คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 265/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ลูกจ้างไม่ทักท้วงการที่นายจ้างหยุดการผลิตคราวก่อน ๆไม่หมายความลูกจ้างยินยอมให้นายจ้างหยุดการผลิตได้ในคราวต่อไป
นายจ้างหยุดการผลิตเพราะเศรษฐกิจซบเซา ยางที่ผลิตขายไม่ออก แม้จะหยุดเป็นบางวัน ก็ทำให้ลูกจ้างขาดประโยชน์คือค่าจ้างโดยไม่มีสิทธิข้อตกลงสภาพการจ้างชอบที่จะแก้ไขเสียก่อน

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ 350 บาท และให้ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างเห็นแย้งว่าจำเลยกระทำโดยมองเห็นปัญหาแรงงานสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง โจทก์ไม่ควรมีอำนาจฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “อุทธรณ์ข้อแรกเป็นเรื่องคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้โดยจำเลยอ้างว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2523 จำเลยก็เคยให้หยุดการผลิตมาแล้วในวันที่ 15, 18 และ 19 ต่อมาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์2523 สหภาพแรงงานไฟร์สโตนซึ่งโจทก์เป็นสมาชิกและเป็นกรรมการอยู่ด้วยได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย ถ้าสหภาพแรงงานฯ ไม่เห็นด้วยกับการหยุดการผลิตก็ชอบที่จะทักท้วงหรือยื่นเป็นข้อเรียกร้องรวมเข้ามาด้วย เมื่อมิได้กระทำ จึงถือได้ว่าสหภาพแรงงาน ฯ รวมทั้งตัวโจทก์เองได้ตระหนักถึงความจำเป็นและยอมรับการที่จำเลยจะต้องหยุดการผลิตเป็นครั้งคราวแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อดูข้อตกลงระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานยางไฟร์สโตน (ประเทศไทย) ซึ่งทำกันไว้ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2523 ดังเอกสารหมาย จ.10 หรือ ล. 2 ซึ่งเป็นฉบับเดียวกันแล้ว ปรากฏว่ามีข้อตกลงกันถึง 9 ข้อ เป็นเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ ค่าครองชีพ และเงินช่วยเหลือเป็นต้น เมื่อลูกจ้างมีปัญหาที่ต้องการเรียกร้องให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างปรับปรุงแก้ไขอยู่แล้วหลายข้อ และยังไม่ทราบกันว่าในเวลาต่อมาจำเลยยังจะหยุดการผลิตอีกหรือไม่ ดังนี้จะตำหนิฝ่ายลูกจ้างในการที่มิได้ทักท้วงหรือยื่นข้อเรียกร้องเรื่องจำเลยหยุดการผลิตหาได้ไม่ และถึงหากว่าฝ่ายลูกจ้างได้ตระหนักว่าจำเลยต้องหยุดการผลิตไปบางวัน เพราะไม่สามารถขายยางที่ผลิตได้อย่างปกติ ความเห็นใจของฝ่ายลูกจ้างนั้นก็ไม่อาจถือได้ว่าฝ่ายลูกจ้างได้ให้ความยินยอมแก่จำเลยในอันที่จะหยุดการผลิตได้อีก โดยไม่ต้องทำความตกลงกับฝ่ายลูกจ้างเสียก่อน จำเลยจะถือเอาการที่โจทก์มิได้ทักท้วงหรือเรียกร้องให้ทำความตกลงกันเรื่องหยุดการผลิตในคราวที่สหภาพแรงงาน ฯ ยื่นข้อเรียกร้องอื่นต่อจำเลยมาอ้างเป็นเหตุว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้หาได้ไม่ ในอุทธรณ์ข้อนี้จำเลยยังอ้างเหตุอีกประการหนึ่งว่า