แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้คัดค้านมีหน้าที่ตัดผ้าใบ แล้วไม่ตัดผ้าใบตามคำสั่งกลับทำรายงานเท็จว่าตัดเสร็จแล้ว เพื่อแสวงหาประโยชน์จากเงินค่าแรงที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(1)(2) จึงเป็นความผิดทางวินัยดังระบุไว้ตามข้อบังคับของผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิเลิกจ้างได้
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษพักงานผู้คัดค้านมีกำหนด7 วัน ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า นายอัมพร วังเย็น ผู้คัดค้าน เป็นลูกจ้างของผู้ร้องและเป็นกรรมการลูกจ้างเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2509 ได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมเครื่องตัดผ้าใบ ได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 14.64 บาท หรือเดือนละประมาณ3,000 บาท และได้ค่าครองชีพอีกประมาณเดือน 1,500 บาท เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2523 ผู้คัดค้านเข้ารับงานในกะระหว่าง 06.30 นาฬิกา ถึง 14.30 นาฬิกา หัวหน้างานของผู้คัดค้านสั่งให้ผู้คัดค้านตัดผ้าใบชั้นที่ 8 ของยางขนาด 1100 -20 ทีอาร์ 14 จำนวน 3 ม้วน ผู้คัดค้านไม่ตัดผ้าใบตามคำสั่งแต่ได้กรอกข้อความลงในรายงานผลประจำวัน เอกสารหมาย จ.1 ว่าตัดผ้าใบชั้นที่ 8 ของยางขนาด1100 – 20 ทีอาร์ 14 จำนวน 3 ม้วน จำนวนที่ตัด 75 ชิ้น แล้วเสร็จเมื่อเวลา11.02 นาฬิกา และได้เขียนลงในช่องหมายเหตุด้วยว่า “เปลี่ยนมีด 2 ครั้ง 4 นาที”ซึ่งหมายความว่าในระหว่างตัดผ้าใบดังกล่าวได้เปลี่ยนใบมีดที่ใช้ในการตัด 2 ครั้ง ใช้เวลา 4 นาที ซึ่งเป็นความเท็จ ต่อมาในวันนั้นเวลาประมาณ 14.00 นาฬิกา นายชูศักดิ์ มูลสิน หัวหน้าแผนกควบคุมพัสดุตามตารางการผลิต ไปตรวจดูที่กระดานที่แผนกเก็บพัสดุ และเดินดูที่แผนกสร้างยางและแผนกตัดผ้าใบพบว่าไม่มีการตัดผ้าใบชั้นที่ 8 ในกะที่ผู้คัดค้านทำงาน จึงได้แจ้งให้นายประสิทธิ์ชื่นสกุล หัวหน้างานของผู้คัดค้านทราบ นายประสิทธิ์ ชื่นสกุล ได้ตรวจดูรายงานผลผลิตประจำวันของผู้คัดค้าน (เอกสารหมาย จ.1) ปรากฏว่าผู้คัดค้านไม่ตัดผ้าใบตามรายการที่กรอกไว้ในเอกสารหมาย จ.1 จริง จึงได้รายงานให้นายชวลิต ปานมาก ผู้บังคับบัญชาทราบ การกระทำของผู้คัดค้านครั้งนี้ผู้ร้องอ้างว่าได้รับความเสียหายดังกล่าวในคำร้องได้ความดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่าผู้คัดค้านเป็นลูกจ้างของผู้ร้องทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมเครื่องตัดผ้าใบ ได้ค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง มีรายงานผลผลิตประจำวันซึ่งแต่ละวันผู้คัดค้านจะต้องกรอกใบลงในแบบรายงานดังกล่าว การนับเวลาทำงานมีช่องรวมชั่วโมงทำงาน และช่องลายเซ็นหัวหน้ากะเซ็นรับรองด้วยดังนี้แสดงถึงวิธีการควบคุมการทำงานซึ่งนอกจากแสดงผลผลิตประจำวันแล้วยังรวมชั่วโมงการทำงานของผู้คัดค้าน เพื่อเป็นหลักฐานในการคิดเงินค่าแรงด้วยปรากฏว่าช่องลายเซ็นหัวหน้ากะไม่มีลายเซ็นหัวหน้ากะจึงยังส่งไปคิดเงินไม่ได้พฤติการณ์เช่นว่านี้ เห็นว่า การกระทำของผู้คัดค้านยังไม่ได้ว่าการกระทำความผิดอาญาฐานฉ้อโกงหรือพยายามฉ้อโกงทรัพย์สินของบริษัท แต่การที่ผู้คัดค้านมีหน้าที่ในการตัดผ้าใบ แล้วไม่ตัดผ้าใบตามคำสั่ง กลับทำรายงานเท็จว่าตัดเสร็จแล้ว เพื่อแสวงหาประโยชน์จากเงินค่าแรงที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ตามประกาศ กระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1)(2) ดังอุทธรณ์ของผู้ร้องกรณีจึงต้องด้วยความผิดทางวินัยดังระบุไว้ตามข้อบังคับข้อ 11.10 ผู้ร้องมีสิทธิเลิกจ้างได้ตามข้อนี้ อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง เป็นว่าอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างนายอัมพร วังเย็น ผู้คัดค้านได้ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2523 เป็นต้นไป”