คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 511/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

แม้การบรรยายฟ้องแต่ละตอนจะได้แยกข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบแห่งความผิดของแต่ละฐานความผิดก็ตาม แต่โจทก์ก็ไม่ได้บรรยายให้ชัดลงไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานใดการสรุปคำบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จหรือมิฉะนั้นจำเลยกระทำความผิดฐานเบิกความเท็จในคำฟ้องเดียวกัน โดยมิได้ยืนยันให้แน่ชัดลงไปว่า ข้อเท็จจริงอย่างไหนเป็นเท็จและอย่างไหนเป็นจริง ซึ่งหากจะมีก็มีได้เพียงอย่างเดียว หาใช่ว่าจะเป็นไปได้ทั้งสองอย่างดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ฟ้องโจทก์ขัดแย้งกันในข้อเท็จจริงอันเป็นสารสำคัญการกระทำความผิด ยากที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ข้อ 1. กรณีเดิมมีว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2521 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ได้มีคนร้าย 6 คน มีอาวุธปืนติดตัวทำการปล้นรถจักรยานยนต์ 1 คัน ราคา 9,800 บาท ของสิบตำรวจเอกพลอย คำวาสขณะอยู่ในความครอบครองดูแลรักษาของจำเลยทั้งสองคดีนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายไปโดยทุจริต

ข้อ 2. เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2521 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 และเมื่อวันที่21 มีนาคม 2521 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ได้แจ้งแก่ร้อยตำรวจตรีสาย วงษ์ชูแก้วเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านลาด ผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ความว่าจำเลยทั้งสองจำหน้าคนร้ายในคดีปล้นทรัพย์ดังกล่าวได้ และถ้าเห็นอีกคงสามารถชี้ตัวได้ถูก

ข้อ 3. วันที่ 29 มีนาคม 2521 เจ้าพนักงานตำรวจจับนายประมูลหรือเต้ารอดสงค์ นายประเสริฐ อำพร ต่อมาวันที่ 28 พฤษภาคม 2521 จับนายเสน่ห์หรือแบ้ ชูเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคนร้ายที่กระทำผิดตามฟ้องข้อ 1. ได้ นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านลาด ทำการสอบสวนความผิดและเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2521 เวลากลางวัน ร้อยตำรวจตรีสาย วงษ์ชูแก้ว พนักงานสอบสวนได้จัดให้จำเลยทั้งสองทำการชี้ตัวนายประมูลหรือเต้า รอดสงค์นายประเสริฐ อำพร ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านลาด จำเลยที่ 1 ได้บังอาจชี้ตัวนายประมูลหรือเต้า รอดสงค์ และนายประเสริฐ อำพร ถูกต้อง และแจ้งแก่ร้อยตำรวจตรีสาย วงษ์ชูแก้ว ว่าเป็นคนร้ายร่วมในคดีปล้นทรัพย์ผู้เสียหายเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2521 อันเป็นความเท็จ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ยอมทำการชี้ตัวแต่ได้บังอาจให้การยืนยันต่อร้อยตำรวจตรีสาย วงษ์ชูแก้ว พนักงานสอบสวนว่านายประมูลหรือเต้า รอดสงค์ นายประเสริฐ อำพร คือคนร้ายที่ร่วมปล้นทรัพย์ดังกล่าวในฟ้องข้อ 1 อันเป็นความเท็จ และต่อมาเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2521 เวลากลางวัน ร้อยตำรวจตรีสาย วงษ์ชูแก้ว ได้จัดให้จำเลยทั้งสองทำการชี้ตัวนายเสน่ห์หรือแบ้ ชูเนื่อง ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านลาด จำเลยทั้งสองได้ชี้ตัวนายเสน่ห์หรือแบ้ ชูเนื่อง ได้ถูกต้องยืนยันว่าเป็นคนร้ายที่ร่วมปล้นทรัพย์เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2521 อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงนายประมูลหรือเต้า รอดสงค์ นายประเสริฐ อำพร และนายเสน่ห์หรือแบ้ ชูเนื่อง มิใช่เป็นคนร้ายร่วมทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายในวันที่ 17 มีนาคม 2521 ดังกล่าว