การที่ลูกจ้างตกลงยินยอมจะไม่ยื่นข้อเรียกร้องหรือคำร้องขอใด ๆ ในระหว่างสัญญาข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.2 หรือ จ.10 มีผลใช้บังคับนั้น ย่อมมีความหมายรวมไปถึงการที่จะไม่ยื่นฟ้องคดีต่อศาลด้วย ได้พิเคราะห์แล้ว ตอนท้ายของข้อตกลงหมาย ล.2 หรือ จ.10 นั้น มีว่า “ข้อตกลงนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2523 และมีผลใช้บังคับเป็นเวลา 2 ปี ในช่วงระยะเวลาที่ข้อตกลงฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ลูกจ้างตกลงยินยอมจะไม่ยื่นข้อเรียกร้องหรือคำร้องขออื่นใดทั้งสิ้น ฯลฯ” ข้อความดังกล่าวนี้ย่อมมีความหมายแต่เพียงว่า ฝ่ายลูกจ้างรับรองว่า จะไม่เรียกร้องให้มีการกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอีกภายในระยะเวลา2 ปีเท่านั้น มิได้มีความหมายรวมไปถึงการฟ้องร้องต่อศาลว่า นายจ้างปฏิบัติผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเช่นที่โจทก์ฟ้องจำเลยนี้ด้วยการเรียกร้องให้กำหนดหรือแก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อตกลงกันใหม่เป็นคนละเรื่องกันกับการฟ้องหาว่าทำผิดข้อตกลงที่มีอยู่แล้ว อุทธรณ์จำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ในข้อต่อไปจำเลยอุทธรณ์ว่า ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย หมาย จ.2 ข้อ 15 ได้มีการกำหนดไว้ว่า วันทำงานปกติคือวันจันทร์ถึงวันเสาร์ ย่อมมีความหมายว่า โดยปกติแล้วลูกจ้างมีหน้าที่ต้องมาทำงาน และนายจ้างก็มีหน้าที่จัดให้ลูกจ้างทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์แต่ถ้ามีภาวะไม่ปกติซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมรับผิดชอบของจำเลย เช่น ภาวะทางเศรษฐกิจซบเซา ยางที่จำเลยผลิตได้ขายไม่ออก มีค้างอยู่ในสต๊อกมาก จำเลยก็มีสิทธิหยุดการผลิตเป็นบางวันแทนที่จะเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วนได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานตามเอกสารหมาย จ.2 นี้ ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยไว้ว่า ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องวันเวลาทำงานนี้ คือ ตอนที่ 4 ซึ่งบอกชื่อเรื่องไว้ว่า “วันทำงาน เวลาทำงานปกติการทำงานล่วงเวลา การเข้าทำงานและการหยุดงาน” ต่อแต่นั้นได้แบ่งหัวข้อไว้ดังต่อไปนี้ คือข้อ 15 (ข้อ 1 ถึงข้อ 14 อยู่ในตอนที่ 1 ถึงตอนที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องอื่น) วันและเวลาทำงานปกติ แบ่งเป็นข้อ 15.1 งานกลางวันข้อ 15.2 งานกะ (การผลัดกันเข้าเวรทำงาน) ข้อ 15.3 งานพิเศษ ข้อ 16 การเข้าทำงาน แบ่งเป็นข้อ 16.1 การลงเวลาทำงาน ข้อ 16.2 การมาสาย ข้อ 16.3 การจัดกะ ข้อ 17 วันหยุดงาน แบ่งเป็นข้อ 17.1 วันหยุดประจำสัปดาห์ ข้อ 17.2 วันหยุดตามประเพณี ข้อ 17.3 วันหยุดพักผ่อนประจำปี ข้อ 18 การทำงานในวันหยุดและการทำงานล่วงเวลาแบ่งเป็นข้อ 18.1 ผู้มีสิทธิได้ค่าทำงานในวันหยุด ข้อ 18.2 ค่าทำงานในวันหยุด ข้อ 19 การทำงานล่วงเวลา