เวยส์ อิงค์ จำเลย ศาลฎีกาเห็นว่านายเชาว์ คล้ายเจริญ เป็นลูกจ้างและเป็นกรรมการสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อโจทก์จนมีการบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2523 และให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2523 เป็นต้นไป ในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับนั้น มาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ห้ามมิให้นายจ้างเลิกลูกจ้างเช่นนายเชาว์ คล้ายเจริญ เว้นแต่นายเชาว์ คล้ายเจริญ กระทำการตามข้อยกเว้นที่ระบุไว้ แม้แต่จะยุบงานบางแผนกลงเพื่อเป็นการตัดรายจ่าย ถ้าเป็นกรณีที่ไม่มีความจำเป็นเพียงพอ ก็ยังเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 123 ได้ ทั้งนี้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 43/2524 ระหว่างบริษัทดีทแฮล์ม จำกัด โจทก์ นายจำรูญ เจริญกุล กับพวก จำเลย สำหรับคดีนี้แม้ศาลแรงงานกลางจะมิได้วินิจฉัยว่าเป็นความจริงหรือไม่ ที่โจทก์อ้างว่าบริษัทโจทก์ประสบกับภาวะการขาดทุน จนจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ และลดคนงานลงให้เหลืออยู่เพียงแต่พอให้ประคับประคองกิจการต่อไป ไม่ถึงกับต้องเลิกกิจการไป จึงได้เลิกจ้างนายเชาว์ คล้ายเจริญ โดยพิจารณาตามผลงานและความประพฤติ แต่การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในทำนองว่านายเชาว์ คล้ายเจริญมีประวัติการทำงานดีมาโดยตลอด ความบกพร่องดังที่กล่าวในฟ้องก็ยังไม่ถึงขนาดเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 123 อันจะเป็นเหตุให้เลิกจ้างได้ ทั้งน่าสงสัยว่าโจทก์เลิกจ้างนายเชาว์ คล้ายเจริญ เพราะนายเชาว์ คล้ายเจริญ มีอิทธิพลเหนือพนักงานทั้งหลาย จึงอาจจะคิดกำจัดเสีย ดังนี้ ย่อมแปลได้ในตัวว่าการที่จำเลยเลิกจ้างนายเชาว์ คล้ายเจริญ นั้นเป็นไปโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเป็นเช่นนี้ข้อที่ว่าบริษัทโจทก์ประสบกับภาวะการขาดทุนจนจำเป็นต้องลดจำนวนคนงานลงเสียบ้างหรือไม่นั้น จึงไม่เป็นปัญหาอันจำเป็นต้องวินิจฉัยอีก”
พิพากษายืน