ข้อ 4. ต่อมาอัยการศาลทหารกรุงเทพ (อัยการจังหวัดเพชรบุรี) ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายประมูลหรือเต้า รอดสงค์ นายประเสริฐ อำพร นายเสน่ห์หรือแบ้ ชูเนื่องเป็นจำเลยต่อศาลทหารกรุงเทพ (ศาลจังหวัดเพชรบุรี) ฐานความผิดปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน และทำร้ายผู้อื่นตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 107/2521 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 156/2521 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2521 เวลากลางวันจำเลยที่ 1 ได้บังอาจเบิกความต่อศาลในฐานะประจักษ์พยานโจทก์ผู้เสียหายว่า นายประมูลหรือเต้า รอดสงค์ นายประเสริฐ อำพร และนายเสน่ห์หรือแบ้ ชูเนื่องจำเลยในคดีดังกล่าวไม่ใช่คนร้ายในคดีฐานปล้นทรัพย์เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2521 ส่วนจำเลยที่ 2 ได้บังอาจเบิกความในฐานะประจักษ์พยานโจทก์ผู้เสียหายว่าจำคนร้ายไม่ได้ จึงไม่ได้ทำการชี้ตัว อันเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงจำเลยทั้งสองจำนายประมูลหรือเต้า รอดสงค์ นายประเสริฐ อำพร และนายเสน่ห์หรือแบ้ ชูเนื่องร่วมกันทำการปล้นทรัพย์ผู้เสียหายในวันเกิดเหตุได้

ข้อ 5. ทั้งนี้การกระทำของจำเลยในฟ้องข้อ 2 และ 3 โจทก์ถือว่าจำเลยทั้งสองบังอาจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่ร้อยตำรวจตรีสาย วงษ์ชูแก้ว ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้นายประมูลหรือเต้า รอดสงค์ นายประเสริฐ อำพร และนายเสน่ห์หรือแบ้ ชูเนื่อง และร้อยตำรวจตรีสาย วงษ์ชูแก้ว ได้รับความเสียหาย เพราะเหตุที่แจ้งไม่เป็นความจริง หรือมิฉะนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองในฟ้องข้อ 4 เป็นการเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีอาญาต่อศาล และความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี จนเป็นเหตุให้คดีของโจทก์ต้องเสียไป เพราะศาลพิพากษายกฟ้อง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 60-61/2522

เหตุแจ้งความเท็จที่ตำบลบ้านลาด อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี ส่วนเหตุเบิกความเท็จเกิดที่ตำบลคลองกระแชง อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 177

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 แต่ที่โจทก์ขอให้ลงโทษตามมาตรา 137 นั้น เห็นว่าเป็นการอ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจที่จะวางบทและวางโทษที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสี่ พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172 จำคุกคนละ 3 เดือน นอกนั้นให้ยกเสีย

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงไม่รับ

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่ยืนยันข้อเท็จจริงการกระทำผิดของจำเลย และที่ศาลล่างทั้งสองอ้างบทมาตราซึ่งมีโทษหนักมาเป็นบทลงโทษจำเลยโดยโจทก์มิได้ขอ เป็นการวินิจฉัยไม่ชอบ พิเคราะห์แล้ว ตามฎีกาจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกที่ว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์หรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาคำบรรยายฟ้องแล้ว โจทก์บรรยายฟ้องแยกออกได้เป็นสองตอน ตอนแรกบรรยายข้อเท็จจริงการกระทำของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยเคยให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนด้วยข้อความอย่างหนึ่งส่วนในตอนที่สองบรรยายว่า จำเลยได้เบิกความต่อศาลด้วยข้อความอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ตรงกัน แต่เมื่อสรุปความตามคำบรรยายฟ้องในตอนท้ายของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จ เพราะความจริงเป็นดังที่ได้เบิกความต่อศาลหรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานเบิกความเท็จ เพราะความจริงเป็นดังที่เคยให้การต่อพนักงานสอบสวน ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลฎีกาเห็นว่า แม้การบรรยายฟ้องแต่ละตอนจะได้แยกข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบแห่งความผิดของแต่ละฐานความผิดก็ตาม แต่โจทก์ก็ไม่ได้บรรยายให้ชัดลงไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานใด การสรุปคำบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จ หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานเบิกความเท็จในคำฟ้องเดียวกัน โดยมิได้ยืนยันให้แน่ชัดลงไปว่าข้อเท็จจริงอย่างไหนเป็นเท็จ และอย่างไหนเป็นจริง ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าหากจะมีก็จะมีได้เพียงอย่างเดียว หาใช่ว่าจะเป็นไปได้ทั้งสองอย่างดังที่โจทก์กล่าวอ้างไม่ ฟ้องโจทก์ขัดแย้งกันในข้อเท็จจริงอันเป็นสารสำคัญการกระทำความผิดยากที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นการเอาเปรียบจำเลยในการต่อสู้คดีได้ถูกต้อง จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) ไม่ชอบจะรับไว้พิจารณา ที่ศาลล่างทั้งสองรับคำฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาและพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น ่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share