แบ่งเป็นข้อ 19.1 ผู้มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ข้อ 19.2 ค่าล่วงเวลาในวันทำงานปกติ ข้อ 19.3 ค่าล่วงเวลาในวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดตามประเพณี ข้อ 19.4 การคำนวณค่าจ้างต่อชั่วโมง เมื่อพิจารณาถึงชื่อเรื่องตามหัวข้อต่าง ๆ ข้างต้นนี้โดยมิพักต้องบรรยายรายละเอียดให้ยืดยาวออกไปอีก ก็เห็นได้แล้วว่า คำว่า “ปกติ” นั้น ข้อบังคับนี้ใช้แก่วันและเวลาทำงานเท่านั้น หาได้ครอบคลุมไปถึงภาวะหรือเหตุการณ์ด้วย ดังที่จำเลยใช้ในอุทธรณ์ไม่ และสิ่งที่นอกเหนือปกติก็ได้แก่การทำงานในวันหยุดกับการทำงานล่วงเวลาเท่านั้น ไม่มีทางที่จะแปลความหมายให้เป็นดังที่จำเลยอุทธรณ์มานั้นได้

จำเลยอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายมีใจความว่า การที่จำเลยหยุดการผลิตในบางวันด้วยเหตุเศรษฐกิจซบเซานั้น มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง เพราะไม่ได้เปลี่ยนกำหนดวันทำงานเป็นการแน่นอนและถาวรศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อกำหนดวันทำงานเป็นสภาพการจ้าง และจำเลยก็ยอมรับในอุทธรณ์ว่า จำเลยผู้เป็นนายจ้างมีหน้าที่ต้องจัดให้ลูกจ้างได้ทำงานตามวันที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมาย จ.2 ดังนั้น การที่จำเลยสั่งให้หยุดการผลิตโดยมิได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แม้จะเป็นการหยุดการผลิตเพียงบางวันและไม่แน่นอนแต่ทำให้ลูกจ้างขาดผลประโยชน์ คือค่าจ้างไป ก็ต้องถือว่าจำเลยกระทำไปโดยไม่มีสิทธิที่จะทำได้ตามกฎหมาย จำเลยอุทธรณ์ต่อไปอีกว่า การที่จำเลยหยุดการผลิตชั่วครั้งชั่วคราวนี้ ได้กระทำไปตามความตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพราะได้ปรึกษาหารือกับประธานสหภาพแรงงาน ฯ และคณะกรรมการลูกจ้างแล้ว ปรากฏตามรายงานการประชุมคณะกรรมการปรึกษาและสมานงาน หมาย ล.4 ล.7 และ ล.8 คณะกรรมการลูกจ้างมีสิทธิและหน้าที่ในการประชุมร่วมกับนายจ้างในอันที่จะปรึกษาหารือเพื่อกำหนดข้อบังคับในการทำงานอันจะเป็นประโยชน์ต่อนายจ้างและลูกจ้าง ดังที่ระบุไว้ในมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ย่อมมีอำนาจหน้าที่ทำความตกลงแทนลูกจ้างในเรื่องวันหยุดการผลิตได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการยื่นข้อเรียกร้องและเจรจากันทุกครั้งที่จะต้องมีการหยุดการผลิตศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยในประเภทที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง มิใช่ว่าได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน ในวันใดที่จำเลยให้หยุดการผลิต ถ้าลูกจ้างคนใดยังมีวันหยุดพักร้อนเหลืออยู่ จำเลยก็ยอมให้ลูกจ้างคนนั้นนำสิทธิหยุดพักร้อนมาใช้ในวันที่จำเลยให้หยุดการผลิตนั้น และจำเลยยอมจ่ายค่าจ้างให้ แต่ถ้าไม่มีวันหยุดพักร้อนเหลืออยู่ก็ไม่จ่ายค่าจ้างให้ ดังนั้นการที่จำเลยสั่งงดการผลิตแม้จะเป็นบางครั้งบางคราวก็ย่อมมีผลกระทบกระเทือนถึงผลประโยชน์ของลูกจ้างและเป็นการขัดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหมาย