คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 31/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นพนักงานรักษารถ ยอมให้ภริยาน้อยของโจทก์โดยสารรถไฟ และนำสัมภาระมาโดยไม่เสียค่าโดยสารและค่าระวางเป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยลงโทษไล่ออกได้ตามข้อบังคับของคณะกรรมการรถไฟ และไม่จำเป็นต้องลงโทษผู้กระทำผิดเท่ากันทุกคน

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เป็นพนักงานรักษารถมีหน้าที่ตรวจการโดยสารและสัมภาระว่าผู้โดยสารมีตั๋วโดยสารและเสียค่าระวางถูกต้องหรือไม่ แต่โจทก์สมยอมให้นางน้อยภริยาน้อยของโจทก์เดินทางมากับขบวนรถโดยสารไม่มีตั๋วโดยสาร และโจทก์นำสัมภาระจำนวน 16 ชิ้น น้ำหนัก 201 กิโลกรัมมาด้วยโดยไม่ได้เสียค่าระวาง และโดยโจทก์ไม่ได้รับการยกเว้นค่าระวาง เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่านางน้อยเป็นผู้ติดตามโดยใช้ใบเบิกทางของโจทก์ และโจทก์มีสิทธิที่จะนำสัมภาระมากับขบวนรถโดยไม่จำต้องชำระค่าระวางได้ถึง 200 กิโลกรัม โจทก์นำมากินเพียงเล็กน้อยไม่เป็นการทุจริตนั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 จึงไม่วินิจฉัยให้

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์มีความผิดตามประมวลการลงโทษผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 ข้อ 2.24 ข้อ 6.27 และข้อ 7.78 ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและมีโทษไม่ถึงกับถูกไล่ออกนั้นเห็นว่าประมวลการลงโทษดังกล่าวเป็นการรวบรวมความผิดที่ผู้ปฏิบัติงานรถไฟ กระทำขึ้นเป็นข้อ ๆ พร้อมกับระดับโทษที่เคยลงแก่ผู้กระทำผิดมาแล้วเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการกำหนดแน่นอนว่าจะลงโทษเป็นประการอื่นไม่ได้ ประมวลการลงโทษที่โจทก์อ้างไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจึงจะถือเอาประมวลการลงโทษผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 มาเป็นข้อกำหนดลงโทษโจทก์หาได้ไม่ ที่จำเลยทั้งสองสั่งลงโทษโจทก์ตามข้อบังคับคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ว่าด้วยระเบียบวินัยและการลงโทษพนักงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 3 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 39 และ 116 เป็นการชอบแล้ว

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองสั่งไล่โจทก์ออกจากงานแต่ลงโทษตัดเงินเดือนนายประไพซึ่งกระทำผิดคราวเดียวกันเป็นลงโทษโดยอคติไม่เป็นธรรมแก่โจทก์นั้น เห็นว่าถึงแม้มีผู้กระทำผิดหลายคนในคราวเดียวกันก็ไม่จำต้องลงโทษเท่ากันเสมอไป การจะลงโทษย่อมจะต้องคำนึงถึงการกระทำและความหนักเบาแห่งการกระทำของแต่ละคน คดีนี้โจทก์เป็นพนักงานรักษารถเวร 1 และเป็นผู้สมยอมให้นางน้อยเดินทางมากับขบวนรถโดยไม่มีตั๋วโดยสาร แสดงให้เห็นชัดว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ ส่วนนายประไพเป็นพนักงานรักษารถเวร 2 การที่ละเลยไม่ดำเนินการให้นางน้อยชำระค่าโดยสารอาจจะเป็นด้วยความเกรงใจต่อโจทก์ ดังนี้การที่จำเลยทั้งสองสั่งลงโทษโจทก์และนายประไพไม่เท่ากัน จึงไม่ใช่เป็นการกระทำโดยอคติและไม่เป็นธรรมแก่โจทก์”

พิพากษายืน

Share