คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 674/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 2 จดทะเบียนเช่าอาคารพิพาทจากโจทก์ที่ 1 แต่เข้าครอบครองไม่ได้เพราะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ขัดขวาง โจทก์ที่ 2 ชอบที่จะเรียกผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 477 และ 549 เพื่อศาลจะได้วินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีทั้งหลายรวมไปเป็นคดีเดียวกัน แต่เมื่อโจทก์ที่ 2 ได้ฟ้องคดีร่วมกับโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าแล้ว โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึง 7 และบริวารออกจากอาคารพิพาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “จำเลยฎีกาต่อไปอีกว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า หลังจากที่โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าตามเอกสารหมาย จ.17 แล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และนายนาแรนซิงห์ จวาลา ไม่เคยเข้าไปอยู่ในอาคารห้องพิพาทเลย แต่กลับนำอาคารห้องพิพาททั้ง 3 ห้องให้จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 7 เช่าช่วง โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 เช่าช่วงอาคารห้องเลขที่ 95/1 ให้จำเลยที่ 4 ที่ 5 เช่าช่วงอาคารห้องเลขที่ 95/2 และให้จำเลยที่ 6 ที่ 7 เช่าช่วงอาคารเลขที่ 95/4 จริงอยู่แม้ในสัญญาเอกสารหมาย จ.17 จะปรากฏว่าให้จำเลยที่ 1 เช่าช่วงอาคารดังกล่าวได้ก็ตาม แต่ก็ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขซึ่งโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาตกลงกันไว้ กล่าวคือ จำเลยที่ 1 และนายนาแรนซิงห์ จวาลา จะใช้ทรัพย์ที่เช่าเพื่อดำเนินกิจการค้าของตนเอง จะไม่นำทรัพย์ที่เช่าไปหาประโยชน์โดยการให้เช่าช่วง เว้นแต่กิจการของตนจะเกิดผลเสียหายไม่อาจดำเนินกิจการต่อไปได้ จึงจะมีสิทธิให้เช่าช่วงได้ แต่ทั้งนี้ต้องภายหลังจากที่ได้ใช้ทรัพย์ที่เช่าแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ จึงเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 และนายนาแรนซิงห์ จวาลา ไม่มีสิทธิที่จะนำห้องอาคารพิพาทออกให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เช่าช่วง การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการประพฤติผิดสัญญาเช่าต่อโจทก์ที่ 1 ซึ่งแม้สัญญาเช่าดังกล่าวจะมีกำหนดเวลา 20 ปี โดยมิได้จดทะเบียนการเช่าและมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาที่อาจบังคับได้โดยไม่ต้องจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ฎีกาขึ้นมาก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยที่ 1 และนายนาแรนซิงห์ จวาลา เป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียแล้ว โจทก์ที่ 1 ก็ย่อมมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาเช่าดังกล่าวได้ก่อนครบกำหนดเวลาการเช่าตามที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งก็ปรากฏว่าโจทก์ได้มีเอกสารหมาย จ.18 บอกเลิกสัญญาเช่าโดยชอบแล้ว สัญญาเช่าที่คู่กรณีทำกันไว้จึงเป็นอันระงับ จำเลยที่ 1 หามีสิทธินำอาคารห้องพิพาทให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เช่าช่วงโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ที่ 1 การเข้าอยู่ในอาคารดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 จึงเป็นการเข้าอยู่ในฐานะบริวารของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีสิทธิ ทั้งโจทก์ที่ 1 ได้มีเอกสารหมาย จ.22 จ.24 และ จ. 26 บอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ออกไปจากอาคารห้องพิพาทของโจทก์ที่ 1 โดยชอบแล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้รับหนังสือบอกกล่าวแต่ไม่ยอมออกไป จึงเป็นการอยู่โดยละเมิดสิทธิของโจทก์ที่ 1

จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้สืบพยานจำเลยที่ 4 ที่ 5 ตามบัญชีระบุพยาน ลงวันที่ 1กันยายน 2521 อันดับที่ 1 ถึงที่ 5 จำเลยได้แถลงคัดค้านไว้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2522 และเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2522 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่ 2 ที่ 3 นอกจากนี้ศาลชั้นต้นยังมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยที่ 6 ที่ 7 ดั่งปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2522 จึงทำให้ได้ข้อเท็จจริงโดยไม่สมบูรณ์ จึงขอให้ศาลฎีกาสั่งรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลย และให้ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยใหม่นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลชั้นต้นได้นัดสืบพยานจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รวม10 ครั้ง ในการสืบพยานจำเลยแต่ละครั้งนั้นจำเลยนำพยานสืบเพียงครั้งละ 1 ปากบ้าง 2 ปากบ้างบางนัดก็ไม่สนใจขอหมายเรียกพยานหรือนำพยานมาเบิกความทั้ง ๆ ที่ศาลชั้นต้นได้สั่งกำชับแล้ว และปรากฏว่าทนายจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แถลงขอเลื่อนคดีบ่อยครั้งซึ่งล้วนแต่เป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายจำเลยมีพฤติการณ์จะประวิงคดีให้ชักช้า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2522 และวันที่ 2 กรกฎาคม 2522 โดยเห็นว่าการจะนำสืบพยานจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต่อไป ไม่ทำให้น้ำหนักคดี ของจำเลยในประเด็นที่จะนำสืบดีขึ้นกว่าเดิมจากที่นำสืบไว้แล้วนั้น จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 ส่วนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยที่ 6 และที่ 7 ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2522 โดยเห็นว่าเป็นการยื่นฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรค 3 นั้น เห็นว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาซึ่งจำเลยที่ 6 และที่ 7 มิได้โต้แย้งไว้ศาลอุทธรณ์จึงไม่อนุญาตและไม่รับไว้นั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ฟังไม่ขึ้น

ที่โจทก์ที่ 2 ฎีกาขึ้นมาสารสำคัญว่าโจทก์ที่ 2 มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ให้โจทก์ที่ 2 เช่าอาคารพิพาทโดยจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มีกำหนดสัญญาเช่า 15 ปีนับแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2513 ตามเอกสารหมาย ล.4 แต่เข้าครอบครองห้องที่พิพาทไม่ได้ โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ขัดขวาง โจทก์ที่ 2 หามีสิทธิฟ้องขับไล่โดยลำพังตนเองไม่ แต่ก็ชอบที่จะเรียกผู้ให้เช่าเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมด้วยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 477 และ 549 เพื่อศาลจะได้วินิจฉัยข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีทั้งหลายรวมไปเป็นคดีเดียวกัน เมื่อโจทก์ที่ 2 ได้ฟ้องคดีนี้ร่วมกับโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าแล้ว โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ที่ 2 ฟังขึ้น

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 2 ในชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความให้สองศาลเป็นเงิน 3,000 บาท กับใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ที่ 1 1,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”

Share