จ.2 ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ถึงแม้ว่าการที่จำเลยสั่งงดการผลิตในบางวันนี้เนื่องแต่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา สินค้าที่ผลิตได้ขายไม่ออก และจำเลยพยายามหลีกเลี่ยงการที่จะเลิกจ้างคนงานเสียบ้าง แต่เมื่อข้อบังคับหมาย จ.2 มิได้ให้อำนาจแก่จำเลยที่จะสั่งหยุดการผลิตเป็นครั้งคราวได้ เมื่อมีเหตุจำเป็นเช่นนี้เกิดขึ้น จำเลยก็ชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายในการแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างคือข้อบังคับหมาย จ.2 นั้น ให้จำเลยมีอำนาจสั่งหยุดการผลิตเสียก่อน การสั่งหยุดการผลิตโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจึงจะเป็นการชอบ ที่จำเลยอ้างว่าการหยุดการผลิตชั่วครั้งชั่วคราวนั้นจำเลยได้กระทำไปตามความตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง เพราะได้ปรึกษาหารือกับประธานสหภาพแรงงาน ฯ และคณะกรรมการลูกจ้างแล้ว ปรากฏตามรายงานการประชุมคณะกรรมการปรึกษาและสมานงาน หมาย ล.4 ล.7 และ ล.8 นั้น ศาลฎีกาได้ตรวจดูเอกสาร 3 ฉบับนี้ซึ่งศาลแรงงานกลางได้รับฟังมาแล้ว ปรากฏว่าเป็นรายงานของการประชุมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2523 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2523 และวันที่ 1 เมษายน 2523 ตามลำดับ แต่การหยุดการผลิตที่กล่าวถึงในการประชุม 3 ครั้งนั้น เป็นการหยุดการผลิตซึ่งจำเลยกระทำไปในเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน 2523 ก่อนการหยุดการผลิตในเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2523 ที่โจทก์ฟ้อง และตามรายงานการประชุมเหล่านั้น ก็ปรากฏแต่ว่า ฝ่ายจำเลยชี้แจงให้ฝ่ายลูกจ้างทราบว่ามีเหตุจำเป็นอย่างใดจำเลยจึงจะต้องให้หยุดการผลิตในบางวัน และจำเลยวางแนวปฏิบัติสำหรับวันหยุดการผลิตนั้นอย่างไรบ้าง เช่นในวันหยุดการผลิตนั้นเป็นวันหยุดพักร้อนสำหรับลูกจ้างที่ยังมีวันพักร้อนอยู่เป็นต้น ฝ่ายลูกจ้างก็ได้แต่ซักถามรายละเอียดและรับทราบไว้เท่านั้น แม้ตามรายงานการประชุม หมาย ล.8 จะมีข้อความตอนหนึ่งว่า “อนึ่ง มาตรการดังกล่าวข้างต้นนี้ บริษัทฯ จะถือปฏิบัติในกรณีที่มีการหยุดอีกในเดือนต่อ ๆ ไป และปฏิบัติจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง สำหรับเดือนไหนที่มีการหยุดผลิตบริษัท ฯ จะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในตอนต้นเดือนของทุก ๆ เดือน” แต่ก็ไม่ปรากฏข้อความใดที่แสดงว่าผู้แทนของฝ่ายลูกจ้างตกลงยินยอมให้จำเลยสั่งหยุดการผลิตในวันใดก็ได้ ในเดือนต่อมาโดยไม่ต้องขอให้ฝ่ายลูกจ้างเห็นชอบด้วยเสียก่อนเป็นคราว ๆ ไป จึงไม่อาจถือเอารายงานการประชุมหมาย ล.4 ล.7 และ ล.8 เป็นหลักฐานว่าที่จำเลยหยุดการผลิตบางวันในเดือนมิถุนายนและสิงหาคม 2523 นั้น เป็นไปตามที่ฝ่ายนายจ้างกับลูกจ้างตกลงกัน”

พิพากษายืน